Digital Marketing

Design Thinking ตัวช่วยปรับธุรกิจรับโลกยุคหลังโควิด-19

Text : นิติ มุขยวงศา



 

Main Idea
 
  • การปรับตัวของธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเจอกับวิกฤตที่ส่งผลกระทบมากมาย ดังเช่นวิกฤตโควิด-19
 
  • พาไปทำความรู้จักกับ Design Thinking ที่จะเป็นตัวช่วยในการรับมือวิกฤตหลังโควิด-19
 


 

     อย่างที่ทราบกันดีว่าวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบมากมาย ซึ่งวิกฤตครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย “การปรับตัว” จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกธุรกิจ และ “นวัตกรรม” ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องทำในตอนนี้ ดังนั้น จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Design Thinking ในมุมมองของผมกับการรับมือวิกฤตครั้งนี้กัน

     Design Thinking ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายคนอาจจะรู้จักกับภาพ Design Thinking Process กันไปบ้างแล้ว ซึ่ง Design Thinking นี้ถูกนำไปใช้ในการออกแบบนวัตกรรมทั่วโลก โดยหลักการของ Design Thinking ประกอบไปด้วย 5 ส่วน คือ 

          1. Emphathize (เข้าอกเข้าใจปัญหา) 
          2. Define (ระบุข้อมูลที่ได้ให้ชัดเจน)
          3. Ideate (เสนอแนวทางการแก้ปัญหา)
          4. Prototype (สร้างต้นแบบเพื่อทดลอง)            
          5. Test (นำออกไปทดสอบ และเก็บข้อมูลย้อนกลับเพื่อนำมาวิเคราะห์ ปรับปรุงให้ดีกว่า) 


     อ่านถึงตรงนี้อยากให้ทุกคนได้คิดตามกันไปว่า แท้จริง Design Thinking Process คือ Problem Solving หรือขั้นตอนวิธีการแก้ปัญหานั่นเอง ซึ่งบางคนอาจไปเทียบกับ อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ก็เป็นแนวทางในการดับทุกข์เช่นกัน 

     แต่ทำไมหลายที่ไม่สามารถนำ Design Thinking ออกมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำไมไม่เกิดนวัตกรรม นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ก่อนอื่นลองทำ Check List ดูว่าทีมของเราได้ก้าวผ่านเรื่องเหล่านี้แล้วหรือยัง

     1. เรา “เข้าใจ” สถานการณ์จริงๆ แล้วหรือยัง บ่อยแค่ไหนที่เราได้ลงไปสัมผัสกับหน้างานจริงๆ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในธุรกิจของเรา ข้อมูลนี้สำคัญที่สุดเพราะถ้าเข้าใจสถานการณ์ไม่ถูกต้องแล้ว การแก้ปัญหาก็จะผิดพลาดตามไปแล้ว  

     2. เรา “ปราศจากอคติ” แล้วหรือยัง ขึ้นชื่อว่าอคติแล้ว ก็ย่อมยอมรับได้ยากว่าเรามีอคติ ดังนั้น เรื่องนี้ไม่มีใครช่วยได้ นอกจากลองถอยออกมาเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่แบบคนน้ำไม่เต็มแก้ว คิดว่าสิ่งที่เราคิดไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องลองเรียนรู้ในมุมอื่นดูบ้าง

     3. เรา “เปิดใจ” หรือไม่ วิธีการผิดๆ ในการประชุมคือ ไม่ปล่อยให้มีการพูดคุยเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด การเปิดใจให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการคิดแก้ปัญหาจะทำให้เห็นโอกาสมากขึ้น วิธีการที่ใช้ได้ดีคือ Silent Brainstorm หรือการให้โจทย์ แต่ละคนเขียน Solution ลงในกระดาษของตัวเอง เมื่อครบเวลาแล้วจึงมานำเสนอ วิธีนี้จะช่วยให้คนที่คิดช้าต้องการสมาธิได้แสดงไอเดียของเขาออกมาด้วย

     4. มัวแต่สร้าง ไม่กล้าปล่อยสินค้าหรือเปล่า “สร้างให้ไวและออกไปทดสอบ” แปลว่าต้องเริ่มเข้าใจว่าจะต้องสร้างอะไรเพื่อออกไปทดสอบ สิ่งที่สำคัญของการออกไปทดลองคือ การเก็บข้อมูล และ Feedback ซึ่งจะทำให้เราได้ข้อมูลกลับมาพัฒนาสินค้าต่อ ถ้าผิดทางก็ขอให้รู้ตอนนี้ ดีกว่าลงเวลาลงเงินไปแล้วเสียหาย


              




www.smethailandclub.com

ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup