Tech Startup

Agnos Health สตาร์ทอัพไทยรายแรก! พัฒนาแอปฯ ตรวจสุขภาพตัวเองด้วย AI ที่ช่วยให้ไม่ต้องไปแออัดที่ รพ. 

 

      หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ต้องต่อคิวรอหมอนานร่วมครึ่งวัน เพียงเพื่อที่จะได้พบหมอเพียง 10 นาที ขณะที่โรงพยาบาลก็แออัด และหมอต้องทำงานอย่างหนัก แต่ถึงอย่างนั้น คนไข้ที่มาโรงพยาบาลเพื่อพบหมอมีจำนวนมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ทีเดียวที่เป็นการเข้าไปพบแพทย์โดยไม่จำเป็น ไม่เพียงเท่านั้นยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า จริงๆ แล้วคนไทยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่มีความรู้เพียงพอในการดูแลสุขภาพตัวเอง  

     นี่จึงเป็นที่มาของ Agnos (แอ็กนอส) แอปพลิเคชันที่วิเคราะห์โรคด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยตรวจวิเคราะห์อาการเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล

     “เรามีความตั้งใจที่อยากจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อยกระดับคุณภาพการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของคนไทย แทนที่จะต้องไปโรงพยาบาลแล้วได้ยากลับมา เราสามารถที่จะใช้ Agnos ช่วยเช็กอาการด้วยตัวเองอย่างง่ายๆ ซึ่งผลการวิเคราะห์ความน่าจะเป็นในแต่ละโรคที่ออกมา ก็ทำให้สามารถรู้แล้วว่าอาการที่เราเป็นนั้นมีความจำเป็นต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วหลายคนอาจจะเป็นโรคที่ไม่จำเป็นต้องพบหมอเลยก็ได้ เช่น เป็นหวัด ท้องเสีย โดยสามารถหาซื้อยาตามร้านขายยาได้ ก็จะทำให้ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และหมอก็จะไม่ต้องทำงานหนักด้วย” ปพนวิช ชัยวัฒโนดม CEO และ Co-founder, Agnos Health เล่าถึง Pain Point และที่มาของ Agnos

     Agnos Health เป็น Startup ไทยรายแรกและรายเดียวที่พัฒนา Agnos แพลตฟอร์มที่ใช้ระบบ AI วิเคราะห์อาการและความเสี่ยงส่วนบุคคล ทำให้ทราบว่าอาการดังกล่าวอาจเป็นผลจากโรคใด ซึ่งหากอาการรุนแรงก็จะแจ้งเตือนว่าควรพบแพทย์ แต่หากอาการไม่รุนแรงก็จะให้ข้อมูลสำหรับดูแลตนเอง รวมทั้งแนะนำร้านขายยาโดยเภสัชกรให้ จึงจะช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา  

     ปพนวิชเล่าเพิ่มเติมว่า Agnos ถูกพัฒนาโดยทีมแพทย์และวิศวกรผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่วันแรก ดังนั้น ระบบนี้จึงมีผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำ และมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากแพทย์จริงๆ  

     “เรามีการทดสอบร่วมกับสถานพยาบาลด้วย ตอนนี้พบว่าแอปฯ Agnos มีความแม่นยำประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ในการวิเคราะห์อาการป่วย โดยส่วนที่ผิดพลาดส่วนใหญ่เกิดจากการรายงานอาการเกินความเป็นจริง เช่น ถ้ามีอาการแน่นหน้าอก ก็จะต้องมีการถามว่าแน่นหน้าอกมานานเท่าไหร่ ระดับไหน บางทีจะเจอว่าแน่นหน้าอกมากจนทำงานอะไรไม่ไหว แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการไม่ได้มากขนาดนั้น ซึ่ง AI ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าสิ่งที่เราบอกนั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าสิ่งที่เราบอกถูกต้องความแม่นยำก็จะยิ่งมากขึ้น นอกจากนี้ วิธีการวิเคราะห์อาการป่วยเรายังมีหลากหลายรูปแบบประกอบกัน เช่น ถ้าเป็นโรคทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นการตอบแบบสอบถาม แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพจิตจะเป็นการตอบคำถาม ดูใบหน้าและเสียงด้วย หรือถ้าเป็นโรคกลุ่มสมองก็จะมีเกมหรือมีกิจกรรมให้ทำ เป็นต้น”  

     ถึงวันนี้ Agnos สามารถวิเคราะห์โรคเบื้องต้นได้มากกว่า 200 โรค โดยส่วนใหญ่เป็นโรคพื้นฐานที่พบในคนไทย และมีการใช้งานแล้ว 1.3 แสนคน โดยปพนวิชบอกว่า โมเดลธุรกิจนี้จะไม่เก็บค่าบริการจากผู้ใช้ แต่รายได้จะมาจากบริการเสริมจากพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ร้านขายยา แล็บ คลินิก โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งในเวลานี้ได้มีการเชื่อมต่อกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อทำให้การทำงานครบวงจรยิ่งขึ้น

      “ตอนนี้เราเชื่อมต่อกับร้านขายยาแล้ว อีกไม่นานเราจะเปิดตัวกับโรงพยาบาล ถ้าอาการป่วยมากต้องไปโรงพยาบาลเราก็จะแนะนำให้ด้วยว่าควรไปหาหมอคนไหนที่เหมาะกับอาการที่คุณเป็น ซึ่งมองว่าในอนาคตพฤติกรรมการไปหาหมอจะเปลี่ยนไป ก่อนหน้านี้คนจะผูกติดกับโรงพยาบาล แต่ในวันข้างหน้าจะมีความเป็น Personalization มากขึ้น ไม่ใช่ไปโรงพยาบาลแล้วจบที่ตรงนั้นเลย แต่อาจจะเป็นว่าไปหาหมอที่โรงพยาบาล แล้วไปรับยาจากร้านขายยาใกล้บ้าน เพราะว่ายาที่โรงพยาบาลอาจจะแพงกว่าร้านขายยา”

     ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของ Agnos แอปฯ วิเคราะห์อาการของโรคเบื้องต้นโดยระบบ AI แอปฯ แรกโดยฝีมือของ Startup ไทย ที่ปพนวิชคาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ใช้ถึง 4 แสนราย ซึ่งนอกจากจะสามารถดาวน์โหลดแอปฯ ได้โดยตรงแล้ว ในตอนนี้ยังจับมือกับพันธมิตรอื่น เช่น  my AIS และหมอพร้อม ในการนำ Agnos เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในแอปฯ นั้นๆ ดังนั้น การเติบโตของ Agnos จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน  

     “เป้าหมายของเราคือ อยากให้เวลาที่คนมีปัญหาเรื่องสุขภาพแล้วคิดถึง Agnos ซึ่งสุดท้ายแล้วเราไม่ได้ต้องการที่จะเป็นตัวแทนหมอ ไม่ได้มองแค่การคัดกรองโรค แต่เราพยายามที่จะทำให้คนไทยเข้าใจและดูแลสุขภาพตัวเองได้มากขึ้น นอกจากนี้ เราหวังในเรื่องของการตอบโจทย์เชิงธุรกิจด้วย เมื่อเราให้ Value กับผู้ใช้ ทำให้พาร์ตเนอร์ได้ประโยชน์ แล้วเราต้องสามารถกลับมาสร้างองค์กรที่ยั่งยืนได้ด้วย” ปพนวิชกล่าวถึงเป้าหมายของ Agnos ในตอนท้าย

 

ดาวน์โหลดแอปฯ Agnos ได้ที่นี่  

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup