Tech Startup

Senior Market สตาร์ทอัพเกาหลีที่ช่วยผู้สูงวัยเปลี่ยนจากคนเก็บขยะเป็นอาร์ทติสต์

 

Text : Vim Viva

     สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยคือประชากรวัยทำงานมีจำนวนลดลง และนั่นย่อมส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นอกจากนั้น การถูกผลักออกจากตลาดแรงงานยังทำให้ผู้สูงวัยที่ไม่มีบุตรหลานดูแล สวัสดิการของรัฐไม่ครอบคลุมพอก็ทำให้การใช้ชีวิตในบั้นปลายมีความลำบากขึ้น ปัญหานี้พบเห็นในหลายประเทศเอเชีย แม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึงราวร้อยละ 17 แต่จากการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุเกาหลีใต้กลับเป็นกลุ่มประชากรที่ค่อนข้างยากจน

     ชิม ฮุนโบ หนุ่มเกาหลีวัย 31 ปี จากเมืองกังดง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโซลเมืองหลวง เขาเติบโตจากการดูแลของคุณย่าโดยส่วนใหญ่เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ต้องทำงาน วันหนึ่งเขาสังเกตเห็นว่าบ้านที่คุณย่าอาศัยอยู่ซึ่งไม่ไกลจากบ้านของเขา ที่มุมห้องมีกองกระดาษและกล่องกระดาษที่คุณย่าไปรวบรวมจากข้างนอกพับกองอยู่เพื่อเตรียมแลกเป็นรายได้

     ชิมรู้ว่าคุณย่าไม่เดือดร้อนเรื่องเงินเพราะมีลูกๆ คอยส่งเสียอยู่แล้วจึงถามว่าทำไมจึงยังเก็บขยะขาย คำตอบก็คือ “ไม่มีอะไรทำ จึงเก็บขยะเพื่อฆ่าเวลาไปวันๆ” เขาไม่ต้องการให้คุณย่าแบบนี้เลยเพราะหนึ่งดูไม่ดีในสายตาคนอื่น และสองเขารู้สึกอับอาย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คุณย่าของชิมคนเดียวที่เก็บขยะ เพื่อนๆ ของคุณย่าล้วนทำเช่นเดียวกันเพียงแต่พวกเขาทำเพื่อปากท้องและต้องการเงินจุนเจือตัวเอง

     นับจากนั้น ชิมก็ไม่อาจอยู่เฉยได้ ปี 2017 เขาก่อตั้งบริษัทชื่อ Arip&Werip โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงวัยให้มีงานทำ มีรายได้เป็นของตัวเอง  Arip&Werip ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบและผลิตอุปกรณ์เครื่องเขียน (stationery) ภายใต้แบรนด์ “Senior Market” โดยเปิดโอกาสให้บรรดาผู้สูงวัยทั้งหลายได้เป็นดีไซเนอร์ออกแบบลวดลาย และรังสรรค์สินค้าด้วยมือของพวกเขาเอง

     สินค้าที่จำหน่ายมีหลายชนิดรวมถึงปฏิทิน กระเป๋าสตางค์ การ์ด และพวงกุญแจซึ่งเป็นงานทำมือ สินค้าอาจดูหยาบ แต่กลับได้รับการตอบรับและเป็นที่นิยมของลูกค้าวัย 20-30 ปี การเติบโตของยอดขายเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เดือนสค. 2022 ที่ผ่านมา ยอดขายเพิ่มขึ้น 20 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การที่สินค้าขายดี ส่วนหนึ่งอาจมาจากเทรนด์สินค้าย้อนยุคที่กำลังมาแรงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ชิมมองว่ามีเหตุผลสำคัญอื่นที่ทำให้ Senior Market เป็นที่นิยม

     “จุดแข็งสุดของเราคือการผลิตสินค้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้สูงวัยกับคนหนุ่มสาว สินค้าที่ส่งให้กับลูกค้า ผู้สูงวัยจะแนบข้อความที่เขียนด้วยลายมือไปด้วย” ข้อความที่ว่ามีทั้งอวยพร ให้กำลังใจ และการส่งต่อคำสอนหรือปรัชญาดีๆ

     ชิมให้สัมภาษณ์ว่าที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างวัยทำให้ต่างฝ่ายต่างมองกันอีกแบบ คนสูงวัยมองว่าคนรุ่นใหม่ก้าวร้าวไม่เคารพผู้ใหญ่ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็มองคนรุ่นปู่ย่าตายายว่าหัวโบราณ เขาหวังว่า Senior Market จะช่วยถมช่องว่างและเชื่อมความสัมพันธ์คนสองรุ่นผ่านผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่างๆ ที่ทำร่วมกันในโครงการ Senior Counseling Center ที่ Arip&Werip จัดขึ้น

     อย่างไรก็ดี เป้าประสงค์ในการก่อตั้งสตาร์ทอัพ Arip&Werip ยังคงเป็นการสร้างงานสร้างโอกาสให้ผู้สูงวัย ยกระดับจากคนเก็บขยะมาเป็นศิลปินที่มีงานมั่นคงและทำเงินได้มากขึ้น ชินถึงกับเดินทางไปยังศูนย์ชุมชนแห่งหนึ่งในโซลเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงวัย และตัดสินใจร่วมกับทางศูนย์ตั้งศูนย์ชุมชนขึ้นมาโดยคัดเลือกผู้สูงวัยจำนวน 6 คนที่ไม่มีรายได้มาฝึกอาชีพ จนขณะนี้ได้เพิ่มจำนวนเป็น 16 คนแล้ว

     ชินให้สัมภาษณ์ว่าผู้สูงวัยที่ทำให้กับ Senior Market จะมี 2 กลุ่ม กลุ่มผลิตสินค้าทำมือ กับกลุ่มแพ็คสินค้า นอกจากมีรายได้เป็นของตัวเอง ผู้สูงวัยเหล่านี้ยังได้ให้ทำกิจกรรมที่ลดความเบื่อหน่ายในชีวิตลงได้ ช่วงที่เริ่มโครงการแรกๆ ชินยอมรับว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งคือการโน้มน้าวให้ผู้สูงวัยได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากพวกเขาไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่เชื่อว่าจะมีศักยภาพในการทำงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์ได้

     อย่างไรก็ตาม หลังปล่อยผลงานออกมาและได้เห็นการตอบรับจากลูกค้า ผู้สูงวัยก็เริ่มมั่นใจยอมวาดและระบายสี รวมถึงทำงานฝีมือต่างๆ มากขึ้น ชินคาดหวังว่า Arip&Werip จะเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างปรองดองของคนหลายวัย นอกจากเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้ทำงานสร้างสรรค์ Arip&Werip ยังรับคนรุ่นใหม่เพื่อมาช่วยทำการตลาดให้ เป็นต้น 

ที่มา : 

https://www.koreatimes.co.kr/www/culture/2022/09/262_335787.html

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup