Tech Startup

จากงานอดิเรกสู่ธุรกิจร้อยล้าน สตาร์ทอัพฮ่องกงผุด Wristcheck แพลตฟอร์มซื้อขายนาฬิกาหรูมือสองจับกลุ่มคนรุ่นใหม่

 

     ธุรกิจซื้อขายนาฬิกาหรูมือสองนอกเหนือจากการเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ยังถูกตีตราว่าเป็นธุรกิจของ “ผู้ใหญ่” เมื่อออสเท็น ชู เด็กหนุ่มชาวฮ่องกงที่สนใจในนาฬิกามาตั้งแต่เล็กต้องการเข้ามาสัมผัสโลกของนาฬิกาหรู แต่กลับได้รับการปฏิบัติที่ไม่น่าประทับใจจากผู้ให้บริการ สิ่งนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ออสเท็นมุ่งมั่นพัฒนา “ริสต์เช็ค” (Wristcheck) แพลตฟอร์มซื้อขายนาฬิกาหรูให้เป็นพื้นที่เพื่อโอบรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในสิ่งเดียวกัน

     ด้วยวัยเพียง 26 ปี เรียกได้ว่าออสเท็นประสบความสำเร็จเกินคาด แพลตฟอร์มที่มีอายุเพียง 2 ปีกลายเป็นแหล่งสต็อคนาฬิการาคาแพงแบรนด์ต่างๆ กว่า 35 แบรนด์ รวมมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงหรือราว 900 ล้านบาท โดยลูกค้าเกือบครึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปี ไม่เพียงเข้ามาปฏิบัติธุรกิจการค้านาฬิกาหรู ออสเท็นยังขึ้นแท่นดาวรุ่งในวงการนาฬิกาหรูที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของโลก

     เขาได้รับการยอมรับอย่างมากจากแบรนด์นาฬิกาชั้นนำระดับโลก อาทิ ปาเต๊ะ ฟิลลิปที่ส่งนาฬิกามาให้หลังออสเท็นคาดการณ์เทรนด์ใหม่แม่นเป๊ะก่อนที่ปาเต๊ะจะเปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ ขณะที่เอพี (โอเดอะมาร์ส ปิเกต์) อนุญาตให้ออสเท็นเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับคอลเลคชั่นใหม่ที่กำลังจะวางตลาดก่อนการแถลงข่าวด้วยซ้ำ และในปี 2020 ซีอีโอของเอพีดึงตัวออสเท็นมาร่วมออกแบบนาฬิกา Royal Oak Perpetual Calendar รุ่นลิมิเต็ดที่จำหน่ายเฉพาะในตลาดจีนเท่านั้น ไปดูที่มาที่ไปก่อนออสเท็นจะก้าวมาสู่จุดนี้กัน

 

จุดเริ่มต้น

     ออสเท็นเกิดที่ฮ่องกง มีคุณแม่เป็นชาวจีนและเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เขารู้ตัวว่าชอบนาฬิกาตั้งแต่เรียนอนุบาล ถึงขั้นรักเลยก็ว่าได้ ตอนยังเด็ก คุณแม่ส่งเขาไปอยู่กับคุณตาคุณยายที่เซี่ยงไฮ้ คุณตาของเขาเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ เขาจึงได้เรียนรู้ตัวเลขก่อนพยัญชนะ ABC ทั้งยังบอกเวลาเป็นตั้งแต่ยังเล็ก ตอนอายุ 5 ขวบ คุณแม่ของเขาได้ซื้อนาฬิกาเรือนแรกให้ เป็นนาฬิกาเด็กรุ่น Swatch Flik Flak นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ออสเท็นดำดิ่งไปความหลงใหลในนาฬิกา จนอายุ 15 ก็เริ่มศึกษาข้อมูลจริงจังทางอินเตอร์เน็ต เริ่มดูรุ่นของนาฬิกาและกลไกการทำงาน รวมถึงวิศวกรรมเบื้องหลังการผลิตนาฬิกาแบรนด์ดัง เช่น โรเล็กซ์ ปาเต๊ะ เอพี และโอเมก้า ยิ่งค้นข้อมูลก็ยิ่งถอนตัวไม่ขึ้น 

      ตอนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เซี่ยงไฮ้ ความสนใจในนาฬิกาทำให้เขามักแวะเวียนไปร้านนาฬิกาหรู แต่ทุกครั้งที่เข้าร้านมักได้รับประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจเท่าไร พนักงานจะมองว่าเราไม่มีเงินซื้อ “ซึ่งก็จริง ผมแค่อยากมาดูของจริงหลังจากที่ดูแต่ภาพจากอินเทอร์เน็ต” จากประสบการณ์นี้ทำให้การก่อตั้ง “ริสต์เช็ค” อยู่บนจุดยืนที่ว่าจะทำให้การซื้อขายนาฬิกาหรู และการสะสมนาฬิกาเข้าถึงได้ ไม่น่ากลัว เป็นที่ที่สนับสนุนคนรักนาฬิกา มีความตรงไปตรงมาสำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องของวัย

 

การเกิดขึ้นของ “ริสต์เช็ค”

     ออสเท็นอยากเข้าสู่วงการนาฬิกาแต่ก็รู้สึกเคว้ง เหมือนไม่มีพื้นที่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ เขาเคย DM (ส่งข้อความ) ไปยังไอจีของนาฬิกาหลายแบรนด์แต่ไม่ค่อยได้รับการตอบกลับเท่าไร นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสร้างบัญชีไอจี @horoloupe เมื่อต้นปี 2016 เพื่อโชว์ภาพนาฬิกาที่เขาสะสม มีทั้งซื้อในจีนและซื้อจากต่างประเทศ รวมถึงแชร์ข้อมูลและรีวิวนาฬิกาตั้งแต่ดีไซน์ กลไก และความสวยงามของแต่ละรุ่น  horoloupe กลายเป็นพื้นที่บนโลกโซเชี่ยล แหล่งรวมของคนรุ่นใหม่ที่รักนาฬิกาที่ได้เข้ามาพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน สมาชิกเพิ่มจำนวนเป็นกว่า 500 บัญชีในเวลา 2 ปี

     ปี 2020 ออสเท็นกลับมาปักหลักที่ฮ่องกง และมองหาธุรกิจที่เกี่ยวกับนาฬิกา เพราะฮ่องกงนั้นถือเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของโลกด้านธุรกิจนาฬิกาหรู แม้จะมีประชากรเพียง 7 ล้านคนแต่ยอดขายนาฬิกาต่อปีเฉพาะฮ่องกงที่เดียวมากกว่ายอดขายทุกรัฐในสหรัฐฯรวมกันเสียอีก ขนาดช่วงเกิดวิกฤติโควิดระบาดเมื่อปี 2020 ยอดขายนาฬิกาในฮ่องกงยังสูงกว่าในยุโรป 

     ปลายปี 2021 หลังการระดมทุนและได้รับการสนับสนุนจากโกบี พาร์ทเนอร์ บริษัทร่วมลงทุนจากจีนที่บริหารกองทุน 2 แห่งในฮ่องกงเป็นเงิน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 282 ล้านบาท) “ริสต์เช็ค” ก็กำเนิดขึ้น นอกจากเป็นแพลตฟอร์มและร้านค้าสำหรับฝากซื้อและขายนาฬิกาแบรนด์เนมมือสอง ริสต์เช็คยังเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้แสวงหาความรู้เกี่ยวกับนาฬิกาอีกด้วย “ภารกิจของริสต์เช็คคือการสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการสะสมนาฬิกาให้คนรุ่นต่อไป และจะเป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน”  

 

ฉีกแนวโมเดลธุรกิจแบบเดิม ๆ

     ออสเท็นมองว่าตลาดนาฬิกามือสองเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ละร้านก็ดำเนินธุรกิจมาในรูปแบบเดิม ๆ จนถูกเรียกขานว่าเป็นธุรกิจไดโนเสาร์ แต่ออสเท็นต้องการพัฒนาให้แตกต่างไปจากเดิมโดยยึดปรัชญา “ทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้า” ต่างจากธุรกิจนาฬิกามือสองทั่วไปที่มักทำในรูป “buy low, sell high” ซื้อมาถูกแล้วโขลกราคาสูงจนทำให้ลูกค้าขยาด ริสต์เช็คให้บริการผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น และมีหน้าร้านที่เหมือนเป็นโชว์รูมตั้งอยู่ในห้างแลนด์มาร์ค มอลล์ ฮ่องกง

     ทางร้านมีนาฬิกามากกว่า 35 แบรนด์ให้เลือก เน้นแบรนด์อิสระ อาทิ MB&F, De Bethune, H. Moser & Cie, Greubel Forsey และ Urwerk ทุกเรือนเป็นนาฬิกาฝากขาย ราคามีตั้งแต่ 40,000 ดอลลาร์ไปจนถึงหลักล้านดอลลาร์ มูลค่าของนาฬิกาที่ฝากขายที่ริสต์เช็คอยู่ที่ 200 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงหรือราว 900 ล้านบาท บางคอลเลคชั่นไม่เคยมีในฮ่องกงมาก่อน ก็อาจจะเห็นได้ที่ริสต์เช็ค

     ทั้งนี้ ริสต์เช็คคิดอัตราค่าธรรมเนียมหักจากผู้ขายเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ (เทียบกับในตลาดที่หัก 20 เปอร์เซ็นต์) และหัก 30 เปอร์เซ็นต์จากลูกค้าที่ซื้อ และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ซื้อและผู้ขาย ที่สำคัญนาฬิกาทุกเรือนผ่านการตรวจสอบแล้วว่าเป็นของแท้ มีรายละเอียดครบตั้งแต่ที่มา สภาพนาฬิกา และตำหนิรอยขีดข่วนหากมี เนื่องจากทางร้านไม่มีการสต็อกสินค้า ดังนั้นหากเห็นว่าไม่เหมาะสมกับลูกค้าก็จะไม่เชียร์ขายเด็ดขาด การดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยความโปร่งใสเมื่อเทียบกับการซื้อขายแบบเดิม

 

จับตลาดคนรุ่นใหม่

     ออสเท็นไม่เชื่อว่าการสะสมนาฬิกาเป็นงานอดิเรกของผู้ใหญ่ มองว่าคนรุ่นใหม่ก็สนใจนาฬิกาเหมือนกัน สมาร์ทวอทช์ของแอปเปิลถือเป็นจุดเปลี่ยน ต้องขอบคุณบริษัทแอปเปิลที่แนะนำแอปเปิล วอทช์เข้าสู่ตลาดเมื่อปี 2015 จนกลายเป็นนาฬิกายอดนิยมและทำให้ใครหลายคนหันมาสนใจนาฬิกามากขึ้น กลุ่มเป้าหมายของริสต์เช็คจึงเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี รายได้สูง และมีความต้องการเข้าสู่วงการสะสมนาฬิกา

     หลังเปิดธุรกิจมาพบว่าลูกค้ามีอายุเฉลี่ย 27 ปีและมีกำลังซื้อเกิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเรือน เรียกว่า 95 เปอร์เซนต์ของลูกค้าเป็นกลุ่มระดับสูงที่ต้องการซื้อนาฬิกาเพื่อสะสมไม่ใช่ไว้เก็งกำไร มีการคาดการณ์ว่าปี 2030 ตลาดนาฬิกาแบรนด์หรูจะประกอบด้วยลูกค้า Gen Z มากถึง 1 ใน 3 เนื่องจากการขยายตัวด้านความมั่งคั่ง และอิทธิพลจากโซเชี่ยลมีเดียจากงานอดิเรกสู่ธุรกิจทำเงิน เป้าหมายต่อไปของออสเท็นคือการพัฒนาแอปพลิเคชั่น Wristcheck ให้สามารถไลฟ์สดเพื่อซื้อขายนาฬิกาทั้งในฮ่องกงและทั่วโลกได้ รวมถึงการขยายตลาดไปยังธุรกิจซื้อขายนาฬิกาหรูมือสองสำหรับผู้หญิง

ที่มา :

- https://www.tatlerasia.com/gen-t/leadership/wristchecks-austen-chu-on-ageism-in-the-watch-industry-and-attracting-gen-z-collectors
- https://www.prestigeonline.com/hk/people/austen-chu-whats-the-hype/- - https://thebeat.asia/hong-kong/the-lux/luxury-recreation/meet-austen-chu-hardcore-watch-enthusiast-and-founder-of-wristcheck
- https://www.cnbc.com/2023/03/24/wristcheck-this-26-year-old-from-hong-kong-is-transforming-a-dinosaur-industry.html



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup