Digital Marketing

Shopee ตลาดออนไลน์ใหม่ของนักช้อป


 

 
Text : กฤษณา สังข์วงค์
 
Shopee เป็นตลาดออนไลน์บนมือถือในรูปแบบแอพพลิเคชันแห่งใหม่ที่กำลังมาแรง โดยสามารถได้ใจทั้งขาช้อปออนไลน์และเหล่าพ่อค้าแม่ขายบนโลกโซเชียลไปเต็มๆ ด้วยความสะดวกสบายในการซื้อ-ขายสินค้าที่สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา และมีสินค้าให้เลือกหลายประเภททั้งของใหม่แกะกล่องและสินค้ามือสองเกือบ 20 หมวดหมู่สินค้า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นและเครื่องประดับทั้งชายและหญิง มือถือและอุปกรณ์ไอที ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เครื่องใช้ในบ้าน ของเล่น ของสะสม ตั๋วและบัตรกำนัล อุปกรณ์เครื่องเขียนและหนังสือ หรือแม้กระทั่งของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยง
 
คอนเซ็ปต์ของ Shopee นั้น ไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มสำหรับซื้อ-ขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซ ที่ทำให้ผู้ขายและผู้ซื้อได้ปฏิสัมพันธ์กัน จนเกิดการจูงใจและความผูกพันในแบรนด์สินค้าหรือร้านค้าได้ในท้ายที่สุด อีกทั้งยังเน้นการใช้งานให้ง่ายตั้งแต่การสมัครสร้างบัญชี การลงทะเบียนผู้ใช้โดยไม่มีการเก็บค่าบริการ
 
นอกจากนี้ ยังเพิ่มการสนับสนุนระบบชำระเงินที่รองรับได้ 3 ช่องทางคือ ผ่านบัตรเครดิต โอนเงิน และเก็บเงินปลายทาง โดย Shopee จะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจัดเก็บเงินดังกล่าวไว้ และจะรอจนลูกค้ายืนยันการได้รับและตรวจสอบว่าสินค้านั้นถูกต้องตามที่สั่งซื้อ จากนั้น Shopee จึงจะจัดส่งค่าสินค้าไปยังผู้ค้า ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันหากลูกค้าไม่ได้รับสินค้าหรือสินค้ามีตำหนิ เสียหาย ไม่ตรงกับที่สั่งซื้อจนลูกค้าไม่พอใจสินค้า
 
ทั้งนี้  Shopee เปิดให้บริการอีก 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์  
ด้วยความที่สามารถลงขายสินค้าได้หลากหลาย และการซื้อ-ขายก็ทำได้ง่าย จึงไม่แปลกที่ Shopee จะกลาย เป็นแหล่งค้าขายที่ผู้ขายยุคใหม่ต่างหันมาใช้งาน แต่ถึงกระนั้นก็มีผู้ขายจำนวนไม่น้อยที่กังวลใจว่าสินค้าจะได้ขายได้หรือไม่ ดังนั้น เพื่อกระตุ้นความสนใจและทำให้นักช้อปตัดสินใจซื้อสินค้าง่ายขึ้น เทคนิคเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรทำตามอย่างยิ่ง
 

 
1. รูปสินค้าต้องสวย
 
การถ่ายภาพสินค้าให้น่าสนใจสามารถทำได้ง่ายๆ อย่างการถ่ายภาพสินค้าประเภทเสื้อผ้า แนะนำให้ใช้นางแบบหรือแขวนเสื้อบนไม้แขวนเสื้อ ส่วนพื้นหลังควรเป็นสีเรียบๆ อย่างสีขาว และถ่ายภาพในสถานที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพราะจะทำให้สินค้าโดดเด่น ทั้งนี้ควรถ่ายภาพสินค้าหลายๆ มุมเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นรายละเอียดในส่วนต่างๆ ของสินค้า
 
 
2. ใส่ข้อมูลสินค้าให้ครบ
                ข้อมูลสินค้าจำเป็นต้องใส่ให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นราคา สภาพสินค้า สี ขนาด วัสดุที่ใช้ในการผลิต หรือแม้แต่เหตุผลในการขายสินค้า หรือข้อบกพร่องของสินค้า หากเป็นสินค้าประเภทมือสอง ควรเขียนข้อมูลให้น่าสนใจ เช่น เสื้อยืดพิมพ์ลายไซส์ S สีไม่ตก ซักเครื่องได้ ใส่ได้ทุกโอกาส ค่าจัดส่งฟรี
 
3. ตั้งราคาที่เหมาะสมและจัดโปรโมชั่นโดนๆ
 
                เมื่อถูกใจสินค้าแล้ว สิ่งต่อไปที่ลูกค้าต้องการรู้คือ ราคา ซึ่งเทคนิคการตั้งราคาทำได้โดยศึกษาราคาที่ผู้ขายรายอื่นตั้งไว้ และพิจารณาว่าจะสามารถขายให้ถูกกว่าได้หรือไม่ เพื่อให้สินค้าขายได้เร็วขึ้น หรือหากจะตั้งราคาให้สูงกว่าก็ต้องรอเวลาสักหน่อย เพราะสินค้าราคาถูกมักขายได้เร็วกว่า นอกจากนี้ การจัดโปรโมชั่นสามารถกระตุ้นยอดขายได้ โดยลองจัดโปรโมชั่นหลายๆ รูปแบบเพื่อดูว่าโปรโมชั่นใดดึงดูดลูกค้าได้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจัดโปรโมชั่นบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้ลูกค้าสนใจแต่โปรโมชั่น ไม่สนใจสินค้า
 
4. บริการต้องดี
 
                การจะทำให้ลูกค้ากลับมาที่ร้านอย่างต่อเนื่องและเกิดการซื้อซ้ำ นอกจากสินค้าคุณภาพดีและราคาเหมาะสมแล้ว การบริการก็มีส่วนเช่นกัน ตัวอย่างการให้บริการที่ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ เช่น การตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อคำถามต่างๆ ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองสำคัญ การจัดส่งสินค้าภายในวันที่สั่งซื้อ การมอบส่วนลดสินค้าในกรณีที่ลูกค้ามารับสินค้าเอง และการเขียนการ์ดขอบคุณลูกค้า
 
5. เก็บหลักฐานการซื้อ-ขายและเอกสารการส่งสินค้า
 
                หากเกิดกรณีสินค้าสูญหายหรือลูกค้าได้รับสินค้าล่าช้า หลักฐานการซื้อ-ขายและเอกสารเกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าจะช่วยพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นว่า ผู้ขายทำการจัดส่งสินค้าตามวันเวลาที่ตกลงกับลูกค้า ซึ่งเอกสารเหล่านี้ไม่เพียงแต่ยืนยันความบริสุทธิ์ได้ หากแต่ยังแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบลูกค้าและความปลอดภัยในการซื้อสินค้ากับร้านค้าร้านนี้
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี