Tech Startup

อากาศดีขายได้! Defire แพลตฟอร์มคาร์บอนเครดิตเพื่อเกษตรกร แค่ลดเผาไร่ ก็ได้เงิน

 

Text : rujrada.w

     รู้ไหมว่า 37% ของฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยเกิดจากการเผาไร่ เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกของพืชไร่ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ข้าวโพด และอ้อยจากทั่วประเทศ Startup ที่ชื่อว่า Defire แพลตฟอร์มคาร์บอนเครดิตสำหรับเกษตรกร จึงเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเลิกเผาและลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลง

     ธีธัช รังคสิริ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Defire ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างคนเป็นภูมิแพ้ที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 ขณะเดียวกันเขาก็ทำงานพัฒนากับเกษตรกรจังหวัดน่าน จึงเข้าในเกษตรกรว่าไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะการเผาเป็นวิธีที่เร็วที่สุด ง่ายที่สุด และถูกที่สุดในการเคลียร์พื้นที่พื่อทำการเกษตรในรอบถัดไป

     “เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์กับทั้ง 2 ฝั่ง คือ คนทั่วไปก็ควรได้มีอากาศสะอาดได้หายใจ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรต้องมีใครเป็นจำเลยของสังคม ก็เลยคิดว่าน่าจะมีโซลูชันอะไรที่จะแก้ปัญหานี้ และเริ่มทำ Defire ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันจากการเผาไร่ได้อย่างยั่งยืน”

 

อากาศที่ดีขายได้

     ถึงจะบอกว่าเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต แต่ Defire เลือกจะสื่อสารกับเกษตรกรด้วยเรื่องใกล้ตัว เช่น ถามว่าปีนี้น้ำเป็นอย่างไร น้ำแล้งหรือน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาที่พวกเขาต้องเจอ ซึ่งทุกคนต่างบอกว่ารู้ว่าเกิดขึ้นเพราะโลกร้อน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือลดการเผาไร่

     “ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าถ้ายังเผากันอยู่มันไม่ดีต่อสุขภาพ แล้วอย่างไรล่ะ เขาก็ต้องการเงินไปซื้อข้าวกิน เราจูงใจเขาไปว่าสุขภาพที่ดีซื้อไม่ได้แต่อากาศที่ดีเราทำให้ขายได้ ซึ่งการที่เขาลดการเผานั่นล่ะ คือการทำให้อากาศขายได้ เวลาเราไปหาชาวบ้านแล้วถามว่าให้เขาเลิกเผาจะเลิกไหม เขาบอกว่าไม่เลิก แต่ถ้าบอกว่ามีเงินให้ เขายอมเลิก มันตรงไปตรงมา คือเรื่องรายได้ปากท้องของเขา เป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใจง่ายที่สุด เราไม่ได้อธิบายเรื่องคาร์บอนฟุตปรินท์ให้ยุ่งยาก แต่อธิบายว่าเขาจะได้อะไร แล้วเขาต้องทำอะไรบ้าง ใช้เงินมาแก้ปัญหา”

 

ลดโลกร้อนด้วย 4 ขั้นตอน ลง-เลิก-รับ-แลก

     นอกจากจะสื่อสารให้เกษตรกรเข้าใจง่าย วิธีการเข้าร่วม Defire ก็ต้องง่ายที่สุดเช่นกัน ด้วย 4 ขั้นตอน คือ

     “ลง” คือ ลงทะเบียน เป็นขั้นตอนของคาร์บอนเครดิตอยู่แล้วที่ต้องยืนยันสิทธิการทำกินของเกษตากร ว่าเขามีสิทธิบนพื้นที่ดินทำกินนั้นจริงๆ ไหม ต้องใช้เอกสารสิทธิ์ หากเช่าก็ต้องมีเอกสารเช่าหรือเอกสารยินยอมจากเจ้าของที่ดินมายืนยัน รวมถึงสมุดบัญชีธนาคารที่เมื่อถึงเวลา Defire ขายคาร์บอนเครดิตได้ก็จะโอนเงินให้

     “เลิก” คือ เลิกเผาไร่ ซึ่งทาง Defire จะรับเอาเศษซากด้านการเกษตร เช่น ฟาง ไปใช้ประโยชน์ต่อแทนการเผา

     “รับ” คือ รับประโยชน์ 3 ต่อ คือ 1. รับรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต 2. รับรายได้จากการขายเศษซากทางการเกษตร และ 3. รับรายได้ที่มากขึ้นจากผลผลิตที่ดีขึ้น เพราะเมื่อเลิกเผา ดินที่ไม่ผ่านการเผาจะฟื้นสภาพ จุลินทรัย์ต่างๆ ในดินฟื้นฟูขึ้นมาทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือผลผลิตของเกษตรกรก็จะดีขึ้น ทำให้ขายได้กำไรมากขึ้นด้วย

     “สมมติว่าเราขายคาร์บอนเครดิตได้ 100 บาท เราหัก 20 บาท แล้ว 80 บาทให้เกษตรกร คือเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลยในการใช้แอปฯ นี้ แค่รอรับเงินเมื่อเราขายได้”

    และในเฟสถัดไป จะมีการ “แลก” คือ เกษตรกรจะได้รับแต้มเท่ากับมูลค่าคาร์บอนเครดิตที่เขาได้รับ แล้วนำไปแลกเป็นเงินสดเหมือนเดิมก็ได้ หรือแลกเมล็ดพันธุ์หรือปุ๋ย ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเกษตรได้

    “ปกติถ้าเขาเผาไร่ สิ่งที่เขาโดนคือจับและปรับ เขาก็ต้องวิ่งหนี เพราะฉะนั้นแค่เขามีรายได้จากการไม่เผาก็เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์สำหรับเขามากๆ แล้ว นอกจากนี้เราทำสิ่งที่เรียกว่า Cost Benefit Analysis เปรียบเทียบต้นทุนกับสิ่งที่เขาจะได้ ซึ่งพอหักลบกลบหนี้ต้นทุนที่เขาจะเสียไปแล้วที่เราทำให้เขาได้รับ 3 ต่อ ช่วยเพิ่มกำไรให้เขาได้ถึง 93% เป็นรายได้เสริมโดยที่เขาทำงานคล้ายเดิม แค่พลิกมุมมอง”

 

ใช้เทคโนโลยีผลักดันการเลิกเผาไร่

    ปัจจุบัน Defire เป็นแพลตฟอร์มแบบไฮบริด คือ สามารถลงทะเบียนและใช้งานผ่านทางแอปพลิเคชัน Defire หรือหากพ่อๆ แม่ๆ เกษตรกรไม่สะดวกใช้เทคโนโลยีก็สามารถยื่นเอกสารเข้าร่วมแบบกระดาษก็ได้เช่นกัน

    แล้วถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าเกษตรกรลงทะเบียนแล้วเลิกเผาจริงๆ จุดนี้ Defire ใช้ดาวเทียมในการตรวจสอบ โดยสามารถดูได้แทบจะเรียลไทม์ จึงสามารถรู้ได้ว่าเลิกเผาจริง หรือหากเกิดอุบัติเหตุที่ชาวบ้านอาจใช้เป็นข้ออ้างได้ว่าไฟลามมาจากที่อื่น ก็สามารถตรวจสอบได้ว่าไฟลามมาจากป่าหรือเขาเผาจนไฟลามไปถึงป่าต่างหาก หรือรู้ได้ว่าจากไร่ของนาย A ลามไปถึงนาย B ก็สามารถตรวจสอบได้เช่นกัน

    ประการที่สอง ใช้วิธีสุ่มตรวจดินที่เรียกว่า Carbon Capture ว่ามีคาร์บอนในดินต่างกันเท่าไร พัฒนาขึ้นมาเท่าไร ซึ่งทางทีมมีข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีอยู่แล้ว

    ปัจจุบัน Defire ลงพื้นที่ไปแล้ว 7 จังหวัดคือ น่าน ขอนแก่น มหาสารคาม พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณ

    “เราเลือกจากพื้นที่ที่มีการเผาเยอะ เราโฟกัสไปตรงจุดนั้นก่อนและเราก็ดูจังหวัดที่เราคอนข้างจะเข้าถึงได้ เริ่มจากพื้นที่ที่เขาเชื่อใจเราด้วยหรือพื้นที่ที่ผู้นำแข็งแรง ชุมชนแข็งแรง”

    และในเมื่อมีการเผาไร่กระจายอยู่ทั่วประเทศ Defire จึงตั้งเป้าจะขยายพื้นที่ไปทั่วประเทศในปีหน้า รวมถึงขยายไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นเรื่องลดการเผาไร่ก่อน ระหว่างนั้นจะพยายามเชื่อมโยง Ecosystem ของภาคการเกษตร และทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยให้เกษตากรสามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำการเกษตรได้มากขึ้นอีก

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup