Digital Marketing

ถอดบทเรียน 4 กลยุทธ์จาก 4 ธุรกิจเกือบเจ๊งให้ยอดขายกลับมาพุ่งรุ่งในช่วงโควิด


 

     เมื่อโควิดไม่สามารถมลายหายไปได้ในฉับพลัน การเรียนรู้และปรับตัวเพื่อก้าวข้ามวิกฤต ตลอดจนต่อยอดสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จึงจำเป็นไม่น้อย บทความฉบับนี้จึงได้รวบรวมตัวอย่างบริษัทที่มีการปรับตัวได้อย่างน่าสนใจท่ามกลางวิกฤตโควิด เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปใช้ในธุรกิจ


     โดยเป็นการยกตัวอย่าง 4 บริษัทที่นำ 4 กลยุทธ์มาปรับใช้ได้แก่ 1. ปรับกระบวนการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2. ปรับกลยุทธ์ธุรกิจสู่ออนไลน์ 3. ปรับโมเดลธุรกิจให้ยืดหยุ่นทุกสถานการณ์ 4. ปรับสินค้ารับเทรนด์ New Normal  
 



 
     1. ปรับเทคโนโลยีและนวัตกรรม


     อาจจะเรียกว่ามีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายสำหรับ บริษัท DCL Logistics (DCL) เนื่องจากมีปริมาณพัสดุที่ต้องการขนส่งเพิ่มขึ้นถึง 30% ในช่วงโควิดแพร่ระบาด เพราะผู้ขายบน Amazon หันมาใช้บริการ DCL แทน Amazon Logistics ที่ช่วงนั้นมีนโยบายจัดส่งสนค้าเวชภัณฑ์และยาเป็นอันดับแรก


     แต่ปัญหาคือ DCL มีแรงงานไม่พอและไม่สามารถหาพนักงานมารองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากเป็นช่วง ล็อกดาวน์ และต้องการลดจำนวนพนักงานในคลังสินค้าตามมาตรการ Social Distancing  DCL จึงได้นำแขนกลอัจฉริยะมาในขั้นตอนบรรจุสินค้าลงกล่อง ช่วยให้ทำงานเร็วขึ้น โดยปกติใช้พนักงาน 5 คนใช้เวลาทำงาน 1 วัน แต่แขนกลฯ 1 ตัวใช้เวลาทำงาน 2 ชั่วโมง ทำให้ได้ productivity เพิ่มขึ้น 500% ระยะเวลาคืนทุนของแขนกล 3 เดือน/ตัว




     2 ปรับสู่ธุรกิจออนไลน์


     นาทีนี้คงไม่มีใครปฏิเสธการทำธุรกิจทางออนไลน์ แม้แต่แบรนด์ใหญ่อย่าง Dunkin ที่โดนโควิดเล่นงานจนยอดขายไตรมาส 2 ปี 2563 ลดลง 18.7%  จึงหันมาเน้นตลาดออนไลน์ จับมือกับ Charli D’Amelio Influencer ชื่อดังของสหรัฐที่มีผู้ติดตามใน TikTok กว่า 94 ล้านคน โดยออกเมนูกาแฟสกัดเย็นใช้ชื่อ Charli D’Amelio พร้อมๆ กับนำสินค้าอื่นๆ ของ Dunkin โฆษณาผ่าน TikTok และเน้นขายออนไลน์


     ปรากฏว่าในไตรมาส 3 ยอดขายก็พลิกกลับมาเป็นบวกเพิ่มขึ้น 0.9% เฉพาะกาแฟ Charli D’Amelio ขายได้กว่า 2 แสนแก้วใน 5 วันแรก ยอดดาวน์โหลดแอปฯ Dunkin เพิ่ม 57%




     3 ปรับโมเดลธุรกิจให้ยืดหยุ่นทุกสถานการณ์


     บริษัท SafeBoda ผู้ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารด้วยมอเตอร์ไซด์ผ่านแอปพลิเคชันในยูกันดาและไนจีเรีย เมื่อยูกันดาประกาศ ล็อกดาวน์ ทำให้รายได้บริษัทลดลง 90% บริษัทเพิ่มบริการส่งสินค้าถึงบ้าน พัฒนาแอปพลิเคชันให้เชื่อมโยง ลูกค้า ร้านค้า คนขับ ทำการตลาดขยายกลุ่มไปยังลูกค้าที่ไม่เคยขายออนไลน์ให้เข้ามาในแอปฯ มีร้านค้าท้องถิ่น 800 ร้านเข้ามาใช้แอปฯ ลูกค้าใช้บริการ 50,000 ราย/วัน คนขับเพิ่มขึ้น 3,000 คน
 




     4. ปรับสินค้ารับเทรนด์ New Normal


     iMovR ผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์สำนักงานครบวงจรของสหรัฐ ช่วงกระแส Work from home และ E-learning ทำให้ยอดขายของบริษัทหายไปเกือบหมดถึงขนาดเริ่มปลดพนักงานและเตรียมปิดกิจการ


     แต่เมื่อผู้บริหารขอลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง โดยได้หันมาทดลองออกแบบผลิตภัณฑ์คอลเลกชัน Work@home ปรับผลิตภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กลง เหมาะกับการใช้งานที่บ้านที่มีห้องหรือพื้นที่จำกัด ผู้ใช้งานสามารถประกอบเฟอร์นิเจอร์ได้เองง่ายๆ พร้อมกับหันมาทำการตลาดผ่าน social media เจาะลูกค้ากลุ่มรายย่อย ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 3 เท่า และต้องจ้างพนักงานเพิ่มอีกถึง 2.3 เท่าในเวลาต่อมา


     ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอถ้าไม่ยอมแพ้ไปง่ายๆ


Cr:Exim
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup