Tech Startup

ทำไงถึง Scale up ธุรกิจไปสู่ยูนิคอร์น ถอดบทเรียนจาก VNG สตาร์ทอัพเวียดนามมีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์

Text: Vim Viva





     ทำไมผู้ประกอบการรุ่นใหม่จึงพากันตั้งเป้าอยากเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นคำถามที่หาคำตอบได้ไม่ยากเพราะประโยชน์จากการเป็นยูนิคอร์นนั้นมากมาย ตั้งแต่การได้รับชื่อเสียงในสังคม การเป็นแบบอย่างให้กับสตาร์ทอัพรายอื่น และที่สำคัญที่สุดคือศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทร่วมลงทุน หรือแม้กระทั่งจากนักลงทุนอิสระ


     สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นมากที่สุด รองลงมาก็เอเชียโดยรวมทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่ไปกระจุกที่จีนและอินเดีย สำหรับ 10 ประเทศอาเซียนนั้น มีเพียงไม่กี่ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ที่มียูนิคอร์นประดับวงการสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะ Grab ที่ก่อตั้งโดยผู้ประกอบการหนุ่มชาวมาเลเซียนั้น พัฒนาแบบก้าวกระโดดจนกลายเป็นซูเปอร์แอป และขึ้นแท่น Startup รายแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าสู่ระดับ decacorn ที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์
 




     อย่างไรก็ตาม วันนี้มีเรื่องราวของ VNG สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นจากการพัฒนาเกมไปสู่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จนประสบความสำเร็จในการเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นแห่งแรกของเวียดนาม Vuong Quang Khai (เวือง กวาง คาย) รองประธานบริหาร VNG ผู้จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กมาบอกเล่าเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มาแรงในอนาคต
 

     เริ่มต้นจากบริษัทพัฒนาเกม ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา VNG ได้ขยายไปยังธุรกิจดิจิทัลอื่น รวมถึง คลาวด์คอมพิวติ้ง โฆษณา ระบบการชำระเงินออนไลน์ และธุรกิจมีเดีย ทำให้บริษัทสามารถสร้างฐานผู้ใช้งานดิจิทัลที่ใหญ่สุดฐานหนึ่งในประเทศ ยกตัวอย่าง Zalo ที่บริษัทพัฒนาขึ้นก็เป็นแชทแอปที่มีการดาวน์โหลดมากสุดในเวียดนามโดยมีผู้ใช้งาน 62 ล้านบัญชี เป็นรองก็แต่แอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก และยูทูป แต่นี่ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของบริษัทท้องถิ่นที่สามารถแข่งขันทัดเทียมบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ





     เมื่อถูกถามถึงกระแสการไต่เต้าไปสู่การเป็น super app อย่าง Grab หรือ Gojek คายกล่าวว่าเขาไม่มีเจตนาที่จะทำให้แชทแอป Zalo เป็นเสมือนสกัดดาวรุ่งแอปอื่นให้สามารถหรือไม่สามารถรุกตลาดเวียดนาม หาก Zalo จะเป็นซูเปอร์แอปก็ควรเป็นเพราะมันเป็นแอปที่ดีที่คนเลือกใช้ การเพิ่มฟังก์ชันเข้าไปมากเกินไปแบบที่หลายซูเปอร์แอปทำก็อาจทำให้บริหารจัดการยาก


     ถึงกระนั้น Zalo ก็จัดเป็นเทคโนโลยีที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเวียดนาม เมื่อรวมระบบการชำระเงิน Zalo แอปเดียวก็มีมากถึง 39 ฟีเจอร์ ผู้ใช้งานสามารถทำกิจกรรมได้หลายอย่าง ตั้งแต่การช้อปในร้านค้าออนไลน์ การจองตั๋วเครื่องบิน ไปจนถึงการชำระค่าเทอมสถานศึกษา และการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐ นอกจากนั้น Zalo ยังเป็นจุดเชื่อมโยงแบรนด์สินค้าต่าง ๆ กับลูกค้าอีกด้วย  


     แม้คายจะไม่แน่ใจเกี่ยวกับการเป็นซูเปอร์แอปของ Zalo แต่สิ่งหนึ่งที่เขามั่นใจคือคลื่นลูกต่อไปที่บริษัทเขาควรลงทุนคือธุรกิจที่เกี่ยวกับ AI เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Zalo AI บริษัทในเครือ VNG ได้แนะนำ Kiki ซึ่งเป็นระบบผู้ช่วยเสมือน หรือ virtual assistant เวอร์ชันภาษาเวียดนามออกมา Kiki เป็นเทคโนโลยีรับคำสั่งด้วยเสียงที่คล้ายคลึงกับ Alexa ของอเมซอน และ Siri ของแอปเปิล





     ในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว คายได้นำอุปกรณ์ virtual assistant มาสาธิตให้ชม หลังจากที่เปิดเครื่อง คายป้อนคำสั่งเป็นภาษาเวียดนาม “เล่นเพลงของเทย์เลอร์ สวิฟท์” ไฟหน้าจอทำงานและเพลงของนักร้องดังชาวอเมริกันก็เริ่มบรรเลง ไม่เท่านั้น Kiki ยังสามารถตอบคำถามและให้ข้อมูลต่าง ๆ ได้ด้วย เช่น เมื่อถามชื่อของนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ก็สามารถตอบได้ถูกต้อง


     คายกล่าวว่าการพัฒนา virtual assistant เป็นส่วนหนึ่งของการรุกเข้าสู่ธุรกิจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เขามองว่ามีความสำคัญต่ออนาคตทางธุรกิจของบริษัท “หากเราตามคลื่นลูกใหม่ ๆ ไม่ทัน เราก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” Zalo AI กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตแผงวงจรชั้นนำ และคาดว่าจะสามารถวางจำหน่าย Kiki ได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้             


     ขณะเดียวกัน ทีมงาน AI ของบริษัทได้พัฒนาระบบต่าง ๆ อาทิ ระบบจดจำใบหน้าที่ธนาคารเวียดแคปิตอลนำไปใช้ในการแสดงตัวตนของลูกค้า ระบบรายการเพลงที่ดึงจากคลังเพลงขนาดใหญ่ของ Zing Music (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของ VNG) และการแปลงข้อความเสียงบนแอปแชท Zalo ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่กำลังอยู่ระหว่างทดลองใช้งาน
               

     การเติบโตของ Zalo ทำให้ VNG ได้รับความสนใจและมีบริษัทข้ามชาติหลายแห่งหนุนหลัง เช่น บริษัทเทมาเส็ก บริษัทจีไอซี บริษัทโกลด์แมนแซคส์ และบริษัทเท็นเซนต์ โฮลดิ้งส์ ส่งผลให้มูลค่า VNG ไปแตะที่ 2,000 ล้านดอลลาร์ แม้ VNG จะให้ความสนใจเทคโนโลยีในอนาคต ต้องยอมรับว่าธุรกิจที่ทำกำไรให้บริษัทยังคงเป็นธุรกิจเกี่ยวกับเกม โดยในปีการเงิน 2020 ธุรกิจเกมสร้างรายได้มากถึง 79.2 เปอร์เซนต์ของรายได้ทั้งหมด 6 ล้านล้านด่อง (ราว 8,000 ล้านบาท) และบริษัทมีแผนจะขยายตลาดไปยังอินเดีย รัสเซีย ละตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดหวังว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้ VNG กลายเป็นคู่แข่งเทียบชั้นกับซี กรุ๊ปจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นบริษัทที่มั่งคั่งสุดในอาเซียน
                 
 
ที่มา
https://asia.nikkei.com/Business/Business-Spotlight/Vietnam-s-first-unicorn-bets-on-AI-and-overseas-growth


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup