เปลี่ยนตะเกียบเป็นเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก ธุรกิจรายได้งามของสตาร์ทอัพสิงคโปร์
Text : Vim Viva
“เรามักจะคิดเสมอว่าสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไร แต่จริงๆ แล้ว เรามีทรัพยากรที่ว่าก็คือขยะยังไงล่ะ ตามฟาร์มต่างๆ คุณอาจจะมีผลผลิตเป็นพืชผักให้เก็บเกี่ยว แต่ในเมืองที่หนาแน่นด้วยประชากร ผลผลิตก็คือขยะ ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์พอ เราก็จะสามารถเปลี่ยนขยะเหล่านั้นให้เป็นทรัพยากรได้” เป็นคำพูดของเอเวอลีน ฮิว นักธุรกิจสาวชาวสิงคโปร์วัย 38 ปีเจ้าของ “ช้อปแวลู สิงคโปร์” (ChopValue Singapore) สตาร์ทอัพที่แปรขยะจากตะเกียบไม้ใช้ครั้งเดียวทิ้งนับล้านๆ คู่ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้านดีไซน์เก๋
เอเวอลีนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจแปรขยะจากตะเกียบให้มีมูลค่าว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอไม่ได้นึกถึงเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมหรือการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกสักเท่าไร ช่วงอายุ 20 กว่า เธอเป็นอีกคนหนึ่งที่ช้อปสินค้าแฟชั่นแบบกระจาย เสื้อผ้าหลายชิ้นซื้อมาแล้วไม่ใส่ หรือยังไม่แกะป้ายด้วยซ้ำ กระทั่งแต่งงานมีครอบครัว และมีลูกคนแรก เอเวอลีนจึงเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรแบบไม่บันยะบันยัง
ปี 2015 เธอก่อตั้งบริษัทสมาร์ทซิตี้ โซลูชันส์ เพื่อบริการติดตั้งแถบป้ายอัจฉริยะที่ถังขยะสำหรับรีไซเคิลโดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบว่าขยะในถังมีการปนเปื้อนหรือไม่ บริการนี้มีขึ้นสำหรับผู้จัดเก็บขยะเพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยก การเข้าสู่ธุรกิจนี้ทำให้พบว่ามีขยะปริมาณมหาศาลแค่ไหนถูกผลิตขึ้น
กระทั่งวันหนึ่ง เอเวอลีนเจอเพจ ChopValue Canada บนเฟซบุ๊กที่นำเสนอขั้นตอนการแปรรูปตะเกียบไม้ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้เป็นของใช้ในบ้าน แนวคิดนี้กระตุ้นความสนใจให้เธอเนื่องจากตะเกียบเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเอเชียหลายประเทศรวมถึงในสิงคโปร์ วิถีการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ทำให้มีการใช้ตะเกียบจำนวนมากและลงเอยด้วยการทิ้งเป็นขยะปริมาณสูง
ข้อมูลระบุจำนวนขยะจากตะเกียบไม้ทั่วโลกมีมากถึง 1,500 ล้านคู่ เฉพาะในสิงคโปร์มีประมาณ 500,000 คู่ต่อวัน หากเผาตะเกียบครึ่งล้านคู่ทิ้งก็เท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้าสู่บรรยากาศราว 600 กก. เอเวอลีนตัดสินใจว่าจะดำเนินธุรกิจแปรรูปตะเกียบ จึงติดต่อไปยังเฟลิกซ์ บ็อคผู้ก่อตั้ง ChopValue Canada เพื่อซื้อ know-how ในการผลิต
สิ่งแรกที่เอเวอลีนต้องทำหลัง ChopValue Singapore กำเนิดขึ้นในเดือนเมย.ปี 2021 คือการรวบรวมตะเกียบใช้แล้วทิ้งให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เธอเดินสายคุยกับเจ้าของร้านอาหารและผู้จัดการร้าน แต่ถูกปฏิเสธจำนวนมากเนื่องจากช่วงนั้นกำลังเกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม มีร้านอาหารกว่า 100 แห่งที่ให้ความร่วมมือ รวมถึงโรงพยาบาล 3 แห่ง
สิ่งที่ ChopValue Singapore ทำเป็นเรื่องน่าสนใจทั้งยังไม่เคยเกิดขึ้นในสิงคโปร์จึงถูกรายงานผ่านสื่อและมีการพูดกันปากต่อปาก จากปริมาณตะเกียบที่เก็บได้สัปดาห์ละประมาณ 500 กก.ก็เพิ่มจำนวนขึ้น ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ChopValue Singapore ก็สามารถกำจัดขยะจากตะเกียบได้มากถึง 77 ล้านตัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการเผาทำลายลงได้ 105 ตัน