Tech Startup

รู้จัก 4 ฟู้ดเทคผู้พัฒนานวัตกรรมอาหารจากห้องแล็บ

 

     ดูเหมือนว่า การคิดค้นพัฒนาอาหารที่สังเคราะห์ขึ้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จะเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นทุกที! ซึ่งด้วยภาวะวิกฤตขาดแคลนอาหารของโลก อันเนื่องมาจากโลกร้อน ภัยธรรมชาติ และประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีสตาร์ทอัพจำนวนมากให้ความสนใจ มีความพยายามที่จะพัฒนานวัตกรรม ผลิตเนื้อสังเคราะห์ หรือเนื้อวิทยาศาสตร์ เพื่อหวังให้เป็นอาหารแห่งอนาคตกันมากขึ้น ไปดูกันว่าสตาร์ทอัพที่โดดเด่นในด้านนี้มีใครกันบ้าง  

1.Upside foods

ผู้ร่วมก่อตั้ง นายแพทย์อุมา วาเลติ, ดร.นิโคลัส จีโนเวส

ปีก่อตั้ง 2015   

     Upside foods หรือเดิมชื่อ Memphis Meats มีสำนักงานใหญ่ในเบิร์กเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ผลงานโดดเด่นคือการพัฒนา “clean meat” เนื้อสังเคราะห์หรือสัตว์ที่ได้จากการเพาะเซลล์ในห้องแล็บ ความก้าวหน้าทางวิทยาการแขนงนี้เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนวงการปศุสัตว์อย่างมาก เนื่องจาก clean meat ไม่เพียงมีสัมผัสและรสชาติเหมือนเนื้อจริงๆ แต่การเพาะเซลล์เพื่อให้ได้เป็นเนื้อสัตว์นั้นใช้ทรัพยากรและพื้นที่น้อยกว่ามาก นอกจากนั้น ยังปลอดยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมนเร่งโต และสารเคมีต่างๆ โดย Memphis Meats เป็นบริษัทที่ผลิตเนื้อก้อน (meatball) ได้สำเร็จเป็นบริษัทแรก จากนั้นก็ผลิตเนื้อไก่และเนื้อวัวจากห้องแล็บตามมา

2.Perfect Day

ผู้ร่วมก่อตั้ง ไรอัน ปันยา, เพอรูมัล คานธี 

ปีก่อตั้ง 2014

     เฟอร์เฟก เดย์ (Perfect Day) ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพจากเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพ ที่ผลิตอาหารแปรรูปจากห้องแล็บและไม่ใช้สัตว์จากฟาร์ม สินค้าของบริษัทเน้นโปรตีนทดแทนผลิตภัณฑ์นมจากวัว โดยการใช้ยีนส์หรือดีเอ็นเอจากนมวัวมาเติมด้วยจุลินทรีย์จากธรรมชาติอย่างยีสต์เพื่อสร้างโปรตีนที่มาจากนมด้วยการหมัก เช่น เวย์หรือเคซีน ซึ่งได้คุณค่าทางโภชนาการครบ ทั้งโปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุไม่ต่างจากนมที่รีดจากแม่วัว  

     ผลิตภัณฑ์โปรตีนของเพอร์เฟก เดย์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากกแลคโตส –น้ำตาลในนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่คนจำนวนมากแพ้ ปราศจากฮอร์โมนตกค้าง และไม่มีคอเลสเตอรอล ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคกลุ่มวีแกนหรือมังสวิรัติ และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงนมวัวแต่ยังโหยหารสชาติแบบนมวัวแท้ๆ อยู่  

     ผลิตภัณฑ์ของ Perfect Day Foods นอกจากนมแล้วยังถูกแปรรูปเป็นสินค้าอื่น เช่น ไอศกรีม ชีส และโยเกิร์ตอีกด้วย 

     สามารถอ่านต่อได้ที่ https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/7429.html

3.Shiok Meats

ผู้ร่วมก่อตั้ง สนธยา ศรีราม 

ปีก่อตั้ง 2018  

     Shiok Meats เป็นสตาร์ทอัพสิงคโปร์ ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตเนื้อกุ้งล็อบสเตอร์จากการเพาะเซลล์ในห้องแล็บ จากนั้นก็ผลิตเนื้อกุ้งธรรมดาและเนื้อปูตามมา โดยที่เนื้อกุ้งเทียมจากห้องแล็บนั้นจะมีสัมผัสคล้ายเนื้อบด แต่รสชาติเหมือนกุ้ง ส่งผลให้ Shiok Meats ขึ้นแท่นบริษัทแรกในอาเซียนที่ผลิตเนื้อกุ้งจากแล็บเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตเนื้อกุ้งเทียมจากแล็บยังคงสูงอยู่ แต่สนธยาตั้งเป้าจะพยายามทำให้ราคาจำหน่ายลดลงกว่านี้

     สามารถอ่านต่อได้ที่ https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/7154.html

4.Mosa Meat

ผู้ร่วมก่อตั้ง มาร์ก โพส, ปีเตอร์ เวสเตรท

ปีก่อตั้ง 2015  

     Mosa Meat บริษัทสตาร์ทอัพผู้พัฒนาเนื้อจากห้องแล็บจากเนเธอร์แลนด์ ก่อตั้งโดย มาร์ก โพส ศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาระบบไหลเวียนเลือด จากมหาวิทยาลัยมาสทริชท์ และปีเตอร์ เวสเตรท นักเทคโนโลยีการอาหาร โดยในตอนแรกทั้งคู่ได้พัฒนาเนื้อเบอร์เกอร์จากสเต็มเซลล์ในห้องทดลองขึ้นมา โดยมีการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารที่ได้ชิม ซึ่งหลายคนบอกว่าเนื้อเบอร์เกอร์ดังกล่าวแม้จะมีรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ แต่ค่อนข้างแห้ง หลังจากนั้นปี 2015 ก็ได้ก่อตั้งบริษัท Mosa Meat ขึ้นเพื่อหวังแก้ปัญหากระบวนการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิมที่ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปัญหาทางจริยธรรมในการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำเนื้อมาบริโภค ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิสูจน์ว่าเนื้อปลูกมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภคโดยมนุษย์ โดยผลิตภัณฑ์แรกที่จะวางจำหน่ายคือ เนื้อบด

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup