Tech Startup

ล้วงสูตรลับ More Meat เนื้อจากพืชสัญชาติไทย โตทุกปี เปิดบริษัทที่สิงคโปร์ได้ ทั้งที่มีสินค้าเพียงแค่ 1 ตัว


Text : จีราวัฒน์ คงแก้ว

     มอร์มีท (More Meat) คือฟู้ดเทคสัญชาติไทย ผู้พัฒนานวัตกรรมเนื้อสัตว์จากพืช ที่โลดแล่นอยู่ในสนามมาประมาณ 3 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี 2562) โดยมีสินค้าเพียงแค่ 1 ตัว คือเนื้อหมูบดที่ทำมาจากเห็ดแครงและถั่วเหลืองเป็นส่วนผสมหลัก แต่ธุรกิจกลับโตขึ้นทุกปีท่ามกลางคู่แข่งขันที่เพิ่มขึ้น เนื้อหอมจนมีบริษัททั้งไทยและต่างชาติมาร่วมลงทุน ได้เป็น Strategic Partner กับแบรนด์ใหญ่ ล่าสุดยังได้จดทะเบียนบริษัทที่สิงคโปร์เป็นที่เรียบร้อย

     ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เป็นการเดินเกมอย่างมีกลยุทธ์

Plant Based Meat ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยแพสชัน

     มอร์มีท เป็นธุรกิจที่เริ่มต้นจาก 3 พี่น้อง ธนโชติวรพงศ์  พวกเขาไม่มีใครเรียนจบมาทางด้านอาหาร แต่เรียนกันมาคนละสาย ทั้งวิศวะ ดีไซน์ และภาษา การเข้ามาทำธุรกิจจึงไม่ได้มาจากฐานของความเป็นธุรกิจ (Business–based) แต่เกิดจากแพสชัน (Passion–based) ที่มีในตัวล้วนๆ 

     “เราเป็นธุรกิจครอบครัว 3 พี่น้อง ที่ต่างคนต่างเรียนมาตามความสนใจ โดยไม่มีใครเรียบจบทางด้านอาหารเลย จึงเป็นเรื่องของแพชชันล้วนๆ เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม ในโลก เลยเกิดเป็นธุรกิจนี้”

     วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ Co-Founder มอร์มีท (More Meat) บริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด บอกเล่าจุดเริ่มต้นของแบรนด์มอร์มีท ที่เริ่มจากการเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสจากต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อประมาณปี 2560-2561 ก่อนผันตัวมาเป็นผู้ผลิตแพลนต์เบสสัญชาติไทยแท้ในปี 2562 หลังเห็น Pain Point ว่าสินค้านำเข้ามีโซเดียมสูง ทั้งยังนำมาแปรรูปเป็นอาหารไทยลำบาก เนื่องจากส่วนใหญ่เน้นทำเป็นไส้กรอกหรือแผ่นเบอร์เกอร์ไม่ตรงกับจริตคนไทย

     “ตอนนั้นเราเริ่มขายออนไลน์ และร้านอาหารทั่วไป แล้วมีคุณป้าคุณยาย ทักเฟซบุ๊กเข้ามาว่า เขาอยากจะซื้อพวก Beyond Burger ไปทำกะเพราสักชิ้นหนึ่ง อยากรู้ว่าสามารถเอาไปผัดกะเพราได้ไหม แล้วป้าเป็นโรคไตอยู่สามารถทานได้ไหม ซึ่งเราดูข้อมูลโภชนาการแล้วก็พอรู้ว่าสินค้าเหล่านี้มีโซเดียมสูง ไม่เหมาะกับคุณป้า เลยเห็น Pain Point หลายๆ อย่าง รวมถึงการนำมาใช้ที่ยังไม่ค่อยเหมาะกับอาหารไทยเท่าไร ที่สำคัญในเมืองไทยยังไม่มีใครทำ ฉะนั้นคงต้องเป็นเราแล้วล่ะที่จะเริ่มก่อน” เขาบอกจุดเริ่มต้นของการเดินสู่ถนนสายแพลนต์เบส



ใช้ R&D–based สร้างจุดแข็งและต่อยอดแบรนด์

     นอกจากทำธุรกิจด้วยแพสชัน กลยุทธ์หลักของมอร์มีทคือการใช้ R&D ขับเคลื่อนธุรกิจ โดยไม่ได้มองคู่แข่งขัน แต่เน้นฟังเสียงผู้บริโภคเป็นสำคัญ

     “จริงๆ แล้วเราแทบจะไม่ได้เปลี่ยนกลยุทธ์เลยตั้งแต่ทำธุรกิจมา เราทำสินค้าโดยที่ไม่ได้มองว่าคู่แข่งจะออกอะไร  เพราะว่าเราเป็นทีม R&D เราเป็น R&D–based เราผลิตสินค้าโดยการฟังเสียงผู้บริโภคเป็นหลัก และพัฒนาสินค้าที่ออกมาตอบโจทย์เขา โดยไม่ได้ไปดูว่าตลาดเขาทำอะไรกันอยู่ อย่างเช่น ถ้าคู่แข่งทำเป็นเบอร์เกอร์ออกมา เราก็ไม่ได้จะไปทำเบอร์เกอร์แข่งกับเขา แต่เราจะให้ R&D ของเราพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคจริงๆ” เขาบอกกลยุทธ์

     การทำธุรกิจโดยที่มีฐานจาก R&D จะดีกว่าการทำธุรกิจแบบอื่นอย่างไร วรกันต์ บอกเราว่า สิ่งที่จะได้คือทีม R&D จะมีความเข้าใจกรรมวิธีการผลิต และสามารถสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าขึ้นมาได้จริงๆ ซึ่งนั่นเป็นหัวใจของการทำธุรกิจอาหาร

     “ในการทำสินค้าออกมานั้น เรารู้อยู่แล้วว่ากลุ่มผู้บริโภคของเราคือใคร ฉะนั้นการทำสินค้าขึ้นมาสักหนึ่งตัว จึงไม่ใช่ว่าเราจะใช้การนั่งเทียนขึ้นมา แต่เราต้องทำวิจัยตลาด วิจัยผู้บริโภคก่อน ว่าสินค้านั้นมาตอบโจทย์ผู้บริโภคจริง หรือไม่ เขาสามารถทานได้ทุกวันไหม หรือในเรื่องการกำหนดคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโซเดียม ค่าโปรตีน หรือลดการใช้ส่วนผสมที่เป็นของเทียม ไม่ใส่พวกวัตถุปรุงแต่งอาหาร อะไรพวกนี้ นี่คือสิ่งที่เรามองและให้ความสำคัญ เพื่อทำสินค้าของเราให้ตอบโจทย์ที่สุด สำหรับเรา ผู้บริโภคเป็นเหมือนคนในครอบครัว เราอยากให้คนในครอบครัวกินอาหารของเราได้ทุกวันอย่างสบายใจ” เขาบอกแนวคิด



เติบโตต่อเนื่องแม้จะมีสินค้าเพียง 1 ตัว

      ตลอด 3 ปีที่ผ่านมามอร์มีทเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะปี 2563-2564 ยอดขายของพวกเขาโตขึ้นถึง 150 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางผู้เล่นในตลาดที่มากขึ้น และทางเลือกของผู้บริโภคที่รักแพลนต์เบสก็เพิ่มขึ้นเท่าทวี แต่เชื่อหรือไม่ว่าพวกเขายังเติบโตได้ ยังมีสาวกสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มีสินค้าเพียงแค่ 1 ตัวเท่านั้น

     “จนถึงทุกวันนี้ เรามีสินค้าเพียงแค่หนึ่งตัว ก็คือมอร์มีทที่เป็นเนื้อบดอย่างเดียว ตัวเดียว ในขณะที่แบรนด์อื่นเขาทำออกมาหลากหลายมาก ซึ่งวิธีการที่เราออกสินค้าเพียงแค่หนึ่งตัว ทำให้เราสามารถรักษาผู้บริโภคของเราไว้ได้ ค่อนข้างมาก เพราะยิ่งมีสินค้าออกมามากขึ้น ทำให้ลูกค้ายิ่งตกตะกอนว่า จริงๆ แล้วสินค้าที่เขาทานอยู่ทุกวันนั้น ตัวไหนดีที่สุด ซึ่งทำให้มอร์มีท เป็นสินค้าในกลุ่มแพลนต์เบสมีทแบบบด ที่มียอดขายดีที่สุด และมียอดผู้บริโภคกลับมาซื้อซ้ำสูงสุดในตลาดคืออยู่ที่ 60-75 เปอร์เซ็นต์” เขาบอกผลลัพธ์อันน่าทึ่ง

     ทว่าแม้จะมีสินค้าแค่ตัวเดียว แต่การทำธุรกิจบนฐานของการวิจัยและพัฒนาทำให้มอร์มีทยังคงพัฒนาสินค้า “ตัวเดียว” ของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าอัพเกรดอยู่เรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ก็ผ่านมา 3 เวอร์ชันแล้ว

     “แม้จะมีสินค้าเพียงแค่ตัวเดียวก็จริง แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเรามีการอัพเกรดสูตรของเราอยู่เรื่อยๆ จากตอนแรกอาจจะยังมีปริมาณโซเดียมที่ค่อนข้างสูง พอเวอร์ชันที่ 2 เราก็ลดโซเดียมลง ปรับเรื่องของรสสัมผัส และสินค้าเวอร์ชันใหม่ที่กำลังจะออกมาก็เป็นสูตรที่โซเดียมต่ำ ไม่มีกลูเตน ให้ไฟเบอร์สูง มีวิตามินบี 12 ฯลฯ เรานำสิ่งที่ลูกค้าต้องการมาใส่ในตัวสินค้าที่อัพเกรดขึ้นมา เรามองตัวเองว่าเป็นเหมือนไอโฟน คือไอโฟนจะพัฒนาขึ้นทุกปี เราก็อยากให้สินค้าของเราพัฒนาขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน”



ออกสินค้าใหม่ พร้อมแผนเติบใหญ่ในตลาดโลก

     แม้จะมีสินค้า 1 ตัวมาได้ 3 ปี ทว่าในปีนี้จะเป็นปีแรกที่เราจะเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากมอร์มีท  ในรูปแบบของแพลนต์เบสพร้อมทาน (Ready to Eat) ที่จะมาตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคชาวคอนโด คนรุ่นใหม่ไม่มีเวลา ที่อยากทานอาหารแพลนต์เบสให้สะดวกและง่ายขึ้น โดยไม่ต้องนำไปปรุงต่อเหมือนผลิตภัณฑ์เดิมของพวกเขา

     “ในปีนี้เราจะไม่มีโปรดักต์ตัวเดียวอีกแล้ว แต่จะมีประเภทอื่นออกมาด้วย เป็นอาหารพร้อมทาน (Ready to Eat)มากขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันมอร์มีทจะเป็นสินค้าที่ต้องนำไปปรุงต่อ เรียกว่าสินค้าพร้อมปรุง (Ready to Cook) ง่ายๆ คือเหมือนเนื้อหมูทั่วไปที่เอามาปรุงรส เอามาประกอบอาหาร แต่สำหรับลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่เขาอยากทาน แต่ว่าไม่มีเวลาในการไปนั่งเตรียมอาหาร โปรดักต์ใหม่ของเราก็จะตอบโจทย์มากขึ้น”

     ไอเดียต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่มาจากการได้ทำงานร่วมกับหลายๆ แบรนด์ตลอดที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ “วีฟู้ดส์” หนึ่งในผู้ลงทุนของมอร์มีท ที่มีโอกาสออกสินค้าร่วมกันมาแล้วคือ ลาบทอดพร้อมทาน

     “การได้ทำงานร่วมกันทำให้เราได้เรียนรู้ว่า การนำมอร์มีทไปทำอาหารแบบไหนที่ลูกค้าชอบ รสสัมผัสประมาณไหน จึงมองเห็นโอกาส ในปีนี้จึงเป็นปีแรกที่เราจะออกสินค้ากลุ่มนี้ออกมาให้มากขึ้นภายใต้แบรนด์ของเราเอง” เขาบอก

     การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น ยังช่วยเพิ่มโอกาสในตลาดต่างประเทศ หลังปัจจุบันเนื้อจากพืชแบรนด์มอร์มีทส่งออกไปแล้ว ทั้งใน อังกฤษ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ทว่ายังไปในลักษณะส่งให้กับร้านอาหารเพื่อนำไปประกอบอาหาร ทำให้ยังขยายได้ค่อนข้างช้า ซึ่งในอนาคตก็จะเน้นการส่งผลิตภัณฑ์ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศต่างๆ มากขึ้น

ปักธงในสิงคโปร์ มุ่งสู่วิถีโกลบอลแบรนด์

     อีกหนึ่งภาพสะท้อนการเติบโต คือการที่ล่าสุดมอร์มีทได้ไปจดทะเบียนบริษัทในประเทศสิงคโปร์เป็นที่เรียบร้อย เพื่อเป็นฐานทัพขยายตลาดสู่ต่างประเทศ และดึงดูดนักลงทุนที่สนใจ พร้อมทั้งเข้าร่วมโครงการสเปซ-เอฟ (Space-F) เป็นครั้งที่ 2 ในโปรแกรมเร่งการเติบโต (Accelerator) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านธุรกิจอาหารเชิงลึก สร้างมูลค่าหลังเปิดประเทศต่อไปอีกด้วย

     “เราเห็นโอกาสว่า สิงคโปร์มีอีโคซิสเตมที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในแง่ของธุรกิจแพลนต์เบส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎระเบียบ การสนับสนุนจากภาครัฐ การเป็นฮับที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ตลอดจนการทำการตลาดต่างๆ ค่อนข้างมีความพร้อมมาก และยังเป็นตลาดแพลนต์เบสที่ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย เลยอยากให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางของการต่อยอดสู่ต่างประเทศ จึงเลือกปักธงที่นี่ เพื่อทำให้แบรนด์ของเราโกลบอลมากขึ้น ไม่ใช่แค่แบรนด์ในประเทศไทยอีกต่อไป” เขาบอกแผน

     วันนี้จึงเป็นเวลาของการปรับจากความเป็นไทย ไปสู่ความเป็นโกลบอลแบรนด์ในแบบมอร์มีท โดยที่ยังคงรักษาจุดยืนและจุดแข็งของตัวเองไว้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพและผู้บริโภค ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับโลก แม้แต่แผนในการขยับขยายไปในประเทศอื่นก็ด้วยจุดยืนเดียวกันนี้

     “ในอนาคตเราก็มีแผนที่จะพัฒนาการผลิตในประเทศอื่นด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงจะสามารถสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในประเทศนั้นๆ ได้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น การสนับสนุนการเพาะเห็ดแครงซึ่งใช้พื้นที่น้อย เหมือนเป็นแพลตฟอร์มในการที่จะไปในประเทศต่างๆ ซึ่งแนวคิดนี้อาจจะต่างจากต้มยำกุ้งตรงที่ว่า ต้มยำกุ้งเป็นของคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เห็ดแครงเป็นเห็ดท้องถิ่นไทยก็จริงแต่ว่าในแถบอาเซียนก็ยังคงปลูกได้ จึงอยากให้เป็นสิ่งที่คนไทยเริ่มผลักดัน แต่ทั้งภูมิภาคจะโตไปด้วยกัน” เขาบอกในตอนท้าย

     หาโอกาสต่อยอดความสำเร็จและเปิดโลกแพลนต์เบสของคุณให้มากขึ้น พบกับมอร์มีทและแบรนด์ที่มีศักยภาพอีกเพียบ ที่งาน PLANT BASED Festival 2022 มหกรรมอาหารแห่งอนาคต ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 กันยายนนี้ ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5

มอร์มีท (More Meat)
FB :  moremeat.asia
เว็บไซต์ : www.moremeat.asia



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup