Tech Startup

สตาร์ทอัพไทยจะไปถึงฝั่งฝันได้อย่างไร คำแนะนำจากธนพงษ์ ณ ระนอง บีคอน วีซี

 

     จาก 1 กองทุนเมื่อ 6 ปีก่อนมา ปัจจุบัน บีคอน วีซี มีกองทุนเพื่อการลงทุนในสตาร์ทอัพมากถึง 3 กองทุน คือ Synergistic Fund, Opportunistic Fund และ Impact Fund รวมเงินลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท หรือ 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า บีคอน วีซี มีการเติบโตเพียงใด และคงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้

     ขณะเดียวกันสำหรับสตาร์ทอัพนั้น เงินทุนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไปถึงฝั่งฝันได้ วันนี้ SME Startup เลยได้พูดคุยกับ ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) ซึ่งจะมาบอกเล่าถึงมุมมองต่อสถานการณ์ของสตาร์ทอัพ  ทิศทางการลงทุนของบีคอน วีซี พร้อมคำแนะนำว่าสตาร์ทอัพไทยควรทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการลงทุนในสตาร์ทอัพจะลดน้อยลง 

     จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่เมืองไทยแต่ทั่วโลกมีปัญหาหมด ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่อเมริกาเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นทำให้เม็ดเงินไหลออก นักลงทุนไม่ลงทุนในกองทุน VC แต่เอาเงินไปทำอย่างอื่นที่ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าแทน ทำให้เงินกองทุนลดน้อยลง ก็เลยทำให้การลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลกลดน้อยลงไปด้วย รวมถึงสตาร์ทอัพใน Region  

     นอกจากนี้ ยังเริ่มมีนักลงทุนที่มีการลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้ว 10 ปี อยากขายหุ้นออก อาจจะโดยการขายบริษัทหรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่สตาร์ทอัพที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ต่างประเทศในปีที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามที่คาดหวัง ทำให้มูลค่าของสตาร์ทอัพตกลง

     นี่คือสถานการณ์ทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบมาถึงเมืองไทยด้วย ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพไทยจะพึ่งแหล่งเงินทุน 2-3 แหล่ง คือระยะเริ่มต้นจะเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่เรียกว่า Grant  พอพ้นจากระยะนี้ไปก็จะเป็นการลงทุนจาก VC, CVC ระดับ Seed Stage ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นต่างประเทศที่มาลงทุน ส่วนที่เป็น CVC ไทย มักจะเลือกลงทุนในระยะเติบโตดีแล้วที่เรียกว่า Series A ขึ้นไป ซึ่ง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเงินลงทุนในระดับ Seed Stage ไม่ค่อยมี แล้วช่วงหนึ่งที่เงินไหลกลับไปก็ทำให้สตาร์ทอัพไทยเริ่มหายไป

บีคอน วีซี มีแผนการลงทุนอย่างไร

     ในส่วนของบีคอน วีซี ซึ่งเปิดกองทุนมา 6 ปีแล้ว ในตอนแรกเราลงทุนเพื่อสนับสนุนธนาคารกสิกรไทยเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันเราบริหารงบการลงทุนรวมกว่า 8,000 ล้านบาท หรือ 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มี 3 กองทุน คือ 1. Synergistic Fund กองทุนที่ลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ธนาคารมีบริการที่ดีขึ้น มีต้นทุนในการทำงานที่น้อยลง 2. Opportunistic Fund เป็นกองทุนที่เน้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คิดว่าอนาคตเราอาจจะได้ใช้งาน เช่น AI, Blockchain และ 3. Impact Fund ที่เริ่มเมื่อปีที่ผ่านมา ลงทุนในสตาร์ทอัพหรือ SME ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ ESG (Environmental, Social, และ Governance)   

     โดยเราจะลงทุนประมาณ 8-10 บริษัทต่อปีขึ้นอยู่กับมูลค่าแต่ละบริษัทที่ลงทุน แต่โดยเฉลี่ยประมาณ 1-3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบริษัท

     ต้องบอกว่าเราโชคดี ที่ผ่านมาเราเลือกสตาร์ทอัพที่มีการเติบโตดีพอสมควรและมีรายได้แล้ว จากที่เราลงทุนไปเกือบ 20 บริษัทเลยยังไม่เจอปัญหาว่าสตาร์ทอัพปิดกิจการ สิ่งสำคัญอันหนึ่งที่เราเลือกลงทุนก็คือเราเลือกลงทุนในตัว Founder ต้องเป็นคนเก่งมีความสามารถ ยกตัวอย่าง บางบริษัทในช่วงโควิดมีปัญหาแต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนการทำงาน จนทำให้ธุรกิจกลับมาดีขึ้น หรือมีทีมงานที่เก่ง ซึ่งการที่สามารถสร้างทีมงานที่เก่ง ก็อาจจะถูกบริษัทอื่นมาขอซื้อบริษัทไป ที่ผ่านมาเราสามารถ Exit ขายได้ไปแล้ว 4 บริษัท บางบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิดค่อนข้างสูงแต่ก็ยังมีคนมาขอซื้อ เพราะอยากได้ทีมงานไป เป็นต้น

      นอกเหนือจากการลงทุน ทางทีมงานของเราก็ทำ Incubate มา 4 ปีแล้ว เพื่อช่วยสร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา ปีนี้ก็ยังเดินหน้าทำต่อไป เพียงแต่อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้าง 

     ที่สำคัญ เราพยายามคิดรูปแบบการลงทุนใหม่ๆ อย่างจากกองทุนเดียวเราก็เพิ่มมาเป็น 3 กองทุนแล้ว ดังนั้นก็คิดว่ายังต้องไม่หยุด ต้องพยายามคิดนโยบายการลงทุนใหม่ๆ เสริมเข้ามาเพื่อให้บีคอน วีซี เติบโตมากขึ้นไปเรื่อยๆ

บีคอน วีซี มีวิธีเลือกสตาร์ทอัพอย่างไร

     เรามี 3 กองทุนก็ต้องเข้าใจว่ากองทุนเรากับธุรกิจเขามันไปด้วยกันหรือเปล่า ถ้าไม่ตรงกันเข้ามาคุยมันก็ไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นสตาร์ทอัพจะไปคุยกับใครก็ต้องเข้าใจศึกษาตัวกองทุนก่อนด้วยว่ากลยุทธ์ของเขาคืออะไร

     สำหรับ บีคอน วีซี เราลงใน Stage ที่เติบโตแล้ว อย่างน้อยต้องมีรายได้ รายได้นั้นเกิดจากอะไร เกิดจากออแกนิคหรือเปล่า หรือเกิดจากการทำโปรโมชั่นแรงๆ ความสามารถในการทำรายได้ดีแค่ไหน ตลาดเติบโตได้ดีแค่ไหน คู่แข่งมีไหม ดูเทคโนโลยีด้วยว่าจะมีอะไรมาทดแทนได้ไหม สิ่งสำคัญก็คือเรื่อง Founder เราจะดู Founder ว่าเป็นคนที่มีความสามารถมี Passion คือพูดง่ายๆ เราจะเลือก Founder เกรด A คือเป็นที่ 1 ในเรื่องนั้นเลย

     ต้องเข้าใจธรรมชาติของสตาร์ทอัพ ช่วงเริ่มต้นยังไม่มีกำไร เงินลงทุนที่เราใส่ลงไปจะใช้สร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้คู่แข่งตามทัน ช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่ใช้เงินเยอะมากก็จะติดลบ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่มีฐานลูกค้าพอสมควรแล้วสามารถที่จะหารายได้จากลูกค้าที่มีฐานใหญ่ๆ ได้ ก็จะเริ่มปรับเปลี่ยนมามีกำไร ซึ่งใช้เวลาสักประมาณ 5 ปีเพียงแต่ว่าที่ผ่านมาคนที่ทำแบบนี้ได้ Founder ต้องเก่งมากจริงๆ 

มองเทรนด์อะไรที่น่าสในใจในปีนี้    

     จริงๆ ปีที่แล้วสถานการณ์ของสตาร์ทอัพค่อนข้างซบเซามาก แต่มี 2 เรื่องที่ทำให้เกิดความคึกคักขึ้นมา เรื่องแรก เกี่ยวกับ AI คือการที่มี Chat GPT แล้วทุกคนได้ไปเล่น ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นสามารถสร้างประโยชน์ได้จริง ทำให้สตาร์ทอัพมีความคึกคักมากขึ้น การลงทุนในด้านนี้ก็สูงมากขึ้นด้วย  

     อีกเรื่องคือการลดโลกร้อน ซึ่งมีนโยบายใหม่ๆ ออกมาเยอะมาก อย่างเช่น การให้ทุกประเทศให้ความร่วมมือในการผลักดันเรื่องการใช้พลังหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังใช้อยู่แค่ 8% เราก็ต้องเร่งทำเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ดังนั้นสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น แล้วเราเองก็สนใจลงทุนในเรื่องนี้ด้วย

แนะนำสตาร์ทอัพไทยเพื่อให้สามารถเติบโตได้

     การลงทุนเงินในสตาร์ทอัพที่เหมือนเป็นเงินให้ฟรีน่าจะหายากแล้ว VC ที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพจะมองเรื่องรายได้ด้วย หมายถึงต้องเป็นสตาร์ทอัพที่อย่างน้อยมีรายได้อย่างมั่นคงแล้ว

    สิ่งหนึ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาหลักๆ ก็คือความเข้าใจในเรื่องการสตาร์ทอัพของคนไทยยังไม่ค่อยดีและขาด Mentor ที่ดี ที่ผ่านมาเราอาจจะฟังคนต่างประเทศเยอะเกินไป แต่ลืมไปว่าตลาดเมืองไทยกับตลาดต่างประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน บริบทต่างกัน ซึ่งคนต่างประเทศอาจจะไม่เข้าใจบริบทของไทยดีพอ ก็ทำให้สตาร์ทอัพไทยมีปัญหาไปผิดทางบ้าง

     ในต่างประเทศนั้นจะมี Tech Company ใหญ่ๆ คอยซื้อสตาร์ทอัพ โดยที่สตาร์ทอัพนั้นอาจจะไม่มีกำไรไม่มีรายได้แต่มีฐาน User เยอะๆ เพื่อเอา User ไปทำธุรกิจต่อ แต่ประเทศเราไม่มี Tech Company แบบนั้น ดังนั้น สตาร์ทอัพไทยที่อยู่ได้ในตอนนี้คือสตาร์ทอัพที่ต้องเน้นการสร้างรายได้มากกว่าการสร้างฐานลูกค้า

     นอกจากนี้ ปัญหาก็คือ สตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักจะเก่งทางด้านเทคโนโลยี แต่ไม่เข้าใจเรื่องตลาดมากพอ อีกเรื่องหนึ่งที่ขาดก็คือไม่มีทักษะการขายไม่มีทีมขาย ซึ่งเดิมอาจจะเติบโตมาจากการเรียนหลักสูตรสตาร์ทอัพที่บอกว่าคุณต้องใช้เทคโนโลยี ใช้อินเทอร์เน็ตโฆษณาทำโปรโมชั่น ทำ Growth Hacking ต่างๆ เอาฐาน User เป็นหลัก แต่วิธีการนั้นเหมาะกับ B2C มากกว่า ซึ่งตอนนี้สตาร์ทอัพที่ทำ B2C ค่อนข้างเหนื่อย แต่ถ้าใครทำ B2B จะทำแบบนั้นไม่ได้มันต้องมีทีมขายที่มีความสามารถ ซึ่งกลุ่ม B2B เป็นกลุ่มที่ยังเติบโตได้ดีได้เม็ดเงินลงทุนกันเกือบหมด

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup