Tech Startup

นักลงทุนแบบไหนที่ใช่! Startup ต้องรู้ ถ้าไม่อยากเสียโอกาสระดมทุนสำเร็จ


Text : Methawee T.

     เมื่อเงินทุนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ Startup สามารถอยู่และเติบโตได้ วันนี้เราอยากพาชาว SME Startup ทุกคนมาทำความรู้จัก นักลงทุนของ Startup แต่ละประเภท ที่มีวิสัยทัศน์ วิธีการลงทุน และวิธีคัดเลือกขนาด Startup ในพอร์ตลงทุนแตกต่างกันออกไป โดยเราจะแนะนำนักลงทุนที่เหมาะกับ Startup ขั้นเริ่มต้นจนถึงเติบโตพร้อมเข้าระดมทุนในตลาด หากทุกคนพร้อมแล้ว มาเปิดโลกนักลงทุนกันค่ะ

     1. Friend&Family เหมาะกับ Startup เพิ่งเริ่มต้น มีไอเดียและอยากได้เงินเล็กๆ ก้อนแรกมาใช้เพื่อทดสอบว่าไอเดียที่คิดสามารถทำได้จริงและมีโอกาสทางธุรกิจหรือไม่ การนำเสนอไอเดียให้คนใกล้ตัวฟังเพื่อชวนมาลงทุนเป็นหนึ่งในวิธีการทดสอบความน่าสนใจของไอเดียในเบื้องต้น

         ตัวอย่าง บริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำอย่าง Amazon เอง ในปี 1994 Jeff Bezos  ผู้ก่อตั้ง Amazon นำเสนอไอเดียเพื่อขอทุนก่อตั้งบริษัทจากครอบครัว ญาติ เพื่อนและคนรู้จักจำนวน 50 คน โดยมี 20 คน สนใจและลงทุนให้กับเขาประมาณคนละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

     2. Angle Investors กลุ่มนักลงทุนที่ใช้เงินตัวเองในการลงทุน โดยอาจมีจำนวนเงินที่ไม่สูงเพื่อเปรียบเทียบกับ VC หรือสถาบันการเงิน ด้วยข้อจำกัดด้านจำนวนเงิน Angle Investors จึงเหมาะสำหรับ Startup ในช่วง Early Stages (ระยะเริ่มต้น)

         ตัวอย่าง เมื่อพูดถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple น้อยคนอาจรู้ว่า ในช่วงแรก Mike Markkula อดีตผู้บริหารของ Intel ได้ใช้เงินส่วนตัวของเขามูลค่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเขาเชื่อในไอเดีย และคิดว่าภายใน 2 ปี Apple จะสามารถเติบโตจนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้

     3. VC ย่อมาจาก Venture Capital Fund โดยมีการนำเงินจากหลายๆ แหล่งมารวมกัน เพื่อนำเงินก้อนนี้ไปหาโอกาสในการลงทุนเพื่อมุ่งหวังผลตอบแทน VC จะเริ่มสนใจลงทุนใน Startup ขั้น Early Stage ไปจนถึง Growth Stage สำหรับ Startup ในขั้น Early Stage ขั้นต่ำต้องเป็น Startup ที่มีสินค้าหรือบริการ และเริ่มมี Traction ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้ใช้งาน ตัวเลขรายได้ แต่ยังไม่จำเป็นต้องกำไร โดย VC คาดหวังให้มูลค่าของ Startup ที่ลงทุนเติบโตเพื่อสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูง

         ตัวอย่าง Foundation Capital ลงทุนใน Netflix ในระยะ Early Stage โดยนอกจาก Netflix แล้ว ได้ลงทุนกับ Startup ประมาณ 200 กว่าบริษัท โดยภายหลังผู้จัดการกองทุนได้เปิดเผยว่า ผลตอบแทนที่ได้จากการเติบโตของ Netflix มากกว่ามูลล่า Startup อื่นๆ 199 บริษัทรวมกันเสียอีก

     4. Private Equity มองหา Startup ขั้น Growth Stage ที่สร้างกำไรได้และเติบโต โดยการลงทุนในขั้นนี้มีความเสี่ยงน้อยกว่า การลงทุนแบบ VC โดยการลงทุนของ Private Equity จะเน้นช่วยให้ Startup สามารถขายกิจการให้บริษัทใหญ่ หรือการ IPO ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

         ตัวอย่าง ก่อน AIRBNB จะเข้า IPO ได้มีการระดมทุนจาก Silver Lake and Sixth Street Partners ซึ่งเป็น Private Equity ชื่อดัง โดยการลงทุนมีทั้งแบบหุ้นกู้และการลงทุนถือหุ้น รวมมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

     เนื่องจากลงทุนใน Stage มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน จึงดึงดูดนักลงทุนแต่ละประเภทที่มีความถนัดในการลงทุนและจำนวนเงินที่แตกต่างกันออกไป การที่ Startup เข้าใจนักลงทุนแต่ละประเภทและ Stage ที่ลงทุนจึงช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการระดมทุน


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup