Digital Marketing

ระวัง!! รับมือไม่ทัน ธุรกิจโตเร็วไปอาจเป็นภัย

Text : เจษฎา ปุรินทร์วงศ์กุล

 
     Startup มือใหม่มักภาวนาให้ธุรกิจของตัวเองก้าวหน้าและเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่บ่อยครั้ง การที่เราประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดก็มักนำภัยมาให้กับธุรกิจได้ เช่น ไม่มีความพร้อมในการรับมือความเปลี่ยนแปลง ตัดสินใจแก้ปัญหาไม่ทัน ไม่มีแผนรับมือในเรื่องต่างๆ และอีกหลายต่อหลายเรื่อง โดยเราสามารถศึกษาบทเรียนจากผู้ประกอบการที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบในเชิงลบต่อธุรกิจได้ เริ่มจาก

    1. วัฒนธรรมองค์กรได้รับผลกระทบ
     หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ไม่มีใครคาดคิดก็คือ เมื่อบุคลิกภาพและวัฒนธรรมองค์กรยังไม่แข็งแกร่ง หรือยังไม่เป็นไปตามที่เราทำการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ออกไป แบรนด์ย่อมได้รับผลกระทบและถูกกล่าวหาว่าสร้างภาพเอาได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่าธุรกิจของเราในตอนนี้เป็นสังคมแห่งความเสมอภาค ยึดหลักความเท่าเทียมกัน แต่คนในออฟฟิศกลับกีดกันเพศที่สาม หรือไม่ให้โอกาสผู้พิการเข้าทำงานด้วยอคติส่วนตัว แบบนี้เรียกว่าขัดกับความเป็นจริง และจะถูกโจมตีในที่สุด
     สิ่งที่ต้องทำ : ในช่วงเริ่มต้น เราสามารถหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กรได้ไม่ยาก เพราะมีจำนวนพนักงานไม่กี่คน และเมื่อต้องขยายธุรกิจ พยายามหาวิธีทำให้แน่ใจว่าได้ปลูกฝังวัฒนธรรมที่ดีและแบบเดียวกันให้กับพนักงานทุกคนแล้ว 
 
     2. ความซับซ้อนด้านการเงิน
     หากธุรกิจของเราเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วยเงินจากนักลงทุนอย่าง Angel Investor หรือ VC (Venture Capital) ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นความฝันที่ดี ขณะที่บางคนมองว่าเป็นฝันร้าย แน่ละเรื่องทุกเรื่องย่อมมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ โดยในแง่ลบนั้น ผู้ให้เงินสนับสนุนย่อมความหวังผลตอบแทน อาจคอยจับตาดูเราทุกฝีก้าว คอยควบคุม และอย่างแย่ที่สุดคืออกคำสั่งกับเราโดยตรง
     สิ่งที่ต้องทำ : ก่อนจะขอเงินจากแหล่งทุนใดๆ พยายามทำการบ้านให้ดีว่าผู้ให้เงินต้องการอะไรจากเรา และพยายามรายงานในสิ่งที่เขาคาดหวังว่าจะได้ยิน เพราะถ้าเราควบคุมเกมส์ได้ มีกำไรหรือผลลัพธ์ตามที่ผู้ให้เงินต้องการ เขาย่อมไม่จำเป็นต้องลงมาคุมเกมส์ธุรกิจนี้ด้วยตัวเอง
 
     3. จ่ายเงินไม่ทัน
     การที่ธุรกิจเติบโตขึ้น ย่อมมีเรื่องของรายจ่ายที่มากขึ้นตามเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น การปรับแต่งออฟฟิศให้สวยงาม ซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ วัสดุอุปกรณ์ใหม่ๆ ค่าโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนที่ผู้ประกอบการบางคนไม่ทันคิด และกลายเป็นหนี้จากค่าใช้จ่ายเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว
     สิ่งที่ต้องทำ : ตรวจสอบกระแสเงินสด และเงินหมุนเวียนทางธุรกิจให้ดี และพยายามรอบคอบเข้าไว้ วิเคราะห์ด้วยว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ เพราะเมื่อเรามาทำธุรกิจแล้วต้องคิดเอาไว้เสมอว่า จ่ายเงินไปแล้ว ควรจะได้กลับคืนมาเท่าไหร่ ถ้าจ่ายไปแล้วไม่มีผลดีอะไร ไม่ได้เงินกลับคืนมา ก็แปลว่าค่าใช้จ่ายนั้นยังไม่จำเป็นต้องจ่าย
 
     4. ต้องจ้างพนักงานเพิ่มอย่างเหมาะสม 
     การขยายตัวของธุรกิจที่รวดเร็วเกินไป จะทำให้พนักงานจำนวนเท่าเดิม ต้องรับภาระงานที่มากขึ้นไปด้วย พนักงานเท่าเดิมกับปริมาณงานที่มากเกินไปย่อมทำให้คุณภาพลดลง ส่งผลกระทบทั้งต่อลูกค้าที่มาใช้บริการ และสุขภาพจิตของพนักงาน ดังนั้น ต้องพยายามรับพนักงานใหม่ในปริมาณที่เหมาะสม
     สิ่งที่ต้องทำ : พนักงานเป็นรากฐานของความสำเร็จในธุรกิจของเรา อย่าพยายามประหยัดในสิ่งที่ไม่ควรประหยัด สิ่งที่จำเป็นคือแผนงานของพนักงานที่จะเข้ามา ว่าเขามีหน้าที่อะไร เหมาะสมกับตำแหน่งที่รับมาหรือไม่ต่างหาก หรือถ้าสถานะการเงินยังไม่ดีพอ อาจจ้างพนักงาน Part Time มาก็ได้
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี