Tech Startup

สตาร์ทอัพไทยอยู่รอดและเติบโตอย่างไรในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ

 

     หากติดตามข่าวธุรกิจด้านเทคโนโลยีต่างประเทศอย่างใกล้ชิด การประกาศลดคนของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้ง Google, Microsoft และ Amazon ต้อนรับปีกระต่ายเพื่อตอบสนองกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่า ปีนี้ทุกบริษัทกำลังรัดเข็มขัดและใช้จ่ายแบบระมัดระวังเพื่อให้มี Cash Flow หรือเงินทุนอยู่รอดจนถึงเศรษฐกิจขาขึ้นอีกครั้ง เมื่อมองย้อนมาที่ประเทศไทย หลายคนคงตั้งคำถามในใจว่า สตาร์ทอัพไทยจะรอดและเติบโตในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจได้อย่างไร วันนี้ อาจารย์มิก-ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคม Thai Startup และ CEO iTAX เปิดอกเล่าอุปสรรคของสตาร์ทอัพไทย ความเชื่อ ความหวัง และการวางแผนรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน แบบหมดเปลือก

สภาวะเศรษฐกิจถดถอยกับความท้าทายในการระดมทุนของสตาร์ทอัพไทย

     “จากการพูดคุยกับนักลงทุนหลายๆ คน และติดตามข่าวเศรษฐกิจโลก ส่วนตัวผมคิดว่าปีนี้อาจไม่ใช่ปีทองของสตาร์ทอัพไทย รวมถึงสตาร์ทอัพทั่วโลก ปัจจัยภายนอกอย่าง Economic Recession ส่งผลโดยตรงกับการระดมทุนของสตาร์ทอัพ ทำให้การระดมทุนในปีนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก” อาจารย์มิกเริ่มต้นเล่าสภาวะตลาดในปัจจุบันที่ส่งผลในเชิงลบต่อการระดมทุนของสตาร์ทอัพ

     “ปกติลักษณะการลงทุนของนักลงทุนไทยจะเป็น Corporate VC (นักลงทุนที่เป็นบริษัทใหญ่ เช่น ธนาคาร บริษัทประกัน บริษัท Retail เป็นต้น) โดยมองหาสตาร์ทอัพที่เติบโตประมาณหนึ่ง มีรายได้ มีลูกค้า หรือพิสูจน์ตัวเองมาประมาณหนึ่ง (Pre A, Series A หรือ Series B) รวมถึงสตาร์ทอัพสามารถมี Synergy อะไรบางอย่างกับบริษัทได้ ซึ่งการลงทุนรูปแบบนี้ไม่เหมาะกับ Seed Stage Startup เท่าไหร่นัก ข่าวดีของปีนี้คือ เริ่มเห็นภาครัฐและภาคเอกชน เห็นความสำคัญของ Seed Stage Startup ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก บางคนมีไอเดีย แต่ไม่มีเงินที่จะเริ่มต้น ทำให้ขาดโอกาส ส่วนตัวผมเชื่อว่าโครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนด้านต่างๆ ทั้งแหล่งเงินทุน หรือการบ่มเพาะองค์ความรู้สตาร์ทอัพขั้นเริ่มต้นของหลายภาคส่วน ช่วยให้ประเทศไทยมี Pool ของ Seed Stage Startup มากพอที่พร้อมจะเติบโตได้ต่อไป”

 

 

อุปสรรคต้นๆ ที่อาจทำให้สตาร์ทอัพไทย “ตาย” ก่อนจะ “เติบโต”

     สมาคม Thai Startup มีการทำแบบสอบถามกับสมาชิกถึงอุปสรรคและปัญหาที่พบเจอระหว่างทาง พบว่า 3 อันดับแรกของอุปสรรคที่สตาร์ทอัพมีร่วมกัน คือ Funding, Tech Talent และ Revenue Model

     “Funding เป็นวาระแห่งชาติเลยก็ว่าได้ สตาร์ทอัพ โดยเฉพาะ Seed Stage มีปัญหาเรื่องการหาเงิน โดยเฉพาะปีนี้ที่เศรษฐกิจอาจไม่เป็นใจนัก ทำให้การระดมทุนอาจท้าทายยิ่งขึ้น โดยสมาคมเรามีโปรแกรมที่ช่วยสมาชิกในการหาเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่การระดมทุนจากนักลงทุนเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนมีนาคม เราจะจัดงาน Grant Day ที่รวบรวมแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ส่งเสริมสตาร์ทอัพใน Stage ต่างๆ โดยมีเงินทุนให้เปล่า ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน นอกจากนั้น เราเป็นตัวกลางที่ช่วยเชื่อมให้สตาร์ทอัพได้เจอและพูดคุยกับนักลงทุน ปีที่ผ่านมา เราได้เชื่อมสตาร์ทอัพกับ ELEA Foundation นักลงทุนรูปแบบ Impact Fund และต้นปีเราจับมือกับสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) เพื่อจัดงานที่นักลงทุนและสตาร์ทอัพได้พบปะและแลกเปลี่ยนกัน”

     “Tech Talent แม้มีไอเดียดีแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่มีคนทำของ เราก็สามารถเปลี่ยนไอเดียให้เป็นจริงได้ โดยปัจจุบันการเข้าถึง Tech Talent ของสตาร์ทอัพมีความท้าทาย เนื่องจากความต้องการ Tech Talent ในตลาดมีสูง ส่งผลให้ต้องแข่งขันการให้ค่าตอบแทนกับบริษัทขนาดใหญ่ ปัจจุบันสมาคมได้จับมือกับสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย เพื่อพัฒนาทักษะ Tech Talent และจับคู่กับสตาร์ทอัพที่มีความต้องการ”

     “Revenue Model สตาร์ทอัพหลายๆ ที่อาจไม่ได้คิดเรื่อง Revenue Model ตั้งแต่ต้น ช่วงแรกอาจเริ่มจากเข็น Product ให้ออกสู่ตลาดก่อนและค่อยหาช่องทางสร้างรายได้ ซึ่งจากประสบการณ์ในการทำ iTAX การใช้ท่านี้ค่อนข้างเหนื่อย สมาคมเราได้มีการจัดให้รุ่นพี่สตาร์ทอัพได้พบปะรุ่นน้องเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์”

 

 

ความหวังของสตาร์ทอัพไทยที่ปลายอุโมงค์

     หลังจากพูดคุยกันถึงปัญหาอุปสรรค อาจารย์มิกพูดถึงความหวังและเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของสมาคม Thai Startup ที่อยากเห็นสตาร์ทอัพไทยได้รับการสนับสนุนและความไว้วางใจจากคนไทย

     “ประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้บริโภคเทคโนโลยีระดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสถิติการใช้อินเทอร์เน็ต การถือครองคริปโตเคอร์เรนซี วันนี้เราอยากเปลี่ยนสถานะจาก User หรือผู้บริโภค เป็น Makers หรือคนคิดค้น พัฒนาเทคโนโลยี ผมเชื่อว่าประเทศเรามี Makers เก่งๆ อยู่มากมาย หากได้รับการสนับสนุน ได้รับโอกาส เทคโนโลยีของคนไทยจะมีที่ยืน”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup