Digital Marketing

เหตุผลที่ทำให้อินโฟกราฟิกไม่โดนใจ

Text : Kritsana S.



    อินโฟกราฟิกเป็นการนำเสนอข้อมูลที่หลายแบรนด์นิยมนำมาใช้ เพราะทำให้ลูกค้าเข้าถึงและเข้าใจข้อมูล เช่น ความรู้ เหตุการณ์สำคัญ ข่าวสารประจำวัน และเทคนิคต่างๆ ที่แบรนด์ต้องการสื่อได้อย่างง่ายดาย แต่กระนั้น บ่อยครั้งที่แบรนด์มักประสบปัญหาอินโฟกราฟิกไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งสาเหตุมาจากสิ่งเหล่านี้

    1. ออกแบบไม่น่าสนใจ ไม่มีความแปลกใหม่ ขาดความสร้างสรรค์ ใช้ภาพที่ไม่สอดคล้องกับเนื้อหา รวมไปถึงเนื้อหาที่นำมาทำอินโฟกราฟิกมีความยาวเกินไป และให้รายละเอียดเยอะเกิน จึงทำให้อ่านแล้วรู้สึกเบื่อ ดังนั้น ควรเลือกนำเสนอเฉพาะประเด็นหลักๆ ที่สำคัญ มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน และระบุแหล่งที่มาของเนื้อหาทุกครั้งเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือ
    Bonus Tips : ออกแบบอินโฟกราฟิกอย่างไรให้น่าสนใจ?
    - ตั้งชื่ออินโฟกราฟิกให้สั้นกระชับ แต่น่าสนใจ
    - หากเนื้อหาที่ใช้ทำอินโฟกราฟิกเป็นตัวเลข แนะนำให้นำเสนอผ่านกราฟแบบต่างๆ หรือเพิ่มขนาดของตัวเลขให้โดดเด่น ส่วนเนื้อหาที่เป็นบทความให้นำเสนอผ่านภาพพร้อมคำบรรยายเล็กน้อย และเพื่อความสนุกในการอ่าน แนะนำให้เลือกใช้ภาพที่ดูสนุกและใช้สีสันที่สดใส ทั้งนี้ภาพที่ใช้ควรถูกลิขสิทธิ์ด้วย
    - การออกแบบอินโฟกราฟิกแบบ Timeline เหมาะสำหรับการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติหรือเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาต่างๆ เพราะทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายที่สุด



    2. ขาดการโปรโมต แม้อินโฟกราฟิกจะสวยแค่ไหน แต่หากไม่ได้รับการโปรโมตก็ย่อมไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งการโปรโมตทำได้ทั้งแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น โพสต์อินโฟกราฟิกบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของแบรนด์ และปักหมุดไว้บนสุด แชร์อินโฟกราฟิกไปยังเฟซบุ๊กตนเอง เพื่อน กลุ่ม และเพจอื่นๆ ที่ดูแล และส่งอินโฟกราฟิกไปยังอีเมลของลูกค้า ส่วนการโปรโมตแบบเสียค่าใช้จ่าย เช่น ซื้อโฆษณาเฟซบุ๊กเพื่อโปรโมตโพสต์อินโฟกราฟิก โดยวิธีนี้ช่วยให้โพสต์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด
    Bonus Tips : การส่งอินโฟกราฟิกให้เหล่าคนดังช่วยโปรโมตเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้อินโฟกราฟิกถูกแชร์ต่ออย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมกันนี้ ในอินโฟกราฟิกควรระบุช่องทางติดต่อแบรนด์ และฝังกลิงก์เว็บไซต์ลงไปด้วย เพื่อให้ผู้เข้าชมเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ได้โดยง่ายเพียงคลิกที่ภาพ

    3 เทคนิครักษาความสนใจของลูกค้า
    ทุกวันนี้เมื่อเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งผ่านมือถือและคอมพิวเตอร์จะพบกับข้อมูลมากมายที่หากจะอ่านให้ครบทุกข้อมูลก็เกรงจะไม่ไหว ฉะนั้นหลายคนจึงเลือกรับเฉพาะข้อมูลที่สนใจ และเพิกเฉยกับข้อมูลที่ไม่ก่อประโยชน์ให้กับตน ทั้งนี้จากการสำรวจของ Microsoft เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ พบว่า ในปี พ.ศ.2543 ผู้คนใช้เวลากับข้อมูลที่ตนสนใจ 12 วินาที ขณะที่ในปี พ.ศ.2558 ลดเหลือเพียง 8 วินาที ซึ่งน้อยกว่าระยะเวลาที่ปลาทองให้กับสิ่งที่มันสนใจเสียอีก ดังนั้น แบรนด์จึงควรรู้เทคนิคที่ทำให้ลูกค้าอยู่กับข้อมูลที่แบรนด์นำเสนอนานที่สุด
    - เช็กให้ชัวร์ว่าเว็บไซต์โหลดเร็ว เพราะระยะเวลาในการโหลดเว็บไซต์มีผลอย่างมากต่อความสนใจของผู้เข้าชม โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เว็บไซต์โหลดช้าคือ ภาพบนเว็บไซต์ที่มีมากเกินจำเป็น ทั้งนี้ มีงานวิจัยหนึ่งระบุ ผู้เข้าชมเว็บไซต์จะกดปิดเว็บไซต์ที่โหลดนานทันที เพราะการรอเว็บไซต์โหลด 1 วินาที ทำให้พวกเขาเสียเวลาในการทำสิ่งต่างๆ ไป 7 เปอร์เซ็นต์ 
    Note : เว็บไซต์ควรเปิดบนมือถือได้ด้วย เพราะผู้คนสมัยนี้ใช้เวลากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ไปกับการใช้งานโซเชียลมีเดียบนมือถือ โดย 52 เปอร์เซ็นต์ใช้มือถือในการแชร์ข้อมูลที่พบบนโซเชียล และ 41 เปอร์เซ็นต์ค้นพบแบรนด์ใหม่ๆ ผ่านการใช้งานโซเชียล บนมือถือ
    - ดึงดูดความสนใจด้วยภาพ จากการศึกษาพบว่า สมองของคนเราใช้เวลาเพียง 0.25 วินาทีในการประมวลผลภาพ ซึ่งเร็วกว่าการประมวลผลข้อความถึง 60,000 เท่า ดังนั้น แบรนด์จึงควรนำเสนอแคมเปญทางการตลาดหรือข้อมูลผ่านรูปภาพและกราฟิกเพื่อดึงดูดใจลูกค้า นอกจากนี้ การนำเสนอข้อมูลผ่านวิดีโอยังเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ เพราะผู้เข้าชมเว็บไซต์ใช้เวลา 100 เปอร์เซ็นต์ในการชมวิดีโอ และ 85 เปอร์เซ็นต์ตัดสินใจซื้อหลังจากชมวิดีโอแนะนำสินค้า
    - ส่งข้อมูลให้ถึงลูกค้า นอกจากนักการตลาดต้องสร้างแคมเปญทางการตลาดหรือสร้างรูปแบบการนำเสนอข้อมูลของแบรนด์ให้น่าสนใจแล้ว พวกเขาต้องไม่เกียจคร้านที่จะส่งมันไปให้ถึงลูกค้า และต้องส่งอย่างน้อย 7 ครั้ง เพราะจะทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจในแคมเปญหรือข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งตรงตามทฤษฎี Mere Exposure Effect ที่พูดถึงการรู้สึกชอบบางสิ่งบางอย่างเพียงเพราะพบเห็นสิ่งนั้นซ้ำๆ