Tech Startup

JAMULOGY เครื่องดื่มสมุนไพรสไตล์อินโดนีเซียแบรนด์แรกในไทย ที่กำลังจะไปตีตลาดต้นตำรับในฐานะสตาร์ทอัพ

 

Text : rujrada.w

      หากพูดถึงเครื่องดื่มที่กำลังอินเทรนด์ในตอนนี้คงหนีไม่พ้นคอมบูชะ ชาหมักรสเปรี้ยวซ่าที่มีต้นกำเนิดจากจีนเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน แต่รู้ไหมว่าในประเทศอินโดนีเซียเพื่อนบ้านของเราก็มี จามู (JAMU) เครื่องดื่มสมุนไพรที่ดื่มกันเป็นยามานับ 1,000 ปีเช่นกัน วรรณิสา เตชะพิเชษฐวนิช สาวลูกครึ่งไทย-อินโด อยากให้คนไทยที่รักสุขภาพได้ลิ้มรสเครื่องดื่มชนิดนี้บ้าง จึงลงแรงสร้างแบรนด์ JAMULOGY นำเครื่องดื่มสูตรโบราณมาทำใหม่ให้ทันสมัยและดื่มง่ายมากขึ้น

     “เราคิดว่ามันเป็นอะไรที่คล้ายๆ กับ คอมบูชะที่มีประวัติศาสตร์มาหลายพันปีแต่ว่าสามารถเติบโตและได้รับความนิยมในชาวต่างชาติอย่างอเมริกาและยุโรป จามูก็น่าจะได้รับความนิยมได้เหมือนกันเพราะดีต่อร่างกาย เราแค่ปรับรสชาติเข้าถึงคนสมัยนี้มากขึ้น เราลองตลาดในไทยก่อนเพราะคนไทยยอมเปิดใจลองอะไรใหม่ๆ ได้ง่าย”

ภารกิจเปิดใจคนไทยให้ทำความรู้จักจามู

     จามูไม่ใช่คำคุ้นหูคนไทยและส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักว่าคืออะไร วรรณิสายอมรับว่าเป็นเรื่องยากสำหรับทำการตลาดของจามูแบรนด์แรกในไทย แล้วจามูคืออะไร?

     จามู แปลว่าสมุนไพร ในภาษาอินโดนีเซีย จามูจึงเป็นเครื่องดื่มที่ใช้ส่วนประกอบจากสมุนไพร เช่น ขมิ้น ขิง กระชาย ข่า กระเทียม อบเชย มาผสมกันเพื่อให้ประโยชน์ต่างๆ ต่อร่างกาย เช่น ช่วยขับลม แก้หวัด หรือบรรเทาอาการปวดประจำเดือน สูตรดั้งเดิมที่คนอินโดนีเซียดื่มกันทั่วไปเป็นรสมะขาม ซึ่ง JAMULOGY ก็มีสูตรนี้และคิดค้นอีก 3 สูตรที่ปรับส่วนประกอบและปรับรสชาติให้ไม่หวานแต่เน้นสุขภาพมากขึ้น จากปกติที่ใช้น้ำตาลปี๊บเป็นส่วนผสมก็ใช้น้ำผึ้งหรือสารให้ความหวานที่แคลอรีต่ำแทน

     “เราต้องเล่าให้ลูกค้าฟังว่าจามูคืออะไร ซึ่งเขาจะถามว่าวันหนึ่งดื่มได้เท่าไร กี่ขวด ต้องดื่มหมดขวดไหม เพราะการที่เราเรียกจามูว่าเป็นน้ำสมุนไพรทำให้เขาเข้าใจผิดว่าต้องเป็นเหมือนยา แต่จริงๆ ไม่ใช่ จามูสามารถดื่มได้ทุกวัน ขณะเดียวกันเราอยากเน้นว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มีความเข้มข้น แต่คนไทยหลายคนชอบรสหวานๆ ตอนนี้เราจึงยังจับตลาดเฉพาะคือตลาดเพื่อสุขภาพอยู่ ถ้าอยากขยายในไทยมากกว่านี้ แต่ยอดขายในร้านเพื่อสุขภาพก็เพิ่มขึ้นทุกเดือนแม้จะไม่ก้าวกระโดดแต่ความนิยมมากขึ้น”

ตลาดต่างประเทศที่โตไวกว่าประเทศไทย

     ในช่วงโควิด-19 แบรนด์เล็กๆ อย่าง JAMULOGY ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเพราะไม่สามารถออกไปนำเสนอสินค้าให้กับร้านค้าต่างๆ ได้ ปี 2664 ที่ผ่านมาจึงลองส่งออกไปขายในต่างประเทศที่เปิดประเทศแล้ว เช่น สิงคโปร์หรืออเมริกา ซึ่งขายดีและเติบโตยิ่งกว่าการขายในไทยเสียอีก

     “ต่างประเทศค่อนข้างเข้าใจเกี่ยวกับจามูอยู่แล้วโดยเฉพาะสิงคโปร์ที่อยู่ใกล้มาเลเซียมาก แล้วมาเลเซียเขาก็มีการทำจามูเหมือนกันแต่เป็นสูตรของเขาเอง เขาก็ทราบว่าจามูคือน้ำสมุนไพรโบราณ บางคนก็โตมากับการดื่มจามูด้วย”

     มากไปกว่านั้นคือวรรณิสากำลังจะพาจามูของเธอไปวางขายในอินโดนีเซีย ประเทศต้นตำรับของจามูโดยการหานักลงทุน

     “ไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีแบรนด์จามูรายใหญ่ของอินโดนีเซียที่ผลิตในลักษณะยาสมุนไพรเป็นซองและยาเม็ด เขาสนใจอยากร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กัน บางแบรนด์ก็สนใจอยากซื้อแบรนด์ของเรา แต่เราคิดว่าจะไปเจาะตลาดโดยเป็น Startup เต็มตัว หานักลงทุนแล้วผลักดันให้โตแบบหลายเท่าตัว เราอยากจะแยกตัวเองออกจากธุรกิจดั้งเดิมที่ต้องช้าหรือทำการตลาดแบบค่อยเป็นค่อยไป ตอนนี้เราอยากจะเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นและเอาข้อมูลมาเรียนรู้เกี่ยวกับลูกค้าเพื่อจะต่อยอดและขยายตลาดมากขึ้น”

จะขยายไวต้องไปแบบ Startup

     ต้องบอกว่า JAMULOGY เริ่มต้นมาเป็นธุรกิจ SME ที่ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ แต่การขยายธุรกิจไปต่างประเทศทำให้วรรณิสารู้สึกว่าเธอต้องคิดใหม่ เช่น เมื่อสามารถขายดีได้ในตลาดอเมริกาทำไมไม่หาผู้ลงทุนแล้วไปเปิดโรงงานผลิตที่นั่น เพราะเมื่อเทียบกับค่าขนส่งและกระบวนการส่งออกต่างๆ แล้วคุ้มกว่ามาก

     “ตอนแรกก็คิดว่าจะทำด้วยตัวเอง การเติบโตของธุรกิจอาจจะไม่เร็วมาก แต่ว่าการที่ทำโรงงานเป็นความผิดพลาดใหญ่ เราลงทุนไปเยอะตั้งแต่แรกเลย ส่วนตัวเป็น Risk Taker ยอมทุ่มทุนกับความเสี่ยงแต่เราก็เรียนรู้อะไรได้เยอะ เรามาสร้างโรงงานเอง ขอ อย. ขอมาตรฐานการส่งออก เราเรียนรู้จากศูนย์ทั้งหมดเลยแต่ว่าหลังจากทำไปเรื่อยๆ คิดว่าเราละลายเงินสดไปกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนเยอะมาก เลยคิดว่าการที่เราทำธุรกิจถ้ายังไม่มีฐานลูกค้าที่มั่นคงจริงๆ ควรจะจำกัดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ถ้า outsource ได้ก็ควรทำ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทีม เราจะดึงดูดเขามาอย่างไร ซึ่งการที่เราเป็น Startup มีเงินทุน มีทรัพยากร มันก็จะทำให้ส่วนนี้ง่ายขึ้นเยอะ””

     เธอเลือกคุยกับนักลงทุนชาวต่างชาติอย่างนักลงทุนจากสิงคโปร์หรืออินโดนีเซียที่รู้อยู่แล้วว่าจามูคืออะไร แล้วอธิบายความแตกต่างระหว่าง JAMULOGY และจามูเจ้าอื่น และการขยายตลาดจะใช้โมเดลธุรกิจอะไร

     “เงินทุนที่อินโดมีเยอะกว่าเมืองไทย เป็นที่ที่น่าเติบโต มีคนตื่นเต้นเยอะ เพราะว่าเราเพิ่งไปและเห็นว่า Digital Economy ทุกอย่างโตได้เร็วจริงๆ แต่เรายังไม่ทิ้งตลาดเมืองไทย จริงๆ แล้วไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับ FoodTech จริงๆ เพราะว่าเรื่องนวัตกรรมและ R&D ประเทศไทยยังเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าต่อไปประเทศไทยจะไม่ใช่ตลาดอันดับ 1 ของเราแต่การหาวัตถุดิบหรือการทำวิจัยการคิดค้นโปรดักต์ใหม่ๆ ก็ยังต้องติดต่อกับไทย และเราก็ยังพัฒนาตลาดในประเทศไทยไปเรื่อยๆ”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup