Tech Startup

คนทำธรรมดาๆ ก็มีคาร์บอนเครดิตได้! ทำความรู้จัก CERO Carbon Wallet แอปฯ ที่เปลี่ยนความรักษ์โลกเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล

 

     เมื่อเรื่องของคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าโลกของเราร้อนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกก็คือ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ คาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่สามารถจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ และกลายเป็นเรื่องของการกีดกันทางการค้า จนนำไปสู่ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต    

     อย่างไรก็ตาม การตระหนักรู้และการลงมือที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ไม่จำกัดว่าต้องเป็นองค์กรใหญ่ๆ เท่านั้น คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถร่วมด้วยช่วยกันทำได้ แต่ทำไมเมื่อคนธรรมดาๆ ที่ตั้งใจอยากช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จึงไม่สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้เหมือนองค์กรใหญ่

     ต่อ Pain Point นี้จึงทำให้ ศกยง พัฒนเวคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จํากัด พัฒนาแอปพลิเคชั่น CERO Carbon Wallet ขึ้นมา โดยเป็นแอปที่ส่งเสริมให้ผู้คนมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยการแปลงกิจกรรมของคนทั่วไปให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล

     “เวลาที่พูดถึงเรื่องของคาร์บอนเครดิตเราจะเห็นภาพว่ามีแต่บริษัทใหญ่ที่ทำกัน แต่คนธรรมดาๆ ที่ทำดี ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกับบริษัทใหญ่ๆ ที่อาจจะทำในสกลที่ใหญ่กว่าสามารถขอคาร์บอนเครดิตได้ แต่ทำไมคนทั่วไปถึงขอบ้างไม่ได้ บริษัทปลูกป่าได้คาร์บอนเครดิตแล้วทำไมเราซึ่งปลูกป่าเหมือนกันไม่ได้คาร์บอนเครดิต หรือการแยกขยะเก็บขยะบริษัทใหญ่ทำ CSR เก็บขยะริมหาดปรากฏว่าได้คาร์บอนเครดิต แล้วทำไมเราเก็บขยะแยกขยะถึงไม่ได้คาร์บอนเครดิต”

     นี่จึงเป็นที่มาของแอปฯ CERO Carbon Wallet ซึ่งศกยงบอกต่อด้วยว่า CERO Carbon Wallet เป็น Deep Technology หรือเทคโนโลยีขั้นสูงที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถวัดปริมาณการลดคาร์บอนจากกิจกรรมที่ทำได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านแอปฯ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน โดยเขาใช้เวลาปีกว่าในการพัฒนาแอปนี้ ที่เป็นการใช้เทคโนโลยีผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็น Machine Learning, AI, IoT และ Blockchain โดยมีจุดเด่นคือแม้จะทำกิจกรรมขนาดเล็กที่สุดก็สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นคาร์บอนเครดิตได้ เช่น เพียงปลูกต้นไม้ 1 ต้นก็สามารถเปลี่ยนเป็นคาร์บอนเครดิตได้   

     “ในการทำงานนี้เราร่วมกับองค์กรใหญ่ๆ เช่น เดอะมอลล์ กรุ๊ป, OR โดยถ้าเพียงซื้อสินค้าคาร์บอนต่ำและสินค้าฉลากคาร์บอนก็ถ่ายรูปบิลมาอัพในแอปฯ หรือปลูกต้นไม้ที่บ้านถ่ายรูปอัพขึ้นไป AI ก็จะวัดความเติบโตของต้นไม้ให้ว่าพันธุ์อะไร มีจำนวนทั้งหมดกี่ใบ ความเขียวขนาดนี้ แปลว่าช่วยลดคาร์บอนได้วันละเท่าไหร่แล้วก็เก็บเป็นคาร์บอนเครดิตให้เรา สะสมเป็น Point แล้วเราก็รวบรวมขาย แต่คำว่าขายก็คือไม่ได้เทิร์นเป็นเงิน อย่างเดอะมอลล์ที่เรามีความร่วมมือกันก็ให้ Voucher มาแทน ขณะที่องค์กรใหญ่ต้องการคาร์บอนเครดิตอยู่แล้วก็เกิดเป็น CRM แทนที่จะต้องรณรงค์จ่ายเงินปลูกป่า ก็เปลี่ยนมาให้ Voucher ที่เขาอยู่แล้วแทน หรืออาจจะเอา Point ไปแลกกับกาแฟที่อเมซอนก็ได้ ซึ่งต่อไปเราก็จะขยายความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ มากขึ้น”

      ศกยงบอกว่าการให้คาร์บอนเครดิตระดับบุคคลนี้ CERO Carbon Wallet ได้รับการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จึงมีความเชื่อถือได้ มากไปกว่านั้น CERO Carbon Wallet ยังถือเป็นแอปฯ รายแรกและรายเดียวในโลกที่ให้คาร์บอนเครดิตกับคนทั่วไป โดยหลังจากเปิดให้บริการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็มียอดผู้ใช้แอปฯ นี้ประมาณ 50,000 คน และศกยงยังได้วางแผนว่าปีหน้าจะเปิดตลาดที่ประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นอีกด้วย  

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup