Tech Startup

อดีตบล็อกเกอร์ฝรั่งเศส ผันตัวสร้างธุรกิจขายกล่องเบนโตะ โกยรายได้อย่างงามในญี่ปุ่น

 

     ใครที่คิดว่าการทำธุรกิจในญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาติเป็นงานยากหรือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ วันนี้มีเรื่องราวของโทมัส แบร์ทรองด์ ผู้ประกอบการชาวฝรั่งเศสเจ้าของ Bento&Co ธุรกิจจำหน่ายกล่องข้าวหรือกล่องเบนโตะสไตล์ญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจในญี่ปุ่นคงต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2003 หรือ 18 ปีก่อน โทมัสเดินทางมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกียวโต และเริ่มเขียนบล็อกชื่อ “La rivière aux canards” บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ในญี่ปุ่น

 

 

     ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียแบบในปัจจุบัน โทมัสเขียนเล่าทุกวัน บล็อกของเขาจึงได้รับความนิยม มีคนเข้ามาอ่านวันละ 800-1,000 ราย กลายเป็นบล็อกที่ชาวฝรั่งเศสที่ต้องการเดินทางมาเกียวโตหรือญี่ปุ่นต้องอ่าน กระทั่งวันหนึ่ง โทมัสเขียนบทความเกี่ยวกับ “เบนโตะ” หรือกล่องอาหารสไตล์ญี่ปุ่น ปรากฎว่าเป็นเนื้อหามีได้รับความสนใจจากผู้อ่านชาวฝรั่งเศสจำนวนมาก มีบางคนเข้ามาแสดงความเห็นว่าอยากได้กล่องเบนโตะสวย ๆ แบบนี้บ้างแต่ความที่อยู่อยู่ต่างประเทศทำให้หาซื้อค่อนข้างยาก เว้นเสียแต่จะสั่งจากอีเบย์

     โทมัสมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในทันที เขาจึงศึกษาข้อมูลและขอความรู้จากเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและการเสียภาษีอย่างถูกต้อง จากนั้นก็ตัดสินใจตั้งบริษัทแบร์ทรองด์ขึ้นในปี 2008 และเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ Shopify เพื่อจำหน่ายกล่องเบนโตะจากญี่ปุ่นโดยลงทุนเบื้องต้นประมาณ 50,000 เยนหรือราว 15,000 บาท

 

 

     แม้จะมีเสียงคัดค้านจากเพื่อน ๆ และคนรอบข้างก็ตามว่าไม่น่าจะขายได้ อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นเพราะช่วงที่เขาเริ่มธุรกิจ กระแสสุขภาพมาแรง ผู้คนนิยมปรุงอาหารเองและจัดใส่กล่องไปทานที่ทำงาน และหลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีอินสตาแกรม วัฒนธรรมการถ่ายรูปอาหารลงโซเชี่ยลเริ่มเบ่งบาน ทำให้ส่งเสริมต่อธุรกิจจำหน่ายกล่องเบนโตะของเขา ผลตอบรับเรียกว่าดีมาก

     ธุรกิจเติบโตงดงาม จากลูกค้ากลุ่มแรก ๆ ที่เป็นคนอ่านบล็อกของเขาก็มีคำสั่งซื้อจากลูกค้ากว่า 100 ประเทศทั่วโลก สำหรับสินค้าที่รับมาขาย โทมัสจะติดต่อจากผู้ผลิตหลายราย และเขาจะให้ความสำคัญกับงานหัตถกรรมท้องถิ่นเป็นอย่างมาก กล่องเบนโตะที่จำหน่ายจึงคัดสรรมาจากหลายพื้นที่

 

 

     หลังจากร้านค้าออนไลน์อยู่ตัว โทมัสได้ขยับขยายมาเปิดหน้าร้าน Bento&co ที่เกียวโต และกลายเป็นร้านที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเนื่องจากมีกล่องเบนโตะให้เลือกหลากหลาย ล้วนแต่สร้างความตื่นตาตื่นใจนักท่องเที่ยว อาทิ กลองเบนโตะรูปทรงตุ๊กตานินจา หรือตุ๊กตาเกอิชา กล่องเบนโตะทรงหนังสือที่มีลวดลายฟูเขาไฟฟูจิ หรือลายคลื่นในทะเล กล่องเหล่านี้ทำด้วยไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติต่างกันไป แต่สามารถบรรจุอาหารได้ปลอดภัย ใช้กับเตาไมโครเวฟ และเครื่องล้างจานได้

     ปัญหาอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจออนไลน์คือเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ช่วงคริสต์มาสซึ่ง Bento&co จะได้รับคำสั่งซื้อไม่ต่ำกว่าวันละร้อยออร์เดอร์ สิ่งที่ตามมาคือความยุ่งยากในขั้นตอนการพิมพ์คำสั่งซื้อและใบแจ้งรายการสินค้า (invoice) เพื่อปะหน้าพัสดุที่จะจัดส่ง เนื่องจาก Bento&co ลงขายในแพลทฟอร์มอี-คอมเมิร์ซหลายแห่ง แต่ละแห่งใช้บริษัทขนส่งไม่เหมือนกัน รูปแบบการพิมพ์ใบสั่งซื้อก็ต่างกัน ทำให้เกิดความยุ่งยากและเสียเวลา

 

 

     โทมัสเชื่อว่าผู้ค้าปลีกออนไลน์จำนวนไม่น้อยประสบปัญหาแบบเดียวกัน เขาจึงเกิดความคิดพัฒนาระบบที่ทำให้การจัดการกับคำสั่งซื้อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของการต่อยอดธุรกิจไปยัง Ship&co สตาร์ทอัพที่ให้บริการซอฟต์แวร์ที่เชื่อมแพลทฟอร์มอี-คอมเมิร์ซต่าง ๆ อาทิ Shopify, Rakuten, eBay, Amazon, Magento, PrestaShop, and WooCommerce กับบริษัทโลจิสติกส์ เช่น FedEx, UPS, DHL, Yamato, Sagawa, Japan Post, SF Express, and Australian Post ทำให้ผู้ค้าออนไลน์จัดการออร์เดอร์ พิมพ์คำสั่งซื้อไม่ว่าจะแพลทฟอร์มใด หรือบริษัทขนส่งไหนได้รวดเร็วใน 20 วินาที ล่าสุด Ship&co สามารถระดมทุนในรอบซีรีส์ A เป็นจำนวน 100 ล้านเยนหรือเกือบ 30 ล้านบาทจากบริษัทร่วมทุนสไปรัล เวนเจอร์ ซึ่งโทมัสมีแผนจะใช้เงินทุนดังกล่าวในการพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น และจ้างพนักงานเพิ่มเติม

 

ข้อมูล

https://medium.com/le-wagon-tokyo/le-wagon-ap%C3%A9rotalk-from-blogger-to-entrepreneur-with-thomas-bertrand-413f1d59312e

 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup