
ป่วยใจหายได้ด้วยน้องหมา! Therapy Dog Thailand นวัตกรรมจากเจ้าสี่ขา พลังความรักช่วยบำบัดโรคซึมเศร้า

กลุ่มธุรกิจสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงยังเป็นที่น่าจับตา และทวีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าบรรดาทาสแมวหรือคนรักน้องหมาต่างพากันทุ่มเม็ดเงินเพื่อสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเพื่อนรักสี่ขา ชนิดที่ว่าบางชิ้นแพงยิ่งกว่าของใช้ของตัวเองเสียอีก เทรนด์ความนิยมดังกล่าวยังทำให้เกิดธุรกิจแปลกใหม่ที่สร้างเม็ดเงินอย่างเป็นกอบเป็นกำทั้งสปาเพื่อสัตว์เลี้ยง ประกันภัย บริการที่พัก ฯลฯ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตา โดย Fortune Business Insights ประเมินว่าตลาดธุรกิจด้านสัตว์เลี้ยงทั่วโลกจะเติบโตปีละ 5.6% จนมีมูลค่าถึง 325.74 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2571 เลยทีเดียว
โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จะพาไปเปิดมิติใหม่ของนวัตกรรมที่เข้ามาดิสรัปต์วงการสัตว์เลี้ยงอย่าง “สุนัขบำบัดทลายกำแพงหัวใจผู้ป่วย: Therapy Dog Thailand”
- Therapy Dog Thailand เพื่อนสี่ขาผู้ทลายกำแพงผู้ป่วยซึมเศร้า - เพื่อนใหม่ผู้สูงวัย
ศิริวรรณ โอสถารยกุล ประธานบริษัท ออลไฟน์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และเจ้าของโครงการ Therapy Dog Thailand เล่าว่า ต้นกำเนิดของโครงการมาจากคุณย่า ซึ่งเป็นผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ไม่ให้ความร่วมมือในการทำกายภาพบำบัดและอารมณ์ของท่านไม่คงที่ จึงทำให้การบำบัดทุกครั้ง นักบำบัดต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษเพื่อให้คุณย่ายอมรับการรักษา แต่ผลที่ได้รับคือ คุณย่ามีกำแพงปิดกั้นการรักษาทุกครั้ง และไม่ยอมกินยาตามที่หมอสั่ง อีกทั้งยังพบว่าหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 6 เดือน อาการของท่านจะยิ่งย่ำแย่ และภาวะจิตใจจะเปราะบางลง เลยทำให้ต้องคิดวิธีรักษาใหม่ๆ ด้วยการใช้ความรักจากสุนัขมาช่วยบำบัด
“โครงการนี้เกิดจากความเชื่อในพลังบำบัดของสุนัข และความต้องการที่จะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เป็นเจ้าของสุนัขและสุนัข ส่งต่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม และผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า ช่วงแรกเราดำเนินโครงการด้วยความเชื่อ และค่อยๆ ศึกษาในเรื่องการบำบัดด้วยสุนัขเป็นเวลากว่า 10 ปี พบว่าการฝึกสุนัขให้เป็นนักบำบัดนั้นไม่ได้ทำกันง่ายๆ จนมาเจอกับหลักสูตรขององค์กรต่างประเทศอย่าง Therapy Dog Association Switzerland VTHS ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านการใช้ทีมสุนัขนักบำบัดมารักษาผู้ป่วย และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้เติบโตขึ้นมาได้ โดยเรานำหลักสูตรของเขามาปรับให้เข้ากับบริบทสังคมไทย