Tech Startup

ความฝันจากปั๊มแก๊สสู่สถานีชาร์จรถไฟฟ้า “EVnetwork” เปิดโมเดลที่คนตัวเล็กก็เป็นเจ้าของได้!

 

Text : rujrada.w

     ในวันที่คนไทยกุมขมับเพราะค่าน้ำมันขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะเป็นทางเลือกที่ช่วยประหยัดน้ำมันและลดการเกิดมลพิษทางอากาศได้ดีกว่า ขณะเดียวกันภาครัฐก็ออกนโยบายสนับสนุนต่างๆ เช่น การลดอัตราภาษีสรรพสามิต การยกเว้นหรือลดอัตราอากรนำเข้าสำหรับชิ้นส่วนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

     เราเคยเจอสถานการณ์คล้ายกันนี้เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นไปกว่า 40 บาทต่อลิตร ในเวลานั้นการติดตั้ง NGV, LPG ให้กับรถยนต์ได้กลายเป็นทางเลือกของคนไทย มีปั๊มแก๊สผุดขึ้นมากมายริมสองฝั่งถนน และในวันนี้ภาพนั้นกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งกับสถานีชาร์จรถไฟฟ้า บอส-ณัฐภัทรษ์ วงศ์วราบดินทร์ ที่หลายคนรู้จักจาก Tiktok : @bossza_tv

 

 

     และเพจ  บอสซ่าสายเสกพาทำเงินบนโลกยุคใหม่ ก็ได้คว้าเมกะเทรนด์นี้โดยร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ EVnetwork ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถไฟฟ้าระดับโลกเข้ามาเปิดบริการในประเทศไทย พร้อมกับเปิดรับพาร์ทเนอร์ที่จะช่วยกันขยายสถานีให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

               

  • ความฝันจากปั๊มแก๊สสู่สถานีชาร์จรถไฟฟ้า

     ในวันที่สถานีเติมแก๊ส LPG เฟื่องฟู บอสเองก็สนใจอยากเป็นผู้ประกอบการเปิดร้านติดตั้งแก๊สรถยนต์ เขาหาข้อมูลและพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องแต่สุดท้ายแล้วก็ต้องพับโครงการไปเพราะทุนไม่พอ การทำปั๊มแก๊สในตอนนั้นต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 7 หลักสำหรับค่าสถานที่ ค่ารีโนเวทและค่าลงทุนตัวถังแก๊สมาสต็อคเอาไว้

     บอสจุดประกายความฝันของตัวเองขึ้นใหม่อีกครั้ง หลังจากเริ่มมีการผลิตรถยนต์ไฮบริดใช้ในต่างประเทศ จนพัฒนามาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ได้ในที่สุด

     “ตั้งแต่มีรถยนต์ไฮบริดเราก็เริ่มสนใจเพราะดีกว่าการติดตั้งแก๊สที่เป็นการดัดแปลงจากเครื่องสันดาปมาเป็นแก๊ส มีปัญหาเรื่องของการประดิษฐ์ต่างๆ ต้องดูแลทั้ง 2 ระบบ คือดูแลระบบแก๊สและระบบน้ำมันด้วย พอเห็นว่ามันมีรถ EV เข้ามาเราก็เลยมองเห็นโอกาสจากการที่เรามองเห็นพัฒนาการของการใช้งาน และเทคโนโลยี EVต่างๆ ที่เข้ามา ล่าสุดข้อมูลที่ผ่านมา งานมอเตอร์โชว์ยอดจองรถ EV ประมาณ 3,000 คัน นั่นหมายความว่าการเติบโตสูงขึ้น ถ้าเทียบกับปี 2563-2564 โตขึ้น 2 เท่า และปี 2565 ผมมองว่าแนวโน้มจะมีโอกาสโตมากขึ้นกว่า 2 เท่าและในอนาคตจะโตมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

 

     เรื่องนี้ยืนยันได้จากข้อมูลเทรนด์จาก Google Map ที่มีการค้นหา “สถานีชาร์จรถไฟฟ้า” ของผู้ใช้งานในประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคม 2564-มีนาคม 2565 เพิ่มสูงขึ้นถึง 357 เปอร์เซ็นต์

     “เราได้มีการรีเสิร์ชจากการใช้รถ EV จริงๆ มาประมาณ 1 ปี ปัญหาที่เราเจอคือ 1. สถานีเติม EV ยังน้อยอยู่ 2. ใช้ระยะเวลาในการเติมค่อนข้างนาน 3. พอสถานีน้อยก็มีปัญหาที่ผู้ใช้รถต้องมาต่อคิวในการเติมไฟฟ้า เราก็เลยมีความคิดที่จะขยายสถานีมารองรับผู้ใช้รถ EV ให้มากขึ้น โดย EVnetwork จะมาเสิร์ฟในจุดที่ยังขาดอยู่”

 

  • สถานีรถไฟฟ้าที่หาพาร์ทเนอร์เป็นคนตัวเล็ก

     ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นของรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ปตท. หรือธุรกิจค้าปลีกอย่าง เดอะมอลล์ เซ็นทรัล แต่โมเดลธุรกิจของ EVnetwork แตกต่างออกไปด้วยการเปิดรับพาร์ทเนอร์เป็นบุคคลทั่วไปที่อยากเป็นผู้ประกอบการโดยไม่จำเป็นต้องมีทุนหลักล้านบาท

     “โมเดลธุรกิจของเราจะไม่ได้โฟกัสไปทางการทำ home charger เพราะว่าเรามองว่าทางค่ายรถน่าจะมีอยู่แล้ว เราจะมุ่งเน้นไปทางการทำสถานี EV พูดง่ายๆ ก็เปรียบเสมือนสถานีเติมน้ำมันหรือสถานีเติมแก๊ส อันนี้คือโมเดลที่เป็นภาพใหญ่ของเรา ภาพปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีเจ้าใหญ่ทำอยู่แล้วแต่เราจะเป็นเจ้าเล็ก ทำในรูปแบบของการมีพาร์ทเนอร์และทำแฟรนไชส์ คนที่มาเป็นแฟรนไชส์กับเราอาจจะไม่ได้เปิดสถานีใหญ่ๆ ก็ได้ อาจจะทำเป็นมุมเล็กๆ เหมือนเซเว่นที่เปิดในซอย ทำให้ผู้ใช้รถ EV สามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะเหมือนปั๊มน้ำมัน เพราะปั๊มน้ำมันต้องใช้พื้นที่สำหรับวางถังน้ำมันใต้พื้นดิน วางบ่อเก็บน้ำมัน และก็มีเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของกฎหมายต่างๆ ที่มาควบคุมอีก แต่สถานีชาร์จ EV ใช้พื้นที่น้อยกว่า เพราะว่าถ้าเราเห็น home charger ก็สามารถแปะกับผนังบ้านได้เลย ใช้พื้นที่นิดเดียวเอง เรามีพาร์ทเนอร์เป็น EVnetwork ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของโลก และเราให้บริการครบวงจร ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับซอฟท์แวร์เราสามารถที่จะรีโมทเซอร์วิสได้เลย ไม่ต้องรอทีมช่างเข้าไปหน้างาน”

     การเตรียมตัวเป็นพาร์ทเนอร์กับทาง EV network นั้นง่ายและแทบไม่ต้องเตรียมตัวอะไร อันดับแรก เตรียมทุนไว้ก่อน เตรียมสถานที่ว่าจะติดตั้งโลเคชันไหน ซึ่งสำหรับพาร์ทเนอร์ที่มีพื้นที่อยู่แล้วก็สามารถติดตั้งได้เลย โดยที่จะมีทีมไปซัพพอร์ตให้คำปรึกษาก่อนว่าจะติดตรงไหน อย่างไร ต้องรีโนเวทตรงไหนเพิ่มเพื่อให้เป็นสถานีที่เห็นชัดเจน

     กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่อยากลงทุนเป็นพาร์ทเนอร์เครื่องชาร์จแต่ไม่มีโลเคชั่นในการวางเครื่อง ทางบริษัทจะหาทำเลให้ ซึ่งจะมีเช็กลิสต์ให้กับผู้ลงทุนเลือก

 

 

  • โอกาสใหญ่ของคนที่มองเห็นก่อน

     บอสบอกว่านี่เป็นโอกาสใหญ่ของคนที่เข้ามาในธุรกิจก่อนใคร เหมือนกับที่เราได้เห็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในยุคของสถานีเติมแก๊ส

     “เราจะเห็นสัดส่วนการใช้รถ EV ในประเทศจีนประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว แล้วก็เป็นยุโรปและอเมริกาลดหลั่นกันลงมา นั่นหมายความว่าเขาพัฒนาด้าน EV ไปไกลมากแล้ว ส่วนประเทศไทยถ้าพูดถึง EV ถือว่ายังใหม่มากๆ แต่ว่าก็เป็นความโชคดีที่ภาครัฐก็มาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีของรถ EV แล้วก็แผนของจีนที่จะมาเปิดโรงงานผลิตรถในไทยก็มี มันก็เลยทำให้แนวโน้มการใช้รถ EV ในประเทศไทยน่าจะเป็นกราฟขึ้น รวมถึงค่ายรถใหญ่ก็พัฒนารถ EV อย่างต่อเนื่องทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา ยิ่งในประเทศจีนไม่ใช่แค่ประกาศพัฒนารถ EV แต่เขาประกาศว่าจะมาสร้างฐานผลิตที่ประเทศไทยด้วยซ้ำ นี่เป็นแนวโน้มที่ผมมองว่ามันไปได้”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup