Tech Startup

ส่องไอเดีย Algaeing สตาร์ทอัพอิสราเอลสายเขียว คิดค้นนวัตกรรมสีย้อมผ้า-สิ่งทอจากสาหร่ายทะเล

 

Text : Vim Viva

     เมื่อผู้บริโภครุ่นใหม่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกระทั่งการซื้อเสื้อผ้าแต่ละชิ้นยังคำนึงถึงวัสดุที่ใช้และกรรมวิธีในการผลิตว่ามีความยั่งยืนเพียงใด เพื่อสนองตอบความต้องการ เหล่าสตาร์ทอัพรวมถึงแบรนด์แฟชั่นในวงการจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสด้วยการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เพื่อชูความเป็นแฟชั่นสายเขียว หนึ่งในนั้นคือการพยายามใช้วัสดุจากธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

     ก่อนหน้านั้นจะเห็นมีการใช้เส้นใยจากพืชต่างๆ อาทิ กัญชง เห็ด ยูคาลิปตัสไปจนถึงต้นไผ่มาทำเป็นสิ่งทอ อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “สาหร่ายทะเล” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่นำมาใช้ในฐานะเส้นใยธรรมชาติ และใช้เพื่อการย้อมผ้า ความน่าสนใจของสาหร่ายอยู่ที่การเป็นพืชโตเร็ว ต้นทุนการเพาะเลี้ยงถูก ทั้งยังมีคุณสมบัติดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศได้ นอกจากนั้น การสังเคราะห์แสงของสาหร่ายยังทำให้ปล่อยก๊าซออกซิเจนเข้าสู่บรรยากาศประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว มากกว่าต้นไม้ในป่าก็ว่าได้ สาหร่ายจึงเป็นพืชที่ดีต่อสภาพอากาศมากๆ   

     บริษัทที่โดดเด่นด้านการคิดค้นนวัตกรรมแฟชั่นที่เกี่ยวกับสาหร่ายเห็นจะได้แก่ “แอลจีอิ้ง” (Algaeing) สตาร์ทอัพจากอิสราเอลที่ก่อตั้งเมื่อปี 2016 โดยรีนาน่า เคลบ์ ดีไซเนอร์ที่อยู่ในวงการแฟชั่นมานานกว่า 15 ปี รีนาน่าเล่าว่าเธอเคยทำงานในฐานะดีไซเนอร์อาวุโสให้กับแบรนด์แฟชั่นมีชื่อในอังกฤษ และเยอรมนีโดยรับผิดชอบออกแบบเสื้อผ้า 4 คอลเลคชั่นต่อปี แต่ละคอลเลคชั่นจะมีเครื่องแต่งกาย 80 ดีไซน์ที่จะถูกผลิตออกมา 1-3 ล้านชิ้น จำนวนการผลิตจึงสูงมาก

 

 

     รีนาน่ากล่าวว่าเธอมีความสุขกับการทำงานแต่การได้เห็นฉากหลังของแรงงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ถูกเพิกเฉย และได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากเคมีย้อมผ้าจนทำให้เป็นโรคผิวหนังและมะเร็งทำให้เธอรู้สึกไม่สบายใจ กอปรกับกระบวนการย้อมผ้าด้วยเคมีทำให้ต้องใช้น้ำเยอะมาก มีข้อมูลว่าร้อยละ 20 ของมลภาวะทางน้ำมีต้นตอจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ

     กระทั่งปี 2013 เกิดโศกนาฏกรรมโรงงานสิ่งทอ 5 อาคารซึ่งตั้งอยู่ในรานา พลาซ่า ประเทศบังคลาเทศพังถล่มลงมาทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 1,132 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,500 คน ความคิดที่ผุดขึ้นมาในขณะนั้นคือเธอไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมแบบนี้ รีนาน่าจึงตัดสินใจลาออกจากงาน และไปศึกษาต่อด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืนที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

 

 

     ปี 2016 รีนาน่าก่อตั้งบริษัทแอลจีอิ้งเพื่อดำเนินธุรกิจแปรสาหร่ายทะเลให้เป็น 2 ผลิตภัณฑ์ได้แก่ สีย้อมผ้า และเส้นใยธรรมชาติเพื่อผลิตสิ่งทอ โดยเธอสามารถระดมทุนได้ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดหวังจะระดมเพิ่มอีก 15 ล้านดอลลาร์ในต้นปี 2024 ทั้งนี้ สาหร่ายทะเลสามารถนำมาทำสีย้อมผ้าได้หลายเฉดขึ้นอยู่กับอายุและช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวสาหร่าย สาหร่ายที่แอลจีอิ้งใช้ไม่ใช่สาหร่ายธรรมชาติจากทะเลแต่เป็นสาหร่ายที่เพาะเลี้ยงในฟาร์มทางใต้ของอิสราเอลด้วยระบบปิดและใช้แสงจากพลังงานแสงอาทิตย์

     ในส่วนของการทำสิ่งทอนั้น เส้นใยสาหร่ายสามารถนำไปผสมเส้นใยธรรมชาติจากพืชอื่น ข้อดีของการเพาะสาหร่ายคือนอกจากใช้น้ำน้อยกว่าถึง 80 เปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับการปลูกฝ้าย เส้นใยจากสาหร่ายยังปลอดยาฆ่าแมลง ปลอดสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ แถมยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงดีต่อผิวพรรณเวลาสวมใส่ ปัจจุบัน แอลจี้อิ้งมีลูกค้า 72 แบรนด์ มีทั้งแบรนด์เสื้อผ้ากีฬา แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้าน และแบรนด์แฟชั่นทั่วไป ล่าสุดแอลจีอิ้งเพิ่งเซ็นสัญญาเพื่อจัดส่งวัสดุในการผลิตผ้าอ้อมเด็ก และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยให้กับหายบริษัท รวมถึงบริษัทระดับโลกอย่างคิมเบอร์ลี-คลาร์ค และจอห์นสัน & จอห์นสัน 

 

     รีนาน่าให้ข้อมูลอีกว่าโดยทั่วไปในการผลิตผ้าย้อมสีด้วยเคมีประมาณ 1 ตันจะต้องใช้น้ำอย่างน้อย 200 ตัน ในจำนวน 200 ตันนี้ 180 ตันจะกลายเป็นน้ำเสีย แต่ถ้าใช้สีย้อมจากสาหร่ายเพื่อย้อมผ้า 1 ตัน จะใช้น้ำเพียง 40 ตันเท่านั้น อีกทั้งน้ำที่เหลือทิ้งก็ไม่ก่อมลภาวะอีกด้วย ดังนั้น การย้อมผ้าด้วยสาหร่ายจึงทำให้ประหยัดน้ำได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และไม่ก่อมลพิษใดๆ แม้แต่น้อย

     หลังได้รับรางวัลการเปลี่ยนแปลงระดับโลก (Global Change Award) จากมูลนิธิเอชแอนด์เอ็ม เป้าหมายของรีนาน่าคือการปฏิวัติวงการแฟชั่น อย่างหนึ่งคือพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์การใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้นสำหรับโรงงานหรือผู้ผลิตทั่วโลกที่ต้องการเปลี่ยนจากการใช้เคมีเป็นสาหร่ายจากธรรมชาติในการย้อมผ้าโดยไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม สิ่งที่รีนาน่าคาดหวังในอีก 5 ปีข้างหน้าคือการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมแฟชั่น เธอต้องการเห็นการออกแบบคอลเลคชั่นโดยแบรนด์ต่างๆ มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ อยากให้เป็นเรื่องปกติที่ควรทำ ไม่ใช่ทำแค่กลุ่มเล็กๆ หรือไม่กี่แบรนด์อย่างที่เป็นอยู่   

 

ที่มา :
https://fivemedia.com/interview/the-fashion-insider-fixing-a-broken-industry-with-algae/
https://billiondollarcollection.com/algaeing/
https://www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3208600/why-most-sustainable-fashion-solution-yet-could-be-clothes-made-out-algae


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup