ทำธุรกิจยังไงให้ได้ร้อยล้าน กลยุทธ์ทำได้จริงจาก 5 แบรนด์เล็กๆ สัญชาติไทย

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

     “ทำธุรกิจยังไงให้ได้ร้อยล้าน”

     อาจเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหลายคนมองว่าเป็นไปได้ยาก หรือแม้กระทั่งอาจเป็นไปไม่ได้เลยในธุรกิจของตน แต่เชื่อหรือไม่ว่าหลายธุรกิจที่มีรายได้เป็นหลักร้อยล้านได้ในวันนี้ จริงๆ แล้วก็เริ่มต้นขึ้นมาจากจุดเล็กๆ ด้วยเงินเพียงหลักไม่กี่หมื่นบาท แถมบางคนอาจไม่ได้เรียนจบสูงๆ แต่ก็สามารถสร้างตัวสร้างธุรกิจขึ้นมาได้ กลยุทธ์อะไรที่ทำให้ธุรกิจก้าวไปแตะหลักร้อยล้านบาทได้ ลองไปดูตัวอย่างจาก 5 แบรนด์ต่อไปนี้กัน

เอื้ออารี ฟู้ด

จากเด็กขับเวสป้าส่งของ สู่ธุรกิจเครื่องปรุงร้อยล้าน!

     เอื้ออารี ฟู้ด โปรดักท์ คือ ธุรกิจเครื่องปรุงของ ฉัตรชัย วชิระเธียรชัย อดีตเด็กชายวัย 18 ปีที่ต้องออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันเพื่อมาช่วยธุรกิจครอบครัว หลังจากคุณพ่อผู้เป็นเสาหลักเสียชีวิตลงด้วยโรคร้าย จากช่วยช่วยที่บ้านขับเวสป้าส่งของ ฉัตรชัยก็เริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองด้วยการเช่าห้องแถวใกล้ปากคลองตลาดขยายกิจการครอบครัวจากทำพริกแกง พริกป่น พริกดองขาย ก็เริ่มขยับเป็นกระเทียมในรูปแบบต่างๆ เช่น กระเทียมปลอกเปลือก, กระเทียมเจียว ส่งให้กับโรงงานอุตสาหกรรม และเชนร้านอาหารต่างๆ จนต่อยอดธุรกิจผลิตอาหารนวัตกรรม มีรายได้เป็นหลักร้อยล้านบาททั้งที่จบเพียงแค่ ม.6

กลยุทธ์ธุรกิจแตะร้อยล้าน

  • ไม่หยุดที่จะแสวงหาโอกาส ครั้งหนึ่งฉัตรชัยเคยรับกระเทียมจากถนนทรงวาดมาขายต่อ จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับมารับตรงจากพ่อค้าคนกลาง จนสุดท้ายไปถึงไร่ต้นทาง เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง จนสุดท้ายสามารถตั้งโรงงานผลิตของตัวเองขึ้นมาได้

 

  • สร้างกลยุทธ์ให้แบรนด์ใหญ่เหลียวมองด้วยการทำให้เป็นที่ชื่นชอบจากลูกค้า ทั้งที่จบแค่ม.6 แต่เพื่อให้โรงงานขนาดใหญ่ยอมรับในสินค้าและเดินมาหา ฉัตรชัยเริ่มจากการทำสินค้าให้เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้บริโภคปลายทางเสียก่อน โดยเริ่มจากทำแบรนด์ของตัวเองในชื่อ เปปเปอร์-จี (Pepperr-G) และยามุ (Yamu) ออกมาก่อน

 

     อ่านเรื่องราวธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/5235.html

VR Toys

โรงงานของเล่นร้อยล้านที่เริ่มต้นจากรอยยิ้มของพนักงาน

     V.R. Toys แบรนด์ของเล่นไทย ที่ก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาโดย พงศ์ธร พานิชสาส์น ทายาทผู้สานต่อธุรกิจค้าขายผ้าที่สำเพ็ง ที่เข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจด้วยการนำผ้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย จนกระทั่งสุดท้ายเจอโอกาสของธุรกิจใหม่ด้วยการนำเข้าของเล่นจากจีนเข้ามา จนสุดท้ายมีโรงงานผลิตของตัวเอง       และเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดด้วยการนำสินค้าเข้าไปติดต่อร้าน 7-11 และ 24 Shopping จนมีจำหน่ายในร้านเซเว่นแล้วกว่า 11,000 สาขา เมื่อปี 2562 และนำพาของเล่นแบรนด์ไทยไปไกลถึงตลาดต่างประเทศได้

กลยุทธ์ธุรกิจแตะร้อยล้าน

  • ติดตามเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา โดยในแต่ละปีที่จะผลิตสินค้าออกมา พงศ์ธรจะดูก่อนว่าปีนี้กลุ่มลูกค้าต้องการอะไร มีการทำรีเสิร์ช คอยศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า พร้อมทีมออกแบบคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจความชื่นชอบของลูกค้า

 

  • มีทีมเวิร์คที่ดี โดยมองว่าทีมเวิร์คจะทำให้เราคิดได้เร็วและโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่นอยู่เสมอ เพราะของเล่นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ต้องทำงานอย่างมีความสุข เพื่อให้สินค้าที่ออกมาเป็นเชิงบวก มีคุณภาพดีให้แก่ผู้เล่น

 

     อ่านเรื่องราวธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/4705.html

N & B

แบรนด์เครปที่สามารถคว้าร้อยล้านได้ใน 3 ปี

     N & B คือ แบรนด์ร้านเครปของ บุญประเสริฐ พู่พันธ์ ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงิน 4 หมื่นบาท ใช้เวลา 10 ปีในการค้นหาตัวเอง จนในที่สุดเมื่อหันมาเอาจริงเอาจังและเลือกโฟกัสกับสิ่งที่ทำอย่างเดียวให้เต็มที่ เพียงระยะเวลาแค่ 3 ปี ก็ทำรายได้แตะหลักร้อยล้านบาทได้

กลยุทธ์ธุรกิจแตะร้อยล้าน

  • โฟกัสที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เต็มที่ ก่อนหน้าที่จะประสบความสำเร็จ บุญประเสริฐได้ทดลองทำหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน ทำให้เสียเวลาไปกว่า 10 ปี จนได้แนวคิดเปลี่ยนชีวิต คือ บทเรียนจากร้าน Dunkin donuts ที่แม้เปิดมากว่า 70 กว่าปีเพื่อขายโดนัทเพียงอย่างเดียว ก็สามารถเติบโตอย่างทุกวันนี้ได้

 

  • แก้ปัญหาจากภายในก่อนที่จะโทษปัจจัยภายนอก ในปี 2558 หลังจากที่เริ่มขายแฟรนไชส์ออกไป กลับทำให้รายได้ของ N & B ต่ำที่สุดจากที่เคยมีมา ในช่วงแรกบุญประเสริฐคิดว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ต่อมาภายหลังมาปรับปรุงระบบภายในการให้บริการของพนักงาน ความสะอาด ทำให้ยอดขายพุ่งขึ้มากว่า 30 เปอร์เซ็นต์ได้ในปีถัดไป

 

  • สร้างฐานลูกค้าใหม่ตลอดเวลา พฤติกรรมของลูกค้ายุคใหม่มีความเบื่อง่ายและชอบลองอะไรใหม่ๆ ดังนั้นลูกค้าจะหมุนเวียนเปลี่ยนความชอบ สิ่งที่ต้องทำ คือ การสร้างฐานลูกค้าหน้าใหม่ๆ ให้กลายมาเป็นลูกค้าเจ้าประจำ

 

     อ่านเรื่องราวธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/2809.html

วังพรม

จากแผงขายยาสมุนไพรหน้าวัด สู่แบรนด์ส่งออกร้อยล้าน

     วังพรม จากแผงขายสมุนไพรหน้าวัดไร่ขิง จ.นครปฐม ที่ เริ่มต้นด้วยการขายไม่ได้เลยสักขวด จนวันนี้ผ่านไป 27 ปีกลับเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศวางจำหน่ายในร้านขายยา โมเดิร์นเทรด จนถึงส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ประเทศรัสเซีย ทำยอดขายกว่า 200 ล้านบาทได้ตั้งแต่เมื่อปี 2562 ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของทายาทรุ่น 2 วัชรีภรณ์ วังพรม

กลยุทธ์ธุรกิจแตะร้อยล้าน

  • ทดลองแจกฟรี เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ทดลองใช้สินค้า ในช่วงแรกที่เริ่มต้นธุรกิจยาหม่องสมุนไพรวังพรมกลับขายไม่ได้เลยสักขวด เนื่องจากลองทำสูตรไพร สีเหลืองออกมาจำหน่ายเป็นรายแรกๆ แต่สุดท้ายก็แก้เกมได้ทันด้วยการแจกให้ลูกค้าไปทดลองใช้ฟรีๆ จนกระทั่งเกิดติดใจ กลับมาถามหาและซื้อซ้ำได้

 

  • แม้จะเริ่มต้นจากทำธุรกิจบ้านๆ แต่ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ โดยตั้งแต่แรกที่เป็นแผงขายยาสมุนไพรอยู่หน้าวัด แบรนด์วังพรมก็มีการใส่ใจการสร้างแบรนด์โดยชื่อแบรนด์มาจากชื่อนามสกุล ส่วนพรีเซนเตอร์ก็ใช้รูปของเจ้าของแบรนด์แปะไว้ที่หน้าขวด รวมถึงใส่เบอร์โทร ที่อยู่ไว้ตั้งแต่ในยุคแรกๆ ด้วย

 

  • พัฒนาระบบหลังบ้านที่เข้มแข็ง โดยในยุคที่ 2 ของวัชรีภรณ์ที่เข้ามาดูแล ได้ปรับปรุงระบบภายในของธุรกิจให้แข็งแรงมากขึ้น เช่น การตัดรายการสินค้าที่มีมากเกินไปออก ได้แก่ สินค้าขายไม่ดี ขายออกช้า และหันมาเลือกพัฒนาสินค้าตัวใหม่เพื่อสร้าง  New S-Curve ของบริษัท เพื่อให้มียอดที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

 

     อ่านเรื่องราวธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/5163.html

บ้านส้มตำ

ผู้ใช้จังหวะการตำและบรรยากาศ เปลี่ยนธุรกิจสู่ร้อยล้าน

     บ้านส้มตำ จากร้านส้มตำธรรมดาๆ ที่ใช้เวลาดำเนินธุรกิจมากว่า 15 ปี จนสามารถขยายสาขาได้ 8 แห่ง มียอดขายสูงถึง 300 ล้านบาท แถมตั้งเป้าไว้ในปี 2563 ว่าจะทำธุรกิจแตะหลัก 500 ล้านบาทให้ได้ ความสำเร็จทั้งหมดเกิดขึ้นมาจากผู้หญิงที่ชื่อ สุภาพร ชูดวง

กลยุทธ์ธุรกิจแตะร้อยล้าน

  • มุ่งเน้นที่มาตรฐาน มากกว่าตัวบุคคล ไม่น่าเชื่อว่าร้านส้มตำที่แตะหลักร้อยล้านได้นี้ จะเริ่มต้นจากเจ้าของที่ทำอาหารไม่เป็น แต่ด้วยการเป็นนักชิมที่ดี จึงพยายามสร้างมาตรฐานขึ้นมาให้กับธุรกิจ มากกว่าที่จะยึดอยู่ที่ตัวบุคคลที่ทำอาหาร จึงทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ แม้ว่าพนักงานจะลาออก หรือต้องเปิดอีกกี่สาขา

 

  • สร้างสูตรอาหารด้วยจังหวะการตำ นอกจากการสร้างสูตรอาหารที่มีมาตรฐานและแม่นยำแล้ว อีกสิ่งที่บ้านส้มตำใช้ควบคุมคุณภาพในการผลิต ก็คือ การสอนจังหวะการตำที่เหมือนกัน เนื่องจากมองว่าการลงน้ำหนักมือที่ดี คือ อีกเทคนิคที่ช่วยให้อาหารอร่อย ไม่ผิดเพี้ยน

 

  • เน้นที่คุณภาพ มากกว่าปริมาณ โดยปกติร้านอาหารทั่วไปมักเน้นจำนวนโต๊ะมากๆ เพื่อจะได้รับลูกค้าได้เยอะ เพื่อเพิ่มยอดขายเข้าร้าน แต่ที่บ้านส้มตำจะเน้นบรรยากาศโล่งๆ โปร่งสบาย มีต้นไม้เยอะๆ มีพื้นที่สีเขียวมากๆ ตอบคอนเซ็ปต์ของการเป็น “บ้าน” มากกว่าร้านอาหาร

 

     อ่านเรื่องราวธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/5399.html

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน