Tech Startup

ตามไปดูสตาร์ทอัพใจสู้ผุดฟาร์มแมลงแปรรูป กิจการโตได้ดีแม้มีด่านหินทั้งต้นทุนและการขอมาตรฐาน

Text: Vim Viva






     ในบรรดาอาหารเพื่อสุขภาพที่เป็นกระแสกำลังมาแรง นอกจาก plant-based หรืออาหารจากพืชแล้วก็เห็นจะเป็นโปรตีนจากแมลงนี่เอง ซึ่งจะว่าไป แมลงจัดเป็นอาหารที่แทรกซึมในวัฒนธรรมอาหารของหลายประเทศมานานแล้วโดยเฉพาะในเอเชีย แต่มีการพูดถึงมากขึ้นหลังจากที่ฝั่งตะวันตกเริ่มให้ความสนใจในฐานะโปรตีนทางเลือกที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงและไขมันต่ำ ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์เชิงพาณิชย์จากฟาร์ม
               

     ที่สำคัญ อาหารจากแมลงกำลังถูกมองว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารในอนาคตของมนุษย์ ช่วงหลังจะเห็นฟู้ดเทคสตาร์ทอัพหลายรายพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแมลงทั้งในแบบอาหารพร้อมทาน และเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร ด้วยความที่ไทยก็เป็นหนึ่งใประเทศที่คุ้นเคยกับการบริโภคแมลง จึงมีผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่น้อย และบริษัทจากต่างประเทศจำนวนหนึ่งก็เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานเพาะเลี้ยง แปรรูป และส่งออกเช่นกัน
               




     อย่างไรก็ตาม ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียเองก็ตื่นตัวในเรื่องนี้ แม้ว่าการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงจะยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ แต่ Startup มาเลเซียหลายรายก็เริ่มเข้ามาจับธุรกิจนี้แล้วเนื่องจากมาเลเซียเองก็มีสภาพอากาศร้อนชื้นที่เหมาะกับการทำฟาร์มแมลง ในบรรดา Startup มาเลเซียที่ดำเนินธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลง ส่วนใหญ่เป็นการเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ทำอาหารสัตว์ และมีไม่กี่รายที่เลี้ยงเพื่อแปรรูปเป็นอาหารมนุษย์
               

    เหตุผลที่ฟาร์มแมลงกินได้ยังไม่แพร่หลายในมาเลเซียเทียมเท่าฟาร์มแมลงเพื่อผลิตอาหารสัตว์เป็นเพราะการหยิบแมลงหย่อนเข้าปากเป็นอาหารเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนเมือง และแม้กระทั่งว่าจะมีการแปรรูปนำแมลงมาทำให้แห้งแล้วป่นเป็นแป้งเพื่อปรุงอาหาร แต่เนื้อสัมผัสและรสชาติก็ยังแตกต่างจากเนื้อสัตว์ทั่วไปที่เคยบริโภค
               




     นอกจากนั้น ในขณะที่ความต้องการอาหารจากแมลงในตลาดมาเลเซียยังมีขนาดเล็ก แต่การผลิตแมลงเพื่อเป็นโปรตีนทางเลือก ต้นทุนกลับค่อนข้างสูงและการได้มาซึ่งใบรับรองมาตรฐานก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทำให้ตลาดมาเลเซียไม่ฟู่ฟ่ามากนัก ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่กล้าหาญเข้ามาทำธุรกิจนี้ หนึ่งในนั้นที่โดดเด่นอย่างมากคือบริษัทเอ็นโท (Ento) ซึ่งมาจากคำศัพท์ entomophagy หมายถึงการบริโภคแมลง 
               

     เควิน วู ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเอ็นโทตั้งแต่ปี 2018 เผยว่าบริษัททำฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดและหนอนแมลงวันลายเพื่อแปรรูปเป็นอาหาร ช่วงกลางปี 2019 ได้รับความสนใจอย่างมากหลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด มีทั้งของทานเล่น เช่น จิ้งหรีดอบ หนอนแมลงวันลายอบ หลากหลายรสชาติ อาทิ รสไข่เค็ม รสกิมจิ สามารถทานเล่น หรือนำไปทานกับอาหารอื่นได้ นอกจากนั้น ยังมี ผงโปรตีนจากจิ้งหรีดที่ใช้ทำคุกกี้หรือขนมอบ หรือจะผสมในอาหารและเครื่องดื่มก็ได้ โดยวางจำหน่ายในมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
               




     หลังจากที่มีผลิตภัณฑ์ออกมาชิมลางตลาดแล้ว เอ็นโทก็เริ่มระดมทุนในรอบ pre-seed และได้รับการสนับสนุนจากผู้ลงทุนในสิงคโปร์ ทำให้บริษัทสามารถขยายผลิตภัณฑ์ไปยังขนมอบ และได้ร่วมงานกับผู้ประกอบการและธุรกิจต่าง ๆ เช่น ธุรกิจเบเกอรี ผู้จัดจำหน่ายอาหาร ผู้ผลิตอาหาร รวมถึงทำธุรกิจกับลูกค้าทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ
               

     “ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินของผู้บริโภคที่ให้ความสนใจในแบรนด์และอาหารสุขภาพ และยั่งยืน ทั้งนี้ กลุ่มมิลเลนเนียลและกลุ่ม gen z จะเปิดใจให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ  และกลุ่มนี้เองจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตในอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือก ส่วนในด้านการลงทุน จะเห็นนักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจในธุรกิจนี้เช่นกัน” เควินกล่าว
               




     แม้จะก่อตั้งมาไม่กี่ปี แต่ธุรกิจเอ็นโทก็เติบโตก้าวหน้า และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ล่าสุด แนะนำผลิตภัณฑ์ภายใช้ชื่อ “Entomeat” มีส่วนผสมของเนื้อบดที่ทำจากจิ้งหรีด 4 เมนู ได้แก่ 1. สปาเกตตีมีทบอลซ้อสโบลองเนส 2. เบอร์เกอร์ 3. มีทบอลซอสมะเขือเทสหรือซอสเห็ดสไตล์สวีเดน และ 4. ฮอตดอกไส้กรอกจิ้งหรีด     
               

     เรียกได้ว่าผลงานของเอ็นโทคงจะเข้าตาจนทำให้โดนรุมจีบจากหลายทีม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีอาหาร และธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ เอ็นโทกำลังหารือกับผู้ค้าปลีกทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงตัวแทนจำหน่ายหลายช่องทางเพื่อกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคให้มาก โดยมีการวางขายในอเมซอน อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของอเมริกาอีกด้วย
               




     ในการระดมทุนแต่ละรอบ เม็ดเงินที่ไหลเข้ามา เอ็นโทจะต่อยอดด้วยการจ้างบุคคลากรมากความสามารถมาร่วมงาน เช่น ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝ่ายขาย ฝ่ายกระจายสินค้า และฝ่ายการตลาด “เป้าหมายระยะยาวของเราคือการผลักดันบริษัทให้เติบโตเพื่อให้เป็นผู้ผลิตโปรตีนจากแมลงรายแรกของโลกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจใช้เวลา 7-10 ปีจนกว่าความต้องการในตลาดจะพุ่ง และธุรกิจเกษตรอาหารจะบูมสุดขีด” เควินกล่าวทิ้งท้าย

 
ที่มา
https://vulcanpost.com/747325/edible-insect-protein-farming-malaysia/
https://thesmartlocal.com/malaysia/entomeat-crickets-meat/
www.foodingredientsfirst.com/news/road-to-ipo-malaysian-insect-protein-start-up-ento-spearheads-crowdfunding-campaign.html
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup