Tech Startup

ส่องสถานการณ์สตาร์ทอัพ ปัจจัยหลักอะไรที่ทำให้ม้วนเสื่อตั้งแต่ช่วงปีแรก

 

Text : Vim Viva

     การเป็นเจ้าของธุรกิจอาจเป็นความฝันของใครหลายคน แต่เมื่อได้ลงมือทำ ก็ใช่ว่าทุกคนจะสุขสมหวังเพราะการดำเนินธุรกิจนั้นยากกว่าที่หลายคนคิด เลยทำให้สตาร์ทอัพจำนวนมากเปิดตัวแล้วไม่ได้ไปต่อ วันนี้พาไปสำรวจสถานการณ์ของสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ผ่านสกายโนวา บริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ออกใบแจ้งหนี้สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ทำการสำรวจข้อมูลสตาร์ทอัพจำนวน 492 รายเมื่อเดือนพย. 2022 พบว่าร้อยละ 20 ของสตาร์ทอัพดังกล่าวม้วนเสื่อพับกิจการในช่วง 2 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ

     โดย 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการล้มเหลวในปีที่ผ่านมาได้แก่ ขาดเงินทุนและไม่มีนักลงทุนสนับสนุน สตาร์ทอัพที่ประสบปัญหานี้มีมากถึง 47% เลยทีเดียว รองลงมา 44% คือเงินหมด สายป่านไม่ยาวพอ และ 33% ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด นอกนั้นก็เป็นปัจจัยรองลงไป อาทิ ดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาไม่ดี มีปัญหาระหว่างทีมงาน การตลาดไม่แข็งแรง การแข่งขันสูง และปัญหาจากตัวสินค้า เช่น ใช้งานยาก หรือไม่เป็นที่ต้องการในตลาด

      จากผลการสำรวจจะเห็นว่าปัญหาใหญ่คือประเด็นเกี่ยวกับการเงินซึ่งจำนวนสตาร์ทอัพที่ประสบปัญหานี้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2021 นั่นเป็นเพราะนักลงทุนไม่มั่นใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจึงทำให้ลงทุนน้อยลง สำหรับผู้ประกอบการที่มีแผนจะเริ่มต้นธุรกิจในปี 2023 นี้มีแนวโน้มจะยังเจออุปสรรคด้านการเงินเนื่องจากการระบาดของโควิดยังไม่ยุติ และสภาพเศรษฐกิจก็ยังไม่แน่นอน

 

 

     การจะเอาชนะวิกฤติและความท้าทายต่างๆ ให้สามารถผ่านพ้นไปได้จนถึงขั้นประสบความสำเร็จนั้น สิ่งสำคัญคือต้องปรับตัวและเพิ่มความยืดหยุ่น 40% ของเจ้าของสตาร์ทอัพพบว่าการปรับตัวเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันไม่ให้ธุรกิจล้มเหลว ขณะที่ 75% ของสตาร์ทอัพที่ปรับตัวสามารถพลิกสถานการณ์เข้าสู่จุดที่ไม่ใช่แค่รอดแต่ยังประสบความสำเร็จอีกด้วย

     สำหรับกลยุทธ์ที่สตาร์ทอัพในกลุ่ม 75% นำมาใช้ประกอบด้วย การเปลี่ยนแผนธุรกิจ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมให้ดียิ่งขึ้น การปรับภาพลักษณ์แบรนด์ การเปลี่ยนทีมทำงาน และระดมทุนเพิ่มจากนักลงทุน

     นอกจากนั้น บรรดาผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ตอบคำถามยังแชร์ข้อคิดแก่คนที่มีแผนจะทำธุรกิจ โดย 79% ประสานเสียงว่า “จงเรียนรู้จากความผิดพลาด” นอกจากนั้นก็เป็นการศึกษาตลาดให้ดี ก่อนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใดๆ ควรต้องมั่นใจว่ามีตลาดรองรับ และกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร รวมถึงการทำแผนธุรกิจอย่างรัดกุมที่สุด

     คำแนะนำต่างๆ ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์กรบริหารจัดการธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐฯ หรือ SBA (Small Business Administration) ที่ระบุว่าแผนธุรกิจที่ชัดเจนมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของสตาร์ทอัพเพราะแผนธุรกิจที่ดีเปรียบดังจีพีเอสที่ทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นภาพว่ากำลังก้าวแบบไหนและไปในทิศทางใด นอกจากนั้น ความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์และปรับตัวอย่างทันท่วงทีก็สำคัญพอๆ กัน

 

 

     หลายคนสงสัยว่าทำธุรกิจอย่างไรให้จึงลดความเสี่ยงที่จะล้มเหลว มีคำแนะนำดังนี้

     1. กำหนดเป้าหมาย ผู้ประกอบการควรรู้ว่าต้องการสิ่งใด และจะนำพาธุรกิจไปถึงจุดไหน หากไม่มีเป้าหมายชัดเจนก็จะทำให้เคลื่อนไหวแบบไร้ทิศทางเหมือนเรือที่ขาดหางเสือ

     2. ศึกษาข้อมูลให้ละเอียด ต้องรู้สภาพตลาด การแข่งขัน และพฤติกรรมลูกค้าว่าเป็นลูกค้ากลุ่มไหน ต้องการอะไร มีกำลังซื้อแค่ไหน ยิ่งรวบรวมข้อมูลได้มากเท่าไรก็จะทำให้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด

     3. รักในสิ่งที่ทำ แพสชั่นหรือความหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะทำให้เกิดความกระตือรือร้น มีพลังใจล้นเหลือในการลุยไปข้างหน้า ตัวตนของเจ้าของธุรกิจจะแสดงออกมาผ่านสินค้าและบริการนั้นๆ

     4. อย่าหยุดยั้ง ไม่ว่าธุรกิจจะดีแค่ไหน อย่าลืมว่าโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน รุ่งแล้วก็สามารถร่วงได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางลบ อย่าสิ้นหวังหรือหมดกำลังใจ ให้ผลักดันตัวเองและเดินหน้าต่อไป

     บทสรุป: สตาร์ทอัพจำนวนมากล้มตั้งแต่ยังไม่ทันตั้งตัวได้ ชี้ให้เห็นว่าในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น ทุกอย่างต้องเข้าที่เข้าทางและดำเนินไปอย่างที่ควรเป็น นอกจากทำตามคำแนะนำของผู้รู้ สิ่งสำคัญสุดอีกอย่างคืออย่าผลีผลาม แหย่เท้าเข้าไปข้างหนึ่งก่อนด้วยการทดสอบไอเดียของตัวเองว่าเวิร์กหรือไม่ ทำการบ้านให้มากๆ ชิมลางเพื่อดูการตอบรับของผู้บริโภคก่อนค่อยแหย่ทั้งสองขาและทุ่มสุดตัว การเคลื่อนไหวด้วยความสุขุมอาจทำให้ธุรกิจแจ้งเกิดลอยลำตั้งแต่ปีแรก ๆ ก็ได้

 


ที่มา :

- https://www.skynova.com/blog/top-reasons-startups-fail
- https://www.cnbc.com/2023/01/20/top-reasons-why-startups-failed-in-2022-study.html?&qsearchterm=startup%20survey


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup