Tech Startup

คุยกับ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผอ.ดีป้า โอกาส-จุดแข็ง และสตาร์ทอัพไทยจะไปทางไหน

 

     เป็นเวลา 6 ปีที่ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ปลุกปั้นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ตามเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมการใช้นวัตกรรมดิจิทัล พัฒนาคนที่มีทักษะดิจิทัล การลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล และยังคงไม่หยุดเดินหน้า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ ในปี 2567 ดีป้าจะมีโครงการอะไรใหม่ๆ และสตาร์ทอัพไทยจะก้าวผ่านความท้าทายต่างๆ อย่างไร มาฟังคำตอบจากผู้อำนวยการใหญ่ดีป้ากัน

5 Tech ที่ต้องจับตามอง

     ผอ.ดีป้าบอกว่า หากจะวิเคราะห์ว่า Tech ด้านไหนที่น่าสนใจและสตาร์ทอัพควรจะไปทางไหน ต้องดู Strength-จุดแข็ง กับ Opportunity-โอกาส เพราะหากเอาจุดแข็งกับโอกาสมารวมกันก็จะทำให้สตาร์ทอัพไทยสามารถสเกลได้ แต่ถ้าสตาร์ทอัพคิดแบบบ้านๆ เช่น เห็นว่ามีคนทำเดลิเวอรี่ก็อยากจะทำบ้าง ถามว่าควรทำอีกไหม ก็ควรทำแต่ว่าอาจจะแข่งขันยาก เพราะจะไม่มีจุดแข็งและโอกาส ดังนั้น จึงมองภาพสตาร์ทอัพไทยที่มีจุดแข็งกับโอกาสใน 4 เรื่องคือ

     1. HealthTech

         ผอ.ดีป้าบอกว่าต้องยอมรับว่าคนไทยมีความสามารถด้าน hospitality สูง การทำ Tech เหล่านี้ไม่มีใครมีจริตและวัฒนธรรมเท่ากับคนไทยอีกแล้ว ซึ่งการทำ Health Tech ต้องอาศัยความเป็น hospitality ใส่ลงไปด้วยจึงจะเป็นจุดแข็งและโอกาสของสตาร์ทอัพไทย  

     2. AgriTech

         ต้องยอมรับการค้าขายสินค้าทางการเกษตรถูกล็อคด้วย Data ซึ่งไทยยังมีจุดอ่อนด้าน Data อยู่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การขาย ซึ่ง Big Data ด้านการเกษตรยังไม่ได้ถูกดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เป็นเศรษฐกิจที่ควรจะสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้คนไทยพ้นผ่านจากการเป็นประเทศที่ยากจน

     “ปัจจุบันยังไม่มี Data ในการ matching กับความต้องการตลาดโลก ขณะที่การขับเคลื่อนเทคโนโลยีการเกษตรที่เราใช้อยู่ไม่เพียงพอ มีแพลตฟอร์มในการเกษตรช่วยเหลือในการ matching ตลาดบ้างแต่ยังไม่ได้เป็น Deep Tech จุดนี้เรามีทั้งจุดแข็งและมีจุดอ่อน แต่ถามว่าควรทำไหมก็ควรทำเพื่ออย่างน้อยสามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดมาได้ไม่มากก็น้อย” 

     3. TravelTech

         การท่องเที่ยวถือเป็นจุดแข็ง แต่ก็มีอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของคนที่ดำเนินการ กล่าวคือทุกคนอยากทำ Travel Tech ทุกจังหวัดทุกพื้นที่อยากจะมีเว็บไซต์ท่องเที่ยว แต่เว็บไซต์เหล่านั้นไม่สามารถไปถึงประตูลูกค้าได้ จึงเป็นเว็บที่ทำให้เกิด waste แต่ถ้าในอนาคตเมืองไทยทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวตั้งแต่เส้นทางการเดินทาง โรงแรมขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และอื่นๆ มารวมอยู่ด้วยกันก็จะดีมาก

         “ทุกวันนี้โรงแรมจะสื่อสารตรงไปหาลูกค้าแบบ B2C ผ่าน Agoda, Traveloka, booking.com ซึ่งเป็นลักษณะ individual จึงทำให้ Marketing Power ลดลง ฉะนั้นเราต้องสร้าง Marketing Power ของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เมืองไทยมีจุดแข็ง โดยการพัฒนาแพลตฟอร์ม ทำให้เกิดเครือข่ายซัพพลายเชนของทุกอย่างในอุตสาหกรรมนี้แบบ B2B แล้วเอา B2B ทั้งหมดนี้ไปต่อรองกับทางแพลตฟอร์ม B2C อื่น การเปลี่ยนแปลงแบบนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงบนแพลตฟอร์มของธุรกิจที่อยู่บนเศรษฐกิจดิจิทัลที่เราต้องอาศัยการต่อรองบนแพลตฟอร์มที่มีอำนาจมากกว่า แต่ถ้าทำได้ก็จะเกิด Marketing Power”   

     4. FinTech

         “ถ้าพูดถึงฟินเทคเราอาจจะต้องมีการแข่งขันกับทางสิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งมีความโดดเด่นมาก ถ้าจากซิลิคอนซึ่งเป็น Deep Tech เราตามไม่ทัน ดังนั้นถ้าเป็น FinTech ที่เกี่ยวกับการบริการก็พอไปได้”

     5. Deep Tech ด้าน AI

         “ทุกวันนี้ผู้ผลิตและให้บริการ AI อยู่นอกประเทศไทย AI เหล่านั้นถูกเข้ามาเป็น algorithm platform ต่างๆ ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้มี AI ของเมืองไทยบ้าง เพื่อให้คนไทยสามารถใช้ AI ที่ไม่ได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ซึ่งถ้าเรามีสตาร์ทอัพให้บริการ AI แบบนี้แล้วเอา AI โยนเข้าไปในโรงงานเพื่อให้เครื่องจักรของโรงงานมี Machine Learning รวมถึงการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอื่นด้วยเช่นการเกษตรการ ก็จะดีมาก นี่เป็นอีกหนึ่ง Tech ที่มีศักยภาพในการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดและสร้างจุดแข็งขึ้นมาได้”

กางแผนโครงการที่มุ่งเน้นปี 2567  

     ในฐานะองค์กรหลักของประเทศที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมดิจิทัล การพัฒนาคนที่มีทักษะดิจิทัล ตลอดจนการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล ในปี 2567 ดีป้าวางแนวทางที่จะมุ่งเน้นไว้ดังนี้

     1. ชุมชนโดรนใจ

         เป็นโครงการที่ทำให้เกษตรกรมีการใช้โดรนในการทำการเกษตร เหมือนกับสมัยก่อนที่ต้องเช่ารถแทรกเตอร์ไถนาแต่ในวันนี้ต้องใช้โดรนพ่นยาฆ่าแมลงพ่นปุ๋ย โดยคาดว่า ภายใน 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศจำนวน 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการใช้โดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน ครอบคลุมถึง 4 ล้านไร่ จากนั้นก็จะขยายผลต่อไป

     2. Coding School 

         ดีป้าให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ Coding กับเด็กๆ ไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านดีป้าได้ยกระดับโรงเรียนกว่า 1,500 โรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัลด้าน Coding

         อย่างไรก็ตาม นอกจากการส่งเสริมทั่วไปแล้วในปีหน้ายังจะมุ่งเน้นไปที่คุณครูให้ได้มีโอกาสพัฒนทักษะด้านนี้ เพื่อที่ว่าเมื่อครูได้เข้าใจแล้วก็จะสามารถถ่ายทอดความรู้นั้นสู่เด็กรุ่นต่อรุ่นได้  โดยตั้งเป้าเสริมทักษะการสอนแก่ครูไม่น้อยกว่า 3,000 คน  

      3. อีสปอร์ต, เกม, แอนิเมชั่น

         โดยจะทำให้เกิดศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต จากที่ในอดีตเด็กเล่นเกมติดเกม เพราะไม่รู้ว่าสายอาชีพจะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตได้อย่างไร ดีป้าจะนำเด็กเหล่านั้นเข้ามาสู่การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต

         “เป็นโอกาสให้เด็กมีช่องทางในอาชีพและเป็นการแก้ปัญหาสังคมด้วย ในเส้นทางของการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตจะมีทั้งนักพากย์  คอสตูม ออแกไนเซอร์  ถ่ายรูป ฯลฯ หรือมากกว่านักกีฬาคือเป็นนักพัฒนาเกมก็ได้

         “นอกจากนี้ อุตสาหกรรมหนึ่งที่อยากสนับสนุนคืออุตสาหกรรมเกม ทำให้เกิดเกม developer เพื่อการส่งออกมากขึ้น เวลาเราพูดถึงอุตสาหกรรมเกมเราจะพูดถึงการเป็น Digital Content ตั้งแต่คาแรคเตอร์ซึ่งมีมูลค่า 3-4 พันล้านบาท ซึ่งเราทำคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนส่งออกไปญี่ปุ่นแล้วทำของมาขายเราเยอะแยะ เป็นไปได้ไหมที่ IP คาแรคเตอร์ไทยจะถูกสร้างและถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความเป็นไทย แล้ว Soft Power ก็จะเกิดขึ้น เรามองว่าอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ”

         “ขณะเดียวกัน เราอยากให้เมืองไทยเป็น Post Production คือรับจ้างผลิตให้กับหนังแอนิเมชั่น ซึ่งจะกลายเป็น Small Production ที่อยู่ในประเทศไทย แล้วเป็นฮับของ Small Production ได้ โดยทั้ง 3 อุตสาหกรรมคือ อีสปอร์ต เกม และแอนิเมชั่น จะต้องเน้นทางด้าน Intellectual Property เป็นหลัก”

     4. โครงการสร้างมาตรฐานดิจิตอลเราเรียกว่า Digital Sure

         ดีป้าจะออกมาตรฐาน Digital Sure ซึ่งมาตรฐานนี้มี 3 ดาว ดาวแรกคือ Safety ดาวที่ 2 Functionality และดาวที่ 3 ก็คือต้องมี Security

         “เราไม่เคยออกมาตรฐานเหล่านี้ในประเทศไทย เราต้องการส่งเสริมให้คนไทยได้ใช้สินค้าที่มี Digital Sure คือ 1.Safety เช่น ใช้แล้วไม่ระเบิด 2. Functionality คือเป็นไปตามที่ระบุ เช่น โดรนบินได้ 15 นาทีก็ต้อง 15 นาที และ 3. Security ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อกล้อง CCTV จากจีน ข้อมูลภาพทุกอย่างจะอยู่บนคลาวด์ที่จีนแล้วค่อยส่งกลับมาที่ไทย ซึ่งมันอาจจะเกิดความไม่มั่นคงปลอดภัยขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน Digital Sure เราจะไปผูกกับบัญชีบริการดิจิตอลสามารถเลือกใช้โดยวิธีการพัสดุด้วย ขณะเดียวกันในภาคเอกชนก็จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ 200%”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup