Tech Startup

matchday แพลตฟอร์มจองและบริหารสนามกีฬา ช่วยคนรักกีฬามีพื้นที่เล่น ทำให้เจ้าของสนามบริหารง่ายขึ้น

 

Text : rujrada.w

     ปัญหาหนึ่งของคนอยากเล่นกีฬา คือ การจองสนามกีฬา ที่ต้องลุ้นทุกครั้งว่ามีที่ว่างหรือไม่ หรือหากจะหาสนามใหม่ต้องเข้าไปเสิร์ชในอินเตอร์เน็ต แล้วจึงโทรถามและจอง ทำแบบนี้ซ้ำๆ กับสนามต่างๆ เรื่องนี้เป็นเหตุผลให้เกิด matchdayแพลตฟอร์มจองและบริหารสนามกีฬา ที่เข้ามาตอบโจทย์ทั้งฝั่งของผู้เล่นให้สามารถหาและจองสนามได้ง่ายๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เจ้าของสนามกีฬาทำงานได้ง่ายขึ้น

     สิรภพ ญาณวุฒิ ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO บริษัท แมทช์เดย์ ฮับ จำกัด  เป็นตัวแทนของคนชอบเล่นกีฬาที่เจอปัญหาการต้องเสิร์ชหาสนามบ่อยๆ ในขณะที่ผู้ร่วมก่อตั้งคนหนึ่งทำธุรกิจสนามกีฬา จึงเห็น Pain Point ของฝั่งผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่ยังคงใช้กระดาษในการบริหารงาน ทาง matchday จึงได้เริ่มศึกษาและมองเห็นช่องว่างมากมายในอุตสาหกรรมนี้

 

3 แพลตฟอร์มเชื่อม Ecosystem

     ภายใต้ชื่อ matchday แบ่งออกเป็น 3 แพลตฟอร์มที่เชื่อมกันเป็น Ecosystem เดียวกัน

     สำหรับฝั่งผู้เล่น matchday รวบรวมข้อมูลสนามกีฬาทั่วประเทศกว่า 600 แห่ง ทั้งหมด 14 ประเภทกีฬา โดยที่สามารถจองสนามผ่านแพลตฟอร์มได้แล้วกว่า 30 สนามทั่วกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นแบดมินตัน ยิงธนู ขี่ม้า โกคาร์ท และอื่นๆ อีกมากมาย โดยที่การันตีว่าจองแล้วจะมีสนามเล่นแน่นอนแม้จะเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนก็ตาม ในส่วนสนามที่ยังไม่สามารถจองผ่าน matchday ได้ ผู้เล่นสามารถเข้าไปเลือกซื้อคูปองส่วนลดจากสนามได้จากเว็บไซต์และแอปพลิเคชันได้

     “ตั้งแต่เราได้ข้อมูลสนามเข้ามาในระบบ ที่คนมักบอกว่าสนามจะเต็มช่วงไพรม์ไทม์ แต่เอาจริงๆ ไม่เต็ม หลายๆ สนามช่วง 5 โมงถึง 2 ทุ่มยังว่างอยู่ เพียงแต่ว่าสนามที่เราโทรไปอาจเป็นสนามดังที่ลูกค้าแน่นจริงๆ เราโทรไปก็ไม่ว่าง พอเราจะหาสนามใหม่ก็ต้องไปเสิร์ชกูเกิล แล้วโทรอีกที อาจเหนื่อยที่จะโทร แต่ใน matchday พอเสิร์ชช่วงเวลาก็จะเห็นว่าสนามไหนที่สามารถจองได้บ้าง ก็คือจะช่วยเรากรองได้ระดับหนึ่ง ไม่ต้องเสียเวลาโทรไปถาม”

     สำหรับเจ้าของสนามกีฬา matchday ได้พัฒนาระบบที่เข้าไปช่วยบริหารการจองได้ง่ายขึ้นผ่านแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ARENA POS ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานได้ถึง 6-8 ขั้นตอน จากเดิมที่ผู้ดูแลสนามต้องรับสายจากลูกค้า ตรวจสอบช่วงเวลาว่าง ยืนยันการจองและจดการจองลงในสมุด ทั้งหมดนี้ถูกรวบให้เหลือเพียงขั้นตอนเดียว พร้อมทั้งบริการเสริมเพื่อใช้งาน data analytics เพื่อทำการตลาดให้ตรงจุดยิ่งขึ้น

     “เราพัฒนา ARENA POS เพื่อให้ผู้ประกอบการสนามกีฬาได้วัดผลธุรกิจตัวเองได้จริงๆ และเปิดโอกาสให้สนามได้อยู่บนโลกออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ข้อมูลของเราแสดงว่ายอดสมัครใช้งาน ARENA POS ของเราโตขึ้นมาประมาณ 6 เท่าเทียบจากปีที่แล้ว และความพึงพอใจกับการใช้งาน ARENA POS อยู่ที่ระดับ 86% ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า แพลตฟอร์มของเรามีทิศทางไปในทางบวก”

     นอกจากนั้นยังมองหาพันธมิตรด้านระบบ IoT และ Automation มาพัฒนาเพื่อให้สนามกีฬาสามารถบริหารงานได้ง่ายขึ้นกว่าในปัจจุบันและลดงานของคนดูแลสนามลง

     ล่าสุด matchday ได้ทดลองปล่อยแพลตฟอร์มที่ 3 ออกมาในชื่อ matchday Coach มาให้โค้ชและเทรนเนอร์ทดลองใช้งาน โดย matchday Coach จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการคลาสเรียนได้ง่ายขึ้นและเชื่อมต่อกับสนามกีฬาที่ใช้แพลตฟอร์ม ARENA POS ได้อย่างไร้รอยต่อ

     “ยกตัวอย่างสนามเทนนิส ลูกค้าส่วนใหญ่คือโค้ช และลูกค้าของโค้ชก็คือผู้เรียน ถ้าผู้เรียนยกเลิกคลาสอาจารย์ก็ต้องโทรไปยกเลิกสนามด้วย ทำให้ในแต่ละวันอาจารย์กับเจ้าของสนามต้องพูดคุยกันว่าจะยกเลิกคลาสหรือว่ามีนักเรียนหรือเปล่า ซึ่งปัญหานี้แก้ด้วย Matchday Coach อาจารย์จะสร้างคลาสเรียนขึ้นมา ถ้านักเรียนคนไหนสนใจก็กดเข้าร่วมมาก่อนภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งถ้านักเรียนเข้าไม่ทันแล้วคนไม่พอ แมทช์ที่ทางอาจารย์ถืออยู่ก็จะยกเลิกอัตโนมัติ แล้วแมทช์ที่โชว์อยู่ใน ARENA ก็จะยกหายไปโดยอัตโนมัติ ทั้ง 3 แพลตฟอร์มเชื่อมอยู่ใน Ecosystem เดียวกัน ลดการทำงานของทั้งคู่ได้”

 


“ยอดสมัครใช้งาน ARENA POS ของเราโตขึ้นมาประมาณ 6 เท่าเทียบจากปีที่แล้ว
และความพึงพอใจกับการใช้งาน ARENA POS อยู่ที่ระดับ 86%
นั่นแสดงให้เห็นว่า แพลตฟอร์มของเรามีทิศทางไปในทางบวก”


            

สร้างคอมมูนิตี้ของคนเล่นกีฬา

     อีกหนึ่งปัญหาของคนเล่นกีฬาก็คือไม่มีเพื่อนเล่นด้วยกัน ทาง matchday จึงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสร้างแมทช์แล้วรวบรวมผู้เล่นคนอื่นให้มาเล่นด้วยกัน และเร็วๆ นี้จะสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมาในแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาในกรณีที่ยูสเซอร์บางคนอาจจะยังไม่กล้าจองแมทช์ก่อนแล้วรอคนมาเล่นก็จะมีห้องแชทให้เขามาลองคุยและตกลงกันก่อน และอาจจะได้เพื่อนร่วมก๊วนกีฬากลุ่มใหม่ๆ

     “จากประสบการณ์และการศึกษาตลาด เราพบว่าคนไทยชอบการเล่นกีฬาแบบก๊วน / บุฟเฟ่ต์ ซึ่งเป็นเหมือนกับเราจ่ายเงินเพื่อเล่นกับคนอื่น แต่ประเด็นที่ matchday นำไปต่อยอดคือ เราอยากให้ matchday เป็นคอมมูนิตีของคนเล่นกีฬา เพราะบางทีเขาไม่กล้าที่จะสร้างแมทช์ขึ้นมาเพราะกลัวไม่มีคนเข้าร่วม เขาก็ต้องจ่ายเงินทิ้งไปเปล่าๆ สำหรับแมทช์นั้นๆ เพราะระบบของเราบังคับว่าต้องจ่ายเงินเพื่อจองสนาม  พอมีเงื่อนไขนี้เข้ามายูสเซอร์บางคนที่อยากไปเล่นแต่ว่าบางทีคนยังไม่พร้อมถ้าจองไปก่อนเขากลัวจะเสียเงินเปล่า พอเราเห็นปัญหาตรงนี้เราก็เลยอยากทำเป็นคอมมูนิตี้ให้คนเข้ามาคุยกันก่อน ถ้าคุยกันโอเคค่อยจองสนามผ่านแพลตฟอร์มเลยทีเดียว”

           

เชื่อมต่อกับพันธมิตร

     ปัจจุบัน matchday เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถรวบรวมสนามกีฬาต่างๆ ในตลาดได้มากที่สุด และกำลังเติบโตด้วยการมองหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อมาเติมเต็มวิสัยทัศน์ในการสร้างแพลตฟอร์มคอมมูนิตี้ที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงการเล่นกีฬาได้อย่างมีคุณภาพ

     “เราตั้งใจจะเป็นทั้งแพลตฟอร์มและคอมมูนิตี้ของคนเล่นกีฬา ซึ่งตอนนี้เราก็เป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมเพราะเรามีสนามที่จองได้มากที่สุดแล้ว แล้วก็ตอนนี้ทางบริษัทกำลังเปิดระดมทุนรอบถัดไป ต้องการเงินประมาณ 5 ล้านบาท โดยทุนก้อนนี้เราจะมุ่งเน้นไปทางการทำพีอาร์ การตลาดเพื่อเพิ่มผู้ใช้งานในแพลตฟอร์มเพิ่มมากขึ้น และขยายการทำธุรกิจในรูปแบบ B2B2C เช่น บริษัท A ต้องการทำพริวิเลจให้กับพนักงานในเครือในการจองสนามกีฬาต่างๆ เพื่อสร้าง employer branding และเพิ่ม employee engagement ก็สามารถทำแคมเปญร่วมกับทาง matchday ได้”

     ในอนาคตเราอาจจะได้เห็น matchday ต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น เช่น การใช้ Blockchain หรือ Metaverse เข้ามาเสริมสร้างประสบการณ์ในการเล่นกีฬา อย่างการจัดการแข่งขันที่ให้ผู้ชมเข้าร่วมผ่าน Metaverse มาเดินเล่นในสนามและดูการแข่งขันกีฬาผ่านโลกออนไลน์


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup