Tech Startup

เมื่อขยะการเกษตรเหลือใช้และไร้ค่า UPCYDE จึงแปลงร่างให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่นราคาสูง

 

Text : rujrada.w

     ท่ามกลางปริมาณขยะในประเทศไทยที่มีเกือบ 25 ล้านตันในปี 2564 “ขยะเหลือใช้ทางการเกษตร” มีปริมาณมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักถูกไถกลบหรือเผาทิ้งกลายเป็นสิ่งไร้ค่า มาย การุณงามพรรณ จึงตั้งโจทย์ว่าอยากจะเอาของเหลือทิ้งเหล่านั้นกลับมาทำให้เป็นวัสดุที่ใช้ได้ใหม่ จนเกิดเป็น UPCYDE แบรนด์ที่แปลงขยะทางการเกษตร อาทิ เปลือกกล้วย เปลือกสับปะรด เปลือกมะนาว และกากมะพร้าว มาสร้างเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย Biotechnology ที่นอกจากจะช่วยลดขยะ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังทำให้สิ่งที่เคยไร้ค่าให้กลายเป็นสินค้ามูลค่าสูง

 

เปลี่ยนขยะทางการเกษตรให้กลายเป็นแฟชั่น

     “มายสนใจเรื่อง Sustainable Material อยู่แล้ว เลยเริ่มศึกษาและคุยกับเพื่อนที่เรียนจบมาจากหลายๆ สาขา ซึ่งเขาจะมีข้อมูลการแปรรูปและพัฒนาต่อยอดว่าจะทำให้ขยะตรงนี้มีมูลค่าได้อย่างไรบ้าง ทำให้เราได้ข้อมูลมาทดลองและพัฒนาเป็นวัสดุต้นแบบ เราเริ่มจากหนังเทียมเพราะว่าเราเห็นการใช้วัสดุในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม เลยคิดว่าถ้าเราทำได้ก็น่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ด้วย”

     งานของ UPCYDE เริ่มตั้งแต่รวบรวมขยะเหลือทิ้ง แล้วใช้เทคโนโลยีใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาและกำลังจดสิทธิบัตรเป็นของตัวเองในการแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งให้กลายเป็นหนังเทียม แล้วนำไปตัดเย็บเป็นสินค้าแฟชั่น อย่าง รองเท้าหรือกระเป๋าหนังออกมาวางขายในราคาที่นับว่าสูง แต่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศและมียอดสั่งซื้อมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วางขายในช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา

     “ตอนที่เราเริ่มขายยังไม่ได้สมบูรณ์ขนาดนั้น แต่เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการแล้ว เขาอยากเอาไปทดลองก่อน เขาเข้าใจว่าอะไรที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ ก่อนหน้านี้เราเน้นขายลูกค้าต่างประเทศทั้งหมด แต่ว่า 1-2 เดือนที่ผ่านมาเริ่มมีบริษัทใหญ่ในประเทศที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ Sustainable Development Goal หรือ ESG ติดต่อมาให้เราผลิตทั้งวัสดุและโปรดักต์สำเร็จ รวมถึงมีลูกค้าในประเทศให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งเป็นลูกค้าที่เข้าใจเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูงด้วย”

              

ปันรายได้ให้เกษตรกร

     นอกจากจะเอาขยะมาแปรรูปเป็นวัสดุใหม่แล้ว สิ่งที่ UPCYDE ทำส่งผลให้คนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานจะได้รับประโยชน์ไปด้วย

     “เราทดลองใช้ขยะตั้งแต่ต้นน้ำคือเกษตรกร กลางน้ำคือโรงงานแปรรูป และปลายน้ำคือพ่อค้าแม่ค้าขายผลไม้ ในทุกๆ ส่วนจะมีขยะเกิดขึ้นในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน แต่ระยะหลังเราโฟกัสในภาคการผลิตคือเกษตรกรมากกว่า ในตอนที่เขาเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วมีบางส่วนที่ขายไม่ได้ ไม่สวย และสุดท้ายก็ต้องเอาไปทิ้ง เราก็เลยพยายามแบ่งขั้นตอนบางส่วนเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย โดยลงทุนเครื่องจักรบางอย่างให้กับเกษตรกรในชุมชนให้เขานำขยะมาแล้วแปรรูปเบื้องต้นให้เรา แล้วนำส่วนที่ใช้ได้มาให้เราใช้ สร้างทางเลือกใหม่ให้กับเกษตากรโดยที่เขาไม่ต้องลงทุนอะไร แค่ลงแรงด้วยกัน จริงๆ เป็นเพียงขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ แต่สามารถสร้างรายได้ให้เขาและเป็นการลดขยะไปด้วย เพราะถ้าเราไม่ทำขยะก็จะถูกฝังกลบหรือบางที่ก็เผาทิ้งทำให้เกิดมลพิษขึ้นมา”

     ในช่วงแรกเกษตรกรยังไม่เห็นภาพว่าทำแล้วมีรายได้จริงไหม มากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรก็มีรายได้เข้ากระเป๋าทุกเดือน

 

มองภาพใหญ่ให้ไกลกว่าแฟชั่น

     จนถึงตอนนี้เรารู้จัก UPCYDE จากสินค้าในเชิงแฟชั่น แต่มายบอกว่าเมื่อทำมาได้สักพัก ได้พูดคุยกับลูกค้าและผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ก็ได้รับคำแนะนำที่ทำให้มองเห็นภาพได้กว้างขึ้น ว่าจริงๆ แล้ว UPCYDE เป็นได้มากกว่านี้

     “เราเริ่มทำแฟชั่นก่อนเพราะแฟชั่นเป็นสิ่งที่คนเข้าถึงง่าย และเราพยายามจะสร้างความตระหนักให้คนเข้าใจได้มากที่สุด ก็เลยทำเป็นโชว์เคสออกมาหลากหลายอย่าง จริงๆ ตอนนี้วัสดุของเราก็นำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นโซฟา แต่อุตสาหกรรมอื่นก็มีปัญหาเรื่องการเอาวัสดุที่เป็นมลพิษมาใช้เหมือนกัน มายเลยคิดว่าเราสามารถไปได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการบริการ (Hospitality) ไปจนถึงด้านการแพทย์

     เทคโนโลยีที่เรามีไม่ได้มีแต่อันเดียวและเราไม่หยุดที่จะพัฒนา เมื่อเราคิดค้นเทคโนโลยีได้อย่างหนึ่งแล้วแต่รู้สึว่าอยากแก้ปัญหาได้มากกว่านี้ สร้างผลกระทบได้มากกว่านี้ เลยวางแผนไว้ว่าก้าวต่อไปจะพัฒนาต่ออย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาในภาคการผลิตให้ได้มากที่สุด”

     UPCYDE เป็น Startup ที่วางแผนจะ scale up ไปในต่างประเทศโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก นอกเหนือจากเทคโนโลยีการแปรรูปเป็นวัสดุที่ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรมแล้ว ในอนาคตจะมีการเก็บคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นระบบ มีการคำนวณว่าการผลิตและขายโปรดักต์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางมีส่วนลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไร ลูกค้าจะรู้สึกมีส่วนร่วม เพียงแค่ซื้อโปรดักต์ของ UPCYDE ก็มีส่วนในการลดการใช้ทรัพยากรไปด้วยกัน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup