Tech Startup

บทเรียนจาก Clever Math สตาร์ทอัพที่ต้องชะงักเมื่อมองข้าม Pain point ของผู้ใช้งาน

 

     ต่อให้โปรดักต์ดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ไม่มีใครอยากใช้ ก็ยากที่จะไปรอด ดังนั้น การหา Product-Market Fit หรือการทำสินค้าที่มีตลาดรองรับ ตรงกับความต้องการของลูกค้าจึงมีความสำคัญ ซึ่งมี Startup หลายรายที่ประสบปัญหานี้ รวมถึง ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ ผู้พัฒนาแอปฯ Clever Math ที่มีประสบการณ์จากการหา Product-Market Fit จนทำให้ต้องเสียเวลามาแบ่งปันประสบการณ์นั้น

 

 

     Clever Math เป็นแอปฯ ที่เกิดจากความตั้งใจของณัฐธีร์ ที่อยากให้เด็กไทยเก่งคณิตศาสตร์ และเรียนด้วยความสนุกสนาน โดยเขาเห็น Pain Point การเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเด็กๆ มาตั้งแต่อดีต นั่นคือเด็กไม่อยากทำการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ แต่วิชานี้ถ้าไม่หมั่นทำแบบฝึกหัดก็ยากที่จะเก่งขึ้นมาได้ จึงพัฒนา Clever Math ซึ่งเป็นเกมคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้น ป.4-6 ให้เด็กๆ ฝึกทำแทนการทำการบ้าน

     ทั้งนี้จากการหาความต้องการของเด็ก เขาพบว่าเด็กๆ ชอบการ์ตูน ชอบเกม และชอบการแข่งขัน ซึ่งทั้งหมดคือคุณค่าที่ Clever Math มอบให้กับนักเรียน ขณะที่ในมุมของครูนั้น ณัฐธีร์บอกว่า Clever Math จะซื้อเวลากลับมาให้ครู แทนที่จะต้องนั่งตรวจการบ้านก็มีเวลาไปทำประโยชน์ด้านอื่น เพราะด้วยระบบของ Clever Math จะวิเคราะห์ให้ครูได้เห็นข้อมูลว่าเด็กมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน  

 

 

     “ทำมาในช่วง 2-3 ปีแรกเราคิดและจินตนาการว่าความคิดของเราน่าจะถูกต้อง เพราะเราสอนคณิตศาสตร์เห็นปัญหาของเด็กมาโดยตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่เราพลาดคือ เราหา Pain Point เด็ก แต่ไม่ได้หา Pain Point ของครู เลยทำให้เมื่อลองใช้ครั้งแรกครูถึงขั้นกุมขมับ ไม่อยากใช้งานเพราะไม่ตอบโจทย์ ทำให้เราต้องกลับมาทำวิจัยหาปัญหาที่เกิดขึ้นกับครูว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งพบว่าครูไม่ถนัดใช้แอปฯ การที่จะให้ครูได้ใช้งานมันต้องง่าย”

     เพราะการมองข้าม Stakeholders ที่เกี่ยวข้องนี้ ทำให้ 3 ปีแรกของ Clever Math เหมือนเสียเวลาเปล่า   

     “เราใช้เวลาพัฒนา Clever Math มา 3 ปีจนเกือบสมบูรณ์ แต่ต้องเสียเวลาอีกกับการหาความต้องการและพัฒนาตามความต้องการของครูซึ่งรวมเสียเวลาอีกปีครึ่ง ทั้งๆ ที่จริงถ้าในตอนแรกทำแค่ Prototype แล้วเอาไปให้ครูได้ทดลองก่อนว่าเป็นอย่างไร ก็จะทำให้ไม่เสียเวลามากขนาดนี้”

 

 

     ณัฐธีร์จึงบอกว่า ในการหา Product Market Fit ควรจะศึกษาและเปิดใจเปิดสมองตัวเองให้เร็วที่สุด อย่าปิดตัวเองกับไอเดียที่มีตั้งต้นเท่านั้น แต่ให้ไปคุยกับตลาดหาข้อมูลให้มากพอ ยิ่งได้ข้อมูลมากก็จะยิ่งลดความเสี่ยงแล้วเพิ่มความรวดเร็วในการพัฒนาโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด   

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup