Tech Startup

ส่อง 6 นวัตกรรมปรับเกษตรกรไทยให้ธุรกิจก้าวไกลในเวทีโลก




     ด้วยปัญหาทั้งด้านพื้นที่การเกษตรที่ลดลงเพราะการขยายตัวของสังคมเมือง สภาพดินฟ้าอากาศที่ยากควบคุม หรือภัยพิบัติ ที่มีผลต่อการทำเกษตรทำให้เกษตรหลายคนหันไปทำธุรกิจอื่นๆ


     อย่างไรก็ตามด้วย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกนำมาใช้อำนวยความสะดวกให้กับชีวิตเกษตรกรยุคใหม่  นี่คือ 6 เทรนด์นวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสมกับประเทศไทย  เพื่อเป็นไอเดียให้กับเกษตรกรได้นำไปพัฒนาการทำการเกษตรและสร้างโอกาสทางธุรกิจ
 




     1. Data


     การเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้ง สภาพดิน สภาพน้ำ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง พื้นที่เพาะปลูก การเจริญเติบโต ฯลฯ จะทำให้เข้าใจถึงปัญหา จากนั้นนำข้อมูลเหล่านี้มาต่อยอด นำมาวิเคราะห์ถึงปัญหาเช่น ความแตกต่างของวัชพืชในแปลงเกษตร เพื่อหาวิธีกำจัดได้ตรงจุด หรือความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค หรือการนำ AI ช่วยควบคุมดูแลแปลงพืช ช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องลงไปคลุกคลีด้วยตัวเอง 

 


 

     2. เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรน และระบบอัตโนมัติ


     ด้วยแรงงานทางด้านเกษตรกรลดน้อยลงเข้าไปทุกวัน การพึ่งนวัตกรรมและระบบอัตโนมัติต่างๆ จึงมีบทบาทที่สำคัญ เพื่อช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน แต่ยังคงสร้างผลผลิตเท่าเดิมหรือดีขึ้น มีต้นทุนถูกลง และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น ดังเช่น นำหุ่นยนต์ AI มาช่วยทำงานเมื่อดอกไม้ถึงเวลาที่ต้องผสมเกสร ในอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมแบบอัตโนมัติ ช่วยให้โอกาสสำเร็จเพิ่มขึ้นมากกว่าปล่อยไว้ตามธรรมชาติ หรือ การนำโดรนไปใช้ในการปลูกข้าวได้อย่างแม่นยำและสามารถเพิ่มผลลิตได้ถึงสองเท่า
 




     3. เทคโนโลยีชีวภาพ


     เป็นการประยุกต์ศาสตร์ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งชีววิทยา เคมี และองค์ความรู้ด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาจุลินทรีย์ที่การใช้งานทางการเกษตร การดัดแปลงยีน ปรับปรุงพืชหรือสัตว์ ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร
 
 
      เทคโนโลยีชีวภาพถูกเริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการเกษตร เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในดิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตและทนต่อสภาวะแล้ง ทนทานต่อวัชพืช ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้ทนทานต่อโรคระบาด
 





     4. การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่

 

     ปัญหาหนึ่งของการทำเกษตรคือ สภาพดินฟ้าอากาศซึ่งยากที่จะควบคุม จนเกิดเป็นปัญหาผลผลิตที่ไม่แน่นอน จึงเกิดเป็นเทรนด์การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ควบคุมปัจจัยการเติบโตของพืชและสัตว์ และช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องความเสียหายของผลิตผล
 
 
     ตัวอย่างฟาร์มรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม ได้แก่ การทำโรงงานปลูกพืชระบบปิด (Plant Factory) ที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ทั้งการให้น้ำ ให้แสง อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังสามารถปลูกพืชนอกฤดูกาลได้ เทรนด์การทำเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farm) ที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรในเมือง แก้ปัญหาขาดพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงเทรนด์การทำ “ฟาร์มเลี้ยงแมลง” แหล่งโปรตีนแห่งอนาคตที่ทั่วโลกกำลังจับตา
 




     5. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง


     เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเมืองร้อน ส่งผลให้สินค้าเกษตรง่ายต่อการเน่าเสีย จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุและเก็บรักษาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการยืดอายุแบบไม่ใช้สารเคมี รวมถึงระบบการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตที่สะดวกแม่นยำ และนวัตกรรมที่ใช้ในการขนส่งได้รวดเร็วหลังการเก็บเกี่ยว เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศด้วยโอโซน ซึ่งช่วยยืดอายุผลไม้กลุ่มเบอรี่ ทำให้เกษตรกรสามารถเปลี่ยนการขนส่งผ่านทางเรือแทนเครื่องบิน หรือการพัฒนาสารเคลือบผิวชนิดใหม่ เป็นต้น
 




     6. บริการทางธุรกิจเกษตร


     ด้วยโครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตรบ้านเราที่ส่วนมากเป็นการทำการเกษตรขนาดเล็กถึงปานกลาง ทำให้ตัวเกษตรกรไม่สามารถลงทุนซื้อตัวนวัตกรรมมาเป็นของตัวเองได้ จึงเกิดเป็นเทรนด์บริการทางธุรกิจเกษตร ที่ให้เกษตรกรสามารถเช่ายืมนวัตกรรมด้านการเกษตรได้ในที่จับต้องได้ เช่น ระบบจองโดรนพ่นปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ระบบจองเครื่องจักรด้านการเกษตร ฯลฯ รวมถึงบริการแพลตฟอร์มขายผลผลิตการเกษตรออนไลน์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แก้ปัญหาการกดราคาผลผลิต  และช่วยเชื่อมโยงเกษตรกร กับผู้บริโภค โรงงานอุตสาหกรรม หรือร้านอาหาร และให้พวกเขาสามารถค้าขายได้อย่างต่อเนื่อง


ที่มา: สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup