Tech Startup

ส่องเทรนด์เครื่องดื่มที่ผลิตจากน้ำทิ้งในครัวเรือนนำร่องโดยสตาร์ทอัพสหรัฐฯ

 

     ฤานี่กำลังจะกลายเป็นเทรนด์รักษ์โลกแบบยั่งยืนอีกอย่าง นั่นคือการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดด้วยการหมุนเวียนนำมาใช้ใหม่ โดยทั่วไป น้ำที่ใช้แล้วถ้าเป็นตามครัวเรือนอาจนำไปล้างพื้นหรือรดน้ำต้นไม้ แต่เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง น้ำทิ้งจากครัวเรือนจึงถูกรีไซเคิลจนสามารถนำกลับมาบริโภคได้อีก ซึ่งก็มีเทคสตาร์ทอัพหลายรายเริ่มดำเนินการแล้ว หนึ่งในนั้นคือบริษัทเอพิก คลีนเทค (Epic Cleantec) สตาร์ทอัพจากซานฟรานซิสโกที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิบิล และเมลินด้า เกตส์ของบิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์   

     เอพิก คลีนเทคซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดยหุ้นส่วน 4 คนได้แก่ เอียน เลวี่, โอเด็ด ฮัลเพริน และสองพ่อลูก อิกอร์และอารอน ทาร์ทาคอฟสกี้ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำทิ้งขั้นสูง พวกเขาได้ทดสอบโดยการนำน้ำทิ้งในครัวเรือน เช่น น้ำจากการอาบน้ำ น้ำจากการซักผ้า และน้ำจากการล้างจานมาผ่านเครื่องกรองระบบ UF (ultrafiltration membranes) หรือการกรองโดยใช้เยื่อบางที่มีรูเปิดขนาดประมาณ 0.001 เปอร์เซ็นต์ของเส้นผมมนุษย์หรือเล็กกว่าเส้นผมรา 100 เท่า ทำให้สามารถกรองสิ่งสกปรกจากน้ำได้ละเอียด จากนั้นก็นำน้ำที่ได้ไปฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตอีกที

 

 

     น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วถูกนำไปตรวจสอบในห้องแล็บผู้เชี่ยวชาญและได้รับการรับรองว่าสะอาดได้มาตรฐานน้ำดื่ม อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำรีไซเคิลอาจเป็นอะไรที่ทำใจยากสักนิด เพื่อแสดงให้เห็นคุณสมบัติของน้ำที่ผ่านการบำบัดว่ามีความสะอาดพอที่จะดื่มได้ในแง่มุมต่าง ๆ เอพิก คลีนเทคได้ร่วมกับแคนยอน บริววิ่งทำการผลิตเบียร์โดยใช้น้ำทิ้งจากครัวเรือนที่ผ่านขั้นตอนการบำบัดแล้วจากอพาร์ทเมนต์สูง 40 ชั้นอาคารหนึ่งในซานฟรานซิสโก

     เบียร์ดังกล่าวมีชื่อว่า Epic OneWater Brew บรรจุในกระป๋อง เนื่องจากยังติดขัดในข้อกฎหมายของรัฐเกี่ยวกับการเปลี่ยนน้ำทิ้งให้เป็นน้ำประปาดื่มได้ เบียร์ Epic OneWater Brew จึงยังไม่สามารถวางจำหน่ายได้ แต่มีการแจกจ่ายเป็นสินค้าตัวอย่างให้ประชาชนทดลองดื่ม ซึ่งผลตอบรับเป็นไปในทางบวก คาดว่าหากมีการปรับแก้กฏหมายให้น้ำรีไซเคิลสามารถดื่มได้เหมือนในบางรัฐ Epic OneWater Brew คงได้เปิดตัวเข้าสู่ตลาดในไม่ช้า

 

 

     นอกเหนือจากเอพิก คลีนเทคแล้ว ฟ็อกซ์ ซิตี้ บริววิ่ง (Fox City Brewing) ผู้ผลิตเบียร์จากรัฐจอร์เจียก็เป็นอีกบริษัทที่ผลิตเครื่องดื่มจากน้ำทิ้งในครัวเรือน เป็นเบียร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ชื่อ “Revival Lager” คริส บัมพ์ เจ้าของโรงเบียร์และเจ้าของแบรนด์เล่าว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากบริษัทเอชทูโอ อินโนเวชั่น ผู้พัฒนาระบบบำบัดน้ำทิ้งในแคนาดาที่ระบุหากนำน้ำที่บำบัดแล้วให้คนดื่ม แม้จะเป็นน้ำสะอาด คนก็จะไม่ดื่ม แต่ถ้านำไปเปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มอื่น 9 ใน10 จะยินดีดื่ม

     คริส บัมพ์จึงนำมาผลิตเบียร์โดยเขาได้ใช้น้ำจากเทศบาลเมืองลาส เวอร์เจเนสที่เพิ่งสร้างโรงบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นน้ำดื่มโดยใช้นวัตกรรมชั้นสูง เบียร์ “Revival Lager” จากน้ำทิ้งในครัวเรือนได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากราคาจูงใจ คือวางจำหน่ายในราคากระป๋องละ 4 ดอลลาร์เท่านั้นซึ่งถือว่าถูกกว่าหลายยี่ห้อ

 

 

     คาดว่าจะมีผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาจับตลาดเครื่องดื่มที่ผลิตจากน้ำรีไซเคิล นอกเหนือจากเป็นการส่งสัญญาณการปฏิวัติอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีมูลค่าปีละหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กระบวนการผลิตที่สามารถใช้น้ำรีไซเคิลยังจะช่วยบรรเทาวิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะในสหรัฐฯ แต่ยังรวมในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งนี้ สหประชาชาติประเมินว่าปริมาณน้ำจืดบนโลกลดลงเหลือเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำทั้งหมดในโลก สวนทางกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแตะ 8,000 ล้านคนแล้ว การนำน้ำทิ้งในครัวเรือนกลับมาใช้อีกจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต


ที่มา :
- https://www.cnbc.com/2023/06/08/bill-gates-backed-startup-founders-made-beer-from-shower-water.html
- https://www.thedrinksbusiness.com/2023/06/bill-gates-wastewater-beer-could-be-as-disruptive-as-microsoft/
- https://www.thedrinksbusiness.com/2023/05/craft-brewery-sells-out-of-beer-made-from-treated-sewage/

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup