Digital Marketing

จับกระแสศรัทธามาร์เก็ตติ้ง ตลาดหมื่นล้าน โตได้ในทุกสถานการณ์





     ต่อให้หุ้นจะตก ราคาน้ำมันจะร่วง เศรษฐกิจซบเซา ปัญหารุมเร้า แต่ศรัทธามาร์เก็ตติ้งยังวิ่งได้เรื่อยๆ เพราะโดยพื้นฐานของพี่น้องชาวไทยส่วนใหญ่ก็ยังต้องการกำลังใจในยามมีปัญหา ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคในเรื่องความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พบว่าคนยังเดินทางไปทำบุญและขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอขวัญกำลังใจ การงาน ฯลฯ คาดว่ามีเงินสะพัด 10,800 ล้านบาท คิดเป็น 0.36% ของมูลค่าท่องเที่ยวไทย

 


     สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุกอำเภอรวมทั้งสิ้นจำนวน 7,904 คน เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พบว่า
 

แม้จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา และมีอุปสรรคจากการเดินทางจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ยังไปทำบุญและขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่าเดิม ถึงร้อยละ 44.98 ลดลง ร้อยละ 43.95 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.07 โดยส่วนที่เพิ่มมาจากข้าราชการ พนักงาน และผู้ไม่มีงานทำเป็นหลัก
               

   

     โดยวัตถุประสงค์ในการทำบุญไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่
  • เป็นขวัญและกำลังใจในชีวิต ร้อยละ 42.42
  • ขอโชคลาภ เงินทอง ร้อยละ 29.64
  • ขอเรื่องการงาน ธุรกิจ ร้อยละ 10.95
  • สุขภาพ ร้อยละ 8.74
  • ความรัก ครอบครัว ร้อยละ 5.90
  • การเรียน การศึกษา ร้อยละ 2.34



     ค่าใช้จ่ายในการทำบุญแต่ละครั้ง พบว่า
  • ร้อยละ 44.72 มีค่าใช้จ่ายต่อสถานที่ โดยเฉลี่ย 100-200 บาท
  • น้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 24.57
  • ประชาชนกว่าร้อยละ 70 ทำบุญครั้งละไม่เกิน 200 บาท
  • ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ไม่มีงานทำ และนักเรียน นักศึกษา
  • ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 200 บาทขึ้นไป ส่วนมากเป็นกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐ และนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ
 

     การใช้จ่ายทำบุญ
  • การบริจาคตู้ทำบุญ ถึงร้อยละ 47.58
  • การถวายสังฆทาน ร้อยละ 39.46
  • บูชาเครื่องรางของขลัง ร้อยละ 5.59
  • สะเดาะเคราะห์ ร้อยละ 5.10
  • เสี่ยงทาย เช่น เซียมซี ยกพระเสี่ยงทาย ร้อยละ 2.28
         



     อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก เพราะนอกเหนือจากการทำบุญในศาสนสถาน บริเวณโดยรอบยังเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย อีกทั้งยังมีกิจกรรมทางความเชื่อนอกเหนือจากพิธีกรรมทางศาสนาที่ผู้คนบางส่วนนิยมใช้จ่าย อาทิ การดูดวงชะตา แบ่งเป็นชะตาราศี เช่น วัน เดือน ปีเกิด ร้อยละ 54.13 ลายมือ ร้อยละ 20.94 ไพ่ยิปซี ร้อยละ 12.23 โหงวเฮ้ง ร้อยละ 6.97 ร่างทรง นั่งทางใน ร้อยละ 5.72 ซึ่งค่าใช้จ่ายมีตั้งแต่หลักสิบบาทจนถึงหลักพัน หรือการบูชา เช่าพระเครื่องเพื่อการเก็งกำไร ที่มีมูลค่าสูงเป็นหลักล้านบาท


     จากผลการสำรวจในครั้งนี้ สนค. ประมาณการว่า การเดินทางไปทำบุญของประชาชนสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบได้ประมาณ 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.36 ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวรวมของไทย ในปี 2562 ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีโอกาสต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศควบคู่ไปกับภาคบริการการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะมีมูลค่าโดยรวมแล้วยังสามารถช่วยให้เกิดการกระจายรายได้เชิงพื้นที่ได้อย่างดี เนื่องจาก ศาสนสถาน และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยมีอยู่กระจายทั่วทุกจังหวัด


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup