Text : Vim Viva

     สำหรับคนรักสุนัขแต่ไม่สามารถครอบครองหรือไม่สะดวกที่จะเลี้ยง หลายคนที่อยากเล่นกับสุนัข จึงเลือกที่จะเข้าร้านคาเฟ่สัตว์เลี้ยง แต่กับคนที่อยากคลุกคลีกับน้องหมาแต่ไม่อยากไปคาเฟ่ ที่สิงคโปร์เขามีบริการที่เรียกว่า “เฟอร์พอล” (Furpal) เป็นแพลตฟอร์มคล้ายทินเดอร์ แต่แทนที่จะจับคู่ระหว่างคนกับคน เฟอร์พอลเป็นบริการจับคู่ระหว่างคนกับสุนัข

     ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มนี้คือไคลี่ เตียว บัณฑิตสาววัย 25 ปีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS)   ไคลี่เล่าว่าแนวคิดเกี่ยวกับธุรกิจนี้เกิดขึ้นช่วงที่เธอเข้าร่วมโครงการของ NUS ที่ซิลิคอนวัลเลย์ในสหรัฐฯ แล้วเกิดคิดถึงสุนัขของเธอ จึงคิดว่าจะดีแค่ไหนหากมีแพลตฟอร์มที่จับคู่ระหว่างคนกับสุนัข แพลตฟอร์มที่ทำให้เธอสามารถเลือกสุนัขสายพันธุ์ที่ชอบมาเล่นด้วยชั่วคราว แต่เท่าที่ลองค้นหาดู มีแต่บริการรับจ้างพาสุนัขไปเดิน

     ด้วยเหตุนี้ ไคลี่จึงพัฒนาแพลตฟอร์มเฟอร์พอลขึ้นมาและเริ่มให้บริการเมื่อเดือนกค. 2019 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างคนที่ไม่มีสุนัข กับเจ้าของสุนัขที่ต้องการแบ่งปันสัตว์เลี้ยงให้คนอื่นได้ชื่นชม ผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปเลือกสุนัขบนแพลตฟอร์มจากภาพที่แสดงพร้อมรายละเอียดต่างๆ เช่น สายพันธุ์ เพศ อายุ นิสัย

     เมื่อถูกชะตาตัวไหนก็เลือกและนัดหมายวัน เวลาและสถานที่ โดยเจ้าของสุนัขจะพาสุนัขมาให้ลูกค้าเล่นตามที่นัดหมาย ตามกฎของเฟอร์พอล เจ้าของจะไม่ปล่อยสุนัขไว้กับลูกค้าโดยลำพัง เจ้าของจะอยู่ด้วยตลอดเวลา สำหรับสนนราคาค่าบริการจะอยู่ที่ชั่วโมงละ 10 ดอลลาร์หรือราว 260 บาท และทางแพลทฟอร์มจะหักค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสุนัข 30 เปอร์เซ็นต์

     นับตั้งแต่เปิดบริการมามีเจ้าของนำสุนัขมาลงทะเบียนบนแพลตฟอร์มราว 200 ตัว และมีลูกค้าใช้บริการแล้วกว่า 500 ครั้ง แต่ก็มีกระแสดราม่าในสังคมจากคนเลี้ยงสุนัขว่าเจ้าของไม่สมควรนำสัตว์เลี้ยงมาให้เช่าเช่นนี้เพราะเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

     อย่างไรก็ตาม ไคลี่ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มได้ชี้แจงว่าจุดประสงค์ของการให้บริการก็เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีสุนัขได้มีโอกาสเล่นกับสุนัขเพื่อคลายเหงาหรือเพื่อความสุขทางใจซึ่งเป็นการบำบัดทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ขณะเดียวกัน สุนัขเองก็จะได้ฝึกมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เจ้าของตัวเอง เป็นการลดความเครียด และฝึกไม่ให้มีนิสัยก้าวร้าว หรือขี้กลัว

      เมื่อเทียบกับการใช้บริการคาเฟ่สัตว์เลี้ยง เฟอร์พอลจะแตกต่างตรงที่ลูกค้าได้เล่นกับสุนัขโดยไม่จำกัดสถานที่ สามารถวิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกันได้ ขณะเดียวกัน ลูกค้ายังได้เสวนากับเจ้าของสุนัข และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสุนัข “เราดีใจที่ได้ยินเรื่องราวน่าประทับใจจากลูกค้าจำนวนมาก บริการของเรานำมาซึ่งโมเมนต์ต่าง ๆ เช่น สร้างความสุขให้ลูกค้า บรรเทาความคิดถึงให้ลูกค้าที่สูญเสียสัตว์เลี้ยง หรือบางคราก็เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำดี ๆ เช่น ช่วงการขอแต่งงาน เป็นต้น” ไคลี่กล่าว