Tech Startup

สตาร์ทอัพมาเลย์ชูซองพัสดุย่อยสลายได้แก้ปัญหาพลาสติกจากธุรกิจออนไลน์ล้น

 

Text : Vim Viva 

     กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกด้วยการลดละพลาสติกย่อยสลายยากมีมานานแล้ว บริษัทและองค์กรทั้งหลายต่างพัฒนานวัตกรรมที่ทำให้เกิดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ แต่การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและการเกิดขึ้นของแพลทฟอร์มออนไลน์จำนวนมากทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกจากพัสดุที่คนขายจัดส่งให้ลูกค้า

 

 

     ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว Startachi สตาร์ทอัพมาเลเซียที่ก่อตั้งโดยเทวา คุณาสันตาร์ และญาติอีก 2 คนได้แก่ วิโนดและปูนิธาได้แนะนำซองพัสดุพลาสติกที่ฝังดินแล้วสามารถย่อยสลายได้ใน 6 เดือน ซองพัสดุย่อยสลายได้ดังกล่าววางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ StartPack เป็นซองที่ผลิตโดยใช้วัสดุจากพืชที่คล้ายแป้งข้าวโพดและมีส่วนผสมของ PBAT (Polybutylate Adipate Terephthalate) ซึ่งเป็นโคพอลิเมอร์แบบสุ่มที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

     คำแนะนำคือเมื่อใช้งานแล้วให้ตัดซองพัสดุ StartPack เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วฝังดินหรือใส่ในถังขยะที่ใช้ทิ้งเศษอาหาร หรือขยะอินทรีย์เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก หากทิ้งรวมกับขยะอื่น ๆ ในที่ทิ้งขยะทั่วไปก็ทำได้แต่จะใช้เวลาในการย่อยสลายนานขึ้น อาจจะ 2-3 ปี แต่ก็ยังถือว่าเร็วกว่าพลาสติกที่ย่อยสลายยากหรือไม่ย่อยสลายเลย

 

 

     บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อธรรมชาติฟังดูเป็นแนวคิดที่ดีต่อทั้งผู้บริโภคและเจ้าของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคอย่างหนึ่งคือการต้องแลกกับต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งผู้ประกอบการอาจไม่ยินดีที่ลงทุนในส่วนนี้นัก เจ้าของผลิตภัณฑ์อาจต้องโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการคล้อยตามและหันมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเหล่านี้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ                

     อย่างซองพัสดุ StartPack เองก็มีข้อจำกัด เช่น การผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ทำให้มีอายุใช้งาน 10-12 เดือน และต้องจัดเก็บในที่ไม่ร้อน และไม่โดนแสง นอกจากนั้น เบื้องต้น ซองพัสดุ StartPack มีให้เลือก 2 ขนาดได้แก่ขนาดมาตรฐาน 260 x 385 มม. และขนาด M 260 x 385 มม. ซึ่งสามารถบรรจุสิ่งของที่มีน้ำหนักไม่เกิน 1.5 กิโลกรัม ส่วนราคานั้นก็สูงเอาการ  StartPack ขนาด M 1 แพ็คจำนวน 50 ซอง จำหน่ายในราคา 59 ริงกิตหรือราว 470 บาทเทียบกับซองพัสดุพลาสติกทั่วไปขนาดเดียวกัน ปริมาณเท่ากัน ราคาแค่ 11 ริงกิต หรือประมาณ 88 บาทเท่านั้น

     เทวาซึ่งเป็นผู้บริหาร Startachi อธิบายว่าซองพลาสติกทั่วไปสามารถจำหน่ายในราคาถูกกว่าเนื่องจากเป็นที่ต้องการมากในตลาด และการผลิตปริมาณมากก็ทำให้ราคาถูกลงด้วย ต่างจากบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ที่ยังใช้งานไม่แพร่หลายนัก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่า แต่เทวาเชื่อว่าหากบริษัทใหญ่ ๆ เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืนมากขึ้น ราคาก็จะลดลงจนเกือบเท่าพลาสติกทั่วไป  

     นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนกพ. 2021 ลูกค้าของ Startachi โดยมากเป็นผู้ขายสินค้าออนไลน์รายย่อยในอินสตาแกรม เฟสบุ๊ก หรือ Etsy แต่เทวามีแผนจะประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มธุรกิจหรือองค์กรที่ใหญ่ขึ้นโดยการชูประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และผลกระทบจากการพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอันเป็นปัญหาที่ถูกมองข้ามในมาเลเซีย การประชาสัมพันธ์ดังกล่าวจะทำผ่านบรรดาอินฟลูเอนเซอร์บนแพลทฟอร์มต่าง ๆ

 

 

     เทวาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มสตาร์ทอัพ Startachi สนใจสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากการถูกปลูกฝังให้ทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง หลังเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เธอก็ยิ่งสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และได้อ่านบทความหรือข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจนนำไปสู่ความตั้งใจที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

     ปี 2019 เทวาและน้องชายได้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ปลอดขยะขึ้นมา ได้แก่ ฟองน้ำล้างจานที่ทำจากใยของกาบมะพร้าว และได้นำไปวางขายตามร้าน zero waste หรือร้านที่มีแนวคิดในการลดขยะเป็นศูนย์ กระทั่งเทวาได้ไปช่วยงานพี่สาวในการแพ็คสินค้าที่เป็นงานศิลปะเพื่อจัดส่งให้ลูกค้า เธอพบว่าพลาสติกกันกระแทกถูกนำมาใช้เยอะมากในการห่อสินค้าแต่ละชิ้น

     ทำให้เกิดคำถามตามมาว่านี่ขนาดร้านของพี่สาวร้านเดียวยังใช้พลาสติกเยอะขนาดนี้ ถ้ารวมกับร้านอื่น ๆ พลาสติกจากพัสดุคงถูกทิ้งในปริมาณมหาศาล เมื่อบวกกับการได้อ่านข้อมูลว่าชาวมาเลเซียผลิตขยะพลาสติกมากสุดในเอเชีย ทำให้เธอกังวล และเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่โดยการผลิตซองพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

     หลังจากศึกษาข้อมูลนานนับปี ทีมงาน Startachi ก็หาแหล่งผลิตได้เป็นโรงงานในออสเตรเลีย และมีแผนจะเปลี่ยนมาทำงานร่วมกับโรงงานในมาเลเซีย โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา แต่ระหว่างนี้ เป้าหมายแรกที่เทวาต้องการบรรลุคือการรณรงค์ให้ธุรกิจต่าง ๆ และผู้ค้าออนไลน์ได้เปลี่ยนจากซองพลาสติกแบบเดิมเป็นซองพัสดุย่อยสลายได้ แม้จะต้องใช้เวลา แต่ในอนาคตถ้ามีผู้ใช้ซองพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่า

 

ข้อมูล  

https://vulcanpost.com/736775/startpack-eco-friendly-e-commerce-parcel-packaging-malaysia/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup