Text : rujrada.w

     นักศึกษาสายอาชีพมักเป็นกลุ่มคนที่เรียนไปด้วยและทำงานพาร์ทไทม์ไปด้วย แต่ส่วนใหญ่งานที่ทำกลับไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ เจน-พิมพ์ภัสร์ ปัญญาวริศ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม ARCHI ได้สำรวจนักศึกษาอาชีวะในจังหวัดเชียงใหม่แล้วพบว่าน้องๆ มักทำงานในร้านหมูกระทะ งานก่อสร้าง หรือรับจ้างเก็บลำไย เป็นต้น

     “ต้องบอกว่าคนเรียนสายอาชีพจะกลายเป็นช่างที่มีฝีมือได้ต้องเกิดจากการฝึกฝนบ่อยๆ เป็นประจำ แต่เขาใช้เวลาทุกเย็นไปกับการทำงานในร้านอาหารและได้ฝึกฝีมือจริงๆ แค่ช่วงฝึกงาน 3 เดือนเท่านั้น อย่างเด็กสายไอทีมีกลุ่มที่เขียนโค้ดเป็น สามารถไปช่วยบริษัทที่รับทำระบบจราจรที่สี่แยกในจังหวัดเชียงใหม่ได้ แต่พอถามว่าเด็กส่วนใหญ่ฝึกงานกันที่ไหน เขาบอกว่าที่ อบต. เราเลยคิดว่าทำไมเด็กไม่ได้ฝึกงานที่ซอฟท์แวร์เฮาส์ เราก็เลยเสียดายตรงนี้”

     ประเด็นนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ARCHI ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและเพิ่มโอกาสให้กับนักศึกษาอาชีวะได้ฝึกทักษะฝีมือในสถานประกอบการจริง และที่สำคัญได้รับจ้างค่าจ้างที่สมน้ำสมเนื้อ

ส่งเสริมทักษะนักศึกษาสายอาชีพ

     เจนเริ่มต้น ARCHI ในวันที่ยังเป็นนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ ภาควิชาบัญชี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอเข้าไปปรึกษาอาจารย์ในรั้วโรงเรียนอาชีวะในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งอาจารย์มีรายชื่อสถานประกอบการที่ให้นักศึกษาไปฝึกงานอยู่แล้ว จึงติดต่อไปยังเจ้าของธุรกิจเหล่านี้และเสนอให้เปิดรับพนักงานพาร์ทไทม์

     “เราโทรไปบอกเขาว่ากำลังทำโครงการหนึ่งที่อยากช่วยเด็กๆ พัฒนาทักษะในระหว่างเรียนหรือระหว่างปิดเทอม แต่ขออย่างหนึ่งคือเขาต้องจ่ายเงินค่าพาร์ทไทม์ให้เด็กด้วย ซึ่งหลายๆ ที่เขารู้สึกว่าจะมั่นใจได้อย่างไร เราเลยเป็นคนทำเรซูเม่ให้เด็กๆ ใส่ทักษะของเขาให้ครบถ้วนแล้วส่งให้ผู้ประกอบการ พอเขาโอเคก็ ส่งเด็กไปทำแล้วก็มีทดลองงาน 2 วัน ถ้าเด็กที่ไปทำไม่โอเคก็ส่งกลับมาได้ เขาก็เลยชอบตรงนี้”

     เมื่อฝั่งผู้ประกอบการตอบรับ เจนก็เปิดกลุ่มเฟซบุ๊ก Archi-กลุ่มหางานพาร์ทไทม์และพัฒนาทักษะสำหรับเด็กสายอาชีพ และประกาศเปิดรับสมัครพนักงานสำหรับ 10 สถานประกอบการ

     “เด็กก็มาสมัครประมาณ 45 คน แล้วเราคัดเหลือ 30 คนส่งไปทำงานช่วงปิดเทอมหน้าร้อนที่ผ่านมา สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มมอเตอร์ไซค์ก็มีเด็กกลุ่มมอเตอร์ไซค์สมัครไป หรืออู่รถที่ทำแค่ช่วงล่างรถยนต์ เด็กที่สนใจทำแค่ช่วงล่างอยู่แล้วก็สมัครไป เพราะเด็กเขารู้อยู่แล้วว่าตัวเองเก่งอะไรหรืออยากเก่งอะไรอยู่แล้ว เราเปิดรับน้องๆ ตั้งแต่ระดับ ปวช. จนถึง ปวส. เพราะงานฝีมือแค่ฝึกบ่อยๆ ก็ทำได้ มีพื้นฐานก็สามารถไปต่อได้แล้ว อย่างน้อง ปวช. ปี 1 ที่มาสมัครเป็นช่างแอร์เพราะเทอมต่อไปต้องเรียนทำเครื่องปรับอากาศแต่ไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งหลังจากทำงานไปเรามีแบบประเมินไปให้ผู้ประกอบการ เขาเขียนมาว่าเด็กคนนี้ล้างแอร์คนเดียวเป็นและสามารถติดตั้งแอร์ได้ ฉะนั้นค่าจ้างควรจะเหมาะสม เพราะตอนแรกที่เราส่งไปเป็นเด็กปี 1 กับ เด็กปวช.ปี 5 ก็ได้รับค่าแรงต่างกัน แต่ตอนนี้เราลองวิเคราะห์ดูว่าถ้าเทียบกับทักษะที่น้องมี เราขอปรับค่าแรงได้ไหม ซึ่งสถานประกอบการก็ยอมปรับให้”

อุดช่องว่างความต้องการแรงงานชั่วคราวให้ผู้ประกอบการ

     ARCHI ตั้งต้นคิดจากมุมมองที่อยากส่งเสริมเด็กนักศึกษา แต่เมื่อสอบถามฝั่งผู้ประกอบการโมเดลนี้เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการด้านแรงงานให้กับธุรกิจได้พอดิบพอดี

     “มีหลายสถานประกอบการที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย เราคุยกับดีลเลอร์รถยนต์เจ้าหนึ่งเขาบอกว่าเขาไม่ได้อยากจ้างช่างประจำเพิ่มอยู่แล้ว แต่ว่าบางช่วงมีรถยนต์เข้ามาที่อู่เยอะมาก เขาอยากได้คนเพิ่มในตอนนั้น เขาสามารถจ่ายและเพิ่มต้นทุนแค่ช่วงนั้น หรืออย่างช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาร้านแอร์ที่อยากได้ช่างเพิ่มแค่ช่วงหน้าร้อน แต่หน้าหนาวเขาไม่อยากแบกรับต้นทุนพนักงานประจำไว้อยู่แล้วเพราะรายได้ค่อนข้างน้อย แพลตฟอร์ม ARCHI จึงสามารถจับคู่ความต้องการระหว่างสถานประกอบการกับน้องๆ นักศึกษาสายอาชีพได้”               

     เสียงตอบรับจากฝั่งผู้ประกอบการดีเกินคาด จากความกลัวในตอนแรกที่คิดว่าเด็กๆ อาจจะไม่ตั้งใจทำงานมากนัก เพราะตอนที่เปิดรับเด็กฝึกงานเด็กมักจะมาบ้างไม่มาบ้าง หรือแค่ทำให้จบไป แต่กลุ่มเด็กที่มาทำงานพาร์ทไทม์ขยันและตั้งใจกว่ามาก

     “ตอนแรกเราคิดว่าจะทดสอบตลาดแค่เดือนเดียวแต่กระแสดีจนเราต่อไปเป็น 2 เดือน แล้วเขาก็เพิ่มเงินเดือนให้เด็กทุกคน ซึ่งนี่เป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันเวิร์คมาก เรื่องนี้เป็น learning curve ของฝั่งสถานประกอบการด้วยที่จะต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตเรื่องนี้และให้โอกาสเด็กๆ”