Tech Startup

กันตินันท์ ตันวีนุกูล พลิกชีวิตยังไงให้พุ่งทะยาน จากพนักงานคนแรก สู่ผู้ร่วมก่อตั้งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า SLEEK EV

 

     จากพนักงานฝึกหัด Co–Working Space เขาใช้เวลาเพียง 6 เดือน เปลี่ยนตัวเองจากพนักงานฝึกหัดสู่การเป็นผู้จัดการ และจากพนักงานคนแรกของบริษัทสตาร์ทอัพสิงคโปร์ที่เข้ามาจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย สู่การเป็นสตาร์ทอัพเต็มตัว ในวัย 24 ปี ด้วยการระดมทุนเปิดบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

     เขามองเห็นโอกาสในการทำ Fin Tech เพื่อทำไฟแนนซ์ให้กับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เป็นแพลตฟอร์มแรกของไทยและเขาคือผู้ที่กลับไปซื้อธุรกิจมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ตัวเองเคยเป็นพนักงานคนแรกมาเป็นของตัวเอง  

    นี่คือเส้นทางธุรกิจที่เต็มไปด้วยประสบการณ์มากมายกับระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ของ กันตินันท์ ตันวีนุกูล  Co-Founder และ Group CEO ของ SLEEK EV แบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสัญชาติไทย-สิงคโปร์ ในวัย 27 ปี ที่ตั้งหมุดหมายชัดเจนว่าอยากทำให้การเดินทางของผู้คนถูกลง ด้วยการขนส่งที่ราคาถูกและสะอาด เราเลยไม่พลาดที่จะสัมภาษณ์เขา 

จากพนักงานฝึกหัด สู่พนักงานคนแรก Swag EV

     จริงๆ ผมเริ่มทำงานตั้งแต่ช่วงกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ตอนนั้นเรียนด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 3 ก็หาเงินพิเศษทำด้วยการเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ พอขึ้นปี 4 ไปทำงานพาร์ทไทม์ที่ Union SPACE เอกมัย ซึ่งเป็น Co–Working Space ทำให้รู้จักคำว่าสตาร์ทอัพเป็นครั้งแรก เริ่มจากเด็กฝึกงาน ทำงานแปลภาษา มาทำบัญชี แม้กระทั่งจดทะเบียนบริษัท เรียกว่าได้ทำทุกอย่าง ผมเป็นคนหิวที่จะเรียนรู้ ชอบหาประสบการณ์ เลยไม่รู้สึกว่ามันเป็นการทำงานเพิ่ม แล้วสุดท้ายพอเรียนจบก็ได้มาทำงานเต็มตัวและได้ขึ้นเป็นผู้จัดการ   

     ทีนี้มีสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ เขาทำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าชื่อ Swag EV จะเข้ามาทำตลาดในไทย มาชวนไปทำงานด้วย เราเลยได้ไปเป็นพนักงานคนแรกของเขา ก็มีโอกาสทำงานทุกอย่างอีก เพราะมันเหมือนเริ่มต้นจากศูนย์ เริ่มตั้งแต่จดทะเบียนบริษัท หาทีมงาน ทำตลาด เอาสินค้าเข้ามา ทำมาสักพักก็มีแนวคิดที่แตกต่างกับซีอีโอ ก็ตัดสินใจที่ลาออกมา

เริ่มต้นเส้นทางเป็นผู้ประกอบการ

     เรารู้วิธีการระดมทุน รู้ว่าสตาร์ทอัพเป็นยังไง แล้วก็ยังอยากทำเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอยู่ เลยไปหา Investor โชคดีที่มี Angle Investor จากสิงคโปร์ ให้เงินลงทุนมาประมาณ 400,000 เหรียญฯ ประมาณ 10 กว่าล้านบาท ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่เขาเชื่อมั่นเด็กไทยอายุแค่ 24 ปี อาจจะเป็นที่ดวงหรือเราเองก็เป็นคนเพิ่มโอกาสให้กับตัวเราเองก็ได้ เพราะผมเองก็ไปหา Investor เยอะมาก เรียกว่าเหวี่ยงแห  ตอนนั้นเลือกที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับแบรนด์ไทยแบรนด์หนึ่งที่ภูเก็ต ตอนเริ่มทำก็คือทำคนเดียวทุกอย่างเหมือนเดิม ทำบัญชีเอง ทำตลาดเอง ผมขี่มอเตอร์ไซค์ไปทั่วภูเก็ต ไปขายมอเตอร์ไซค์ ผมมองว่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีใหม่ เลยคิดว่ามันควรจะได้อธิบาย ปรากฏว่าขายไม่ได้เลย จากนั้นก็ค่อยๆ เริ่มขายได้ เริ่มรับพนักงาน แต่ทำได้แค่ 5-6 เดือน ก็ตัดสินใจเลิกเพราะมองเห็นทั้งปัญหาและโอกาสในธุรกิจอื่น คือผมเห็น Pain Point ว่าที่คนซื้อไม่ได้เพราะมันไม่มีสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

เห็นโอกาสพัฒนา GEKO แพลตฟอร์มสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

     ตอนที่ผมขายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เห็นปัญหาว่าทำไมมันถึงไม่โต ก็เพราะมันไม่มีใครปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ก็เลยหันมาทำไฟแนนซ์ ทำแอปฯ แล้วปล่อยเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าชื่อ GEKO เป็นแพลตฟอร์มแรกในประเทศไทยที่ให้บริการสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า พอร์ตก็โตเรื่อยๆ ปล่อยสินเชื่อไปได้ประมาณ 400 คัน

     สิ่งสำคัญที่ได้จากพอร์ตสินเชื่อ 400 คัน คือเราเห็นข้อมูลแล้วก็เห็นปัญหา สิ่งที่ลูกค้าต้องการคืออะไร รู้ว่าปัญหาของธุรกิจนี้คือ 1.ไม่มีบริการหลังการขายที่แข็งแรง 2.สินค้ายังไม่มีคุณภาพ ก็เลยมานั่งคิดว่าทำไมมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทยมันถึงไม่มีแบรนด์ที่แข็งพอที่มีคุณภาพและมีบริการหลังการขาย ผมเลยตัดสินใจที่จะขายพอร์ต 400 คันนั้นเอามาเป็นเงินทุนทำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา

ตั้งต้น SLEEK EV

     ตอนแรกเลยคิดว่าจะทำเองก็คือจะผลิตเองทำแบรนด์เอง แต่จังหวะนั้นผู้บริหาร Swag EV ที่เคยทำงานด้วย เขาชวนให้กลับไปช่วยทำเรื่องการบริหาร  เลยตัดสินใจขอซื้อบริษัทแล้วกัน ในตอนแรกผมตั้งใจจะปรับเปลี่ยนเยอะมาก คือทุกอย่างประกอบมอเตอร์ไซค์มาจากจีนหมดเลย ไม่ได้บอกว่าจีนไม่ดี ของจีนก็ดีถ้าเราคุมคุณภาพได้ เราไม่มีทางสู้จีนได้อยู่แล้วในการทำให้ราคามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสามารถที่จะเข้าถึงได้ เพราะโจทย์ของผมก็คือมันไม่มีใครรักษ์โลกคุณถ้าคุณยังติดปัญหาเรื่องเงินทองอยู่ เลยคิดว่าจะต้องผลิตยังไงให้ต้นทุนถูกที่สุดดีที่สุดคุ้มค่ามากที่สุด ผมเลยเดินทางไปจีน ไปดูว่าเขามีเทคโนโลยีอะไรในการผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 

     จริงๆ แล้วเรื่องของเทคโนโลยี ถ้าเป็นซอฟต์แวร์ทางสิงคโปร์จะพัฒนาขึ้นมา เอาข้อดีในแต่ละอย่างมารวมกันเราเก่งเรื่องซอฟต์แวร์ ส่วนเทคโนโลยีการผลิตสเกลใหญ่ก็ต้องมาจากประเทศจีน

     อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เราซื้อธุรกิจนี้มา ก็เจอปัญหาอีกว่ามีบริษัทเยอรมนีทำรถชื่อ Swag เหมือนกัน เลยเปลี่ยนชื่อเป็น SLEEK EV ซึ่งในช่วงแรกๆ คนไม่รู้จัก SLEEK EV ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่

    มอเตอร์ไซค์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินทุนสูงมากในการผลิต Cash Flow สำคัญมากต้องให้เครดิตดีลเลอร์ ตอนแรกเลยเราก็ลุยขายไปได้ประมาณปีหนึ่ง พอเจอปัญหาเราก็เลยหยุดผลิตหยุดขาย เราเชื่อว่าหยุดดีกว่าที่จะส่งมอบสิ่งที่ไม่ดีออกไปแล้วมันจะฆ่าธุรกิจเราในอนาคต เราหายไปจากตลาดไปเป็นปี มีปัญหา Cash Flow อีก แต่ช่วงที่หยุดเรายังทำเรื่องบริการหลังการขายอยู่ แล้วหลังจากนั้นเราก็จ้างวิศวกรคนไทยให้เขามาช่วยพัฒนา Powertrain ระบบส่งกำลัง เพราะคราวนี้ตั้งใจจะผลิตที่ไทยแล้ว ซึ่งโชคดีที่ได้เงินทุนจาก ORZON Ventures และที่อื่นๆ จนได้ตั้งไลน์ประกอบที่เมืองไทยสำเร็จ

เป้าหมายในอนาคต

     ผมมองว่าวิธีการเดินทางต่อวันมันแพงมากๆ เราทำงานหาเงินมาเงินจะหายไป 30% กับการเดินทาง เลยตั้งเป้าหมายว่าจะทำยังไงให้การเดินทางถูกลง เราอยากพลิกวงการมอเตอร์ไซค์ ซึ่งคิดว่าถ้าเราทำได้สำเร็จมันจะเป็นอุตสาหกรรมที่แก้ปัญหาได้หลายอย่าง   

     ปีนี้คิดว่ายอดขายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 5-6 หมื่นคัน เราตั้งเป้าที่ 30,000 คัน คือ 50% ตอนนี้เรามีดีลเลอร์ 25 ราย และมีที่รออยู่อีก 50 ราย แต่ตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามีแค่ 5-10% ของตลาดมอเตอร์ไซค์ทั้งหมด ดังนั้นภายในปี 2573 เราอยากจะมีมาร์เก็ตแชร์ 50% ของมอเตอร์ไซค์ทั้งหมด 1,900,000 คัน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup