ยูนิคอร์นหรือจะสู้! สตาร์ทอัพแมลงสาบเท่านั้นที่รอดได้ในยุคเศรษฐกิจฟุบ
Text : Vim Viva
เมื่อพูดถึงความฝันของบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพ เชื่อเถอะว่าจำนวนมากตั้งเป้าอยากไต่ระดับสู่การเป็น “ยูนิคอร์น” สตาร์ทอัพมูลค่าระดับพันล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น หลังจากที่ถูกกล่อมเกลาด้วยเรื่องราวความสำเร็จมากมายของยูนิคอร์นที่ไปถึงเป้าหมายนั้นก่อน แต่ในความเป็นจริง กว่าจะไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีข้อมูลระบุว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่อยู่ได้ไม่ถึง 10 ปี โดยผลการสำรวจพบว่า 21.5 เปอร์เซ็นต์ของสตาร์ทอัพม้วนเสื่อในปีแรกที่เปิดบริษัท 30 เปอร์เซ็นต์เลิกธุรกิจในปีที่สอง 50 เปอร์เซ็นต์พับกิจการในปีที่ 5 และ 70 เปอร์เซ็นต์ปิดบริษัทในปีที่ 10 ซึ่งตัวเลขเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมในช่วงวิกฤติโควิด-19
มีการพูดถึงสถานการณ์ในปี 2023 ที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย การอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนจาก venture capital (VC) ก็ไม่คล่องตัวเหมือนก่อน แนวคิดเรื่องการเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นอาจต้องพักไว้ก่อนแล้วมาโฟกัสว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทอยู่รอดได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนเช่นนี้ ซึ่งคงไม่มีทางใดที่ดีไปกว่าการปรับตัวให้เป็น “cockroach startup” หรือสตาร์ทอัพแบบแมลงสาบ
แมลงสาบอาจไม่ใช่สัตว์โลกที่น่ารัก แต่มันดีเอ็นเอของคำว่า “ฆ่าไม่ตาย” ติดตัวมา จนทำให้มันเป็นสัตว์ที่อยู่คู่โลกมานานกว่า 320 ล้านปี ยาวนานกว่าไดโนเสาร์เสียอีก แมลงสาบแพร่พันธุ์เร็ว มันมีชีวิตอยู่ได้นานนับเดือนโดยไม่กินอาหาร แม้หัวขาดก็ยังอยู่ต่อได้อีก 1 สัปดาห์ เชื่อกันว่าหากระเบิดนิวเคลียร์ลง แมลงสาบเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่อยู่รอด ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้เลยมีการเปรียบเทียบสตาร์ทอัพกับแมลงสาบ
นิยามของสตาร์ทอัพแบบแมลงสาบคือการเติบโตอย่างช้าๆ ทว่ามั่นคง เน้นสร้างรายได้พอๆ กับทำกำไร และให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายและการสร้างความยั่งยืนทางการเงินเพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เรียกง่ายๆ รู้จักใช้เงินอย่างชาญฉลาด เมื่อเผชิญปัญหา สตาร์ทอัพแมลงสาบจะปรับตัวเก่ง ฟื้นเร็ว ความเข้มแข็งอดทนของสตาร์ทอัพแมลงสาบนี่เองที่จะดึงดูดนักลงทุนเพราะมองว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสตาร์ทอัพยูนิคอร์น จึงเป็นไปได้ว่าปี 2023 และในอีกหลายปีข้างหน้า ต่อให้ไม่มีนักลงทุนสนับสนุน สตาร์ทอัพแมลงสาบก็ยังจะโดดเด่นในฐานะผู้ที่อยู่รอดในสภาพเศรษฐกิจขาลง
คุณลักษณะของสตาร์ทอัพแมลงสาบที่ดีประกอบด้วย
-อดทนอดกลั้น สตาร์ทอัพแมลงสาบไม่รีบร้อนที่จะเติบโต นั่นไม่ได้หมายความว่าเจ้าของสตาร์ทอัพจะไม่ต้องการเงินหรือความก้าวหน้า แต่หมายถึงพวกเขาสามารถรอเวลาที่ใช่ และสถานการณ์ที่เหมาะสมในการลงทุน ลงแรง และเวลา
-ไม่นิยมลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ลำพังการก่อตั้งบริษัทก็ใช้ทุนจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว แทนที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อทำสำนักงาน พวกเขาสามารถประหยัดต้นทุนด้วยการเช่าโค-เวิร์กกิ้งสเปซแทนได้ ในส่วนของพนักงาน คนที่ถูกจ้างให้มาทำงานร่วมทีม ต้องมีอุปกรณ์เป็นของตัวเอง เช่น โน้ตบุ๊ก การลดค่าใช้จ่ายด้านนี้จะทำให้มีทุนเหลือในการจ้างพนักงานมากขึ้น
-เน้นกำไรมาก่อนส่วนแบ่งตลาด ไหนๆ ก็ไม่รีบร้อนที่จะเป็นอันดับหนึ่งในตลาดอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนเพื่อการนั้น แต่ให้โฟกัสที่การเติบโตของรายได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเปิดตัวโปรดักส์อะไร ยกตัวอย่างแอปพลิเคชั่นหรือบริการต่างๆ ให้เก็บค่าบริการตั้งแต่ต้นแม้จะเล็กน้อยก็ยังดี การเปิดให้ใช้งานฟรี นอกจากลูกค้าไม่เห็นคุณค่าแล้ว การเรียกเก็บค่าบริการทีหลังยังอาจทำให้เสียลูกค้าอีกด้วย
-สินค้าหรือบริการต้องขายได้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพแมลงสาบไปต่อได้คือสินค้าและบริการเป็นที่ยอมรับและขายได้ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร โดยทั่วไป เมื่อธุรกิจกำลังรุ่ง ผู้ประกอบการมักหันไปจดจ่อกับการระดมทุน แต่สตาร์ทอัพแมลงสาบจะให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าหรือบริการให้ดีขึ้นด้วยทุนที่มีอยู่แม้จะเป็นทุนที่จำกัดก็ตาม
นอกจากนั้น ยังมีคุณสมบัติยิบย่อยอีกมากมายในการเป็นสตาร์ทอัพแมลงสาบ เช่น การเอาชนะทุกอุปสรรคเพื่อความอยู่รอด วางแผนระยะยาวก็ต่อเมื่อมีเงินลงทุนเข้ามา มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาวการณ์ในตลาด มีของดี (สินค้า/บริการ) ในมือแล้วก็ต้องหากลุ่มลูกค้าที่พร้อมจ่ายให้เจอ ด้วยคุณสมบัติต่างๆ ที่กล่าวมา แม้จะเกิดสงครามทางการค้าสักกี่ครั้งหรือรุนแรงเพียงใด สตาร์ทอัพแมลงสาบก็มีโอกาสอยู่รอด