Digital Marketing

“Collaboration Creates Mediocrity, Not Excellence…Seriously???” จริงหรือ?

Text : ปพนธ์ มังคละธนะกุล



    “Collaboration Creates Mediocrity, Not Excellence…Seriously???”
     จั่วหัวบทความนี้เป็นหัวข้อที่ลงใน Fan Page ของ Inc. ที่เป็นสื่อชื่อดังจากฝั่งอเมริกา เห็นหัวข้อแล้วต้องรีบนำมาเขียนเพราะส่วนตัวแล้วกังวลอย่างยิ่งว่า หากผู้อ่านได้มีโอกาสไปอ่านเจอ และไม่ได้คิดให้ครบด้านอาจจะเข้าใจผิด และนำไปปรับใช้กับธุรกิจจะทำให้เกิดความวุ่นวายกันไปใหญ่

    เนื้อหาในบทความอ้างถึงผลการศึกษาทางวิชาการของ Applied Psychology ว่า บรรยากาศการทำงานที่เอื้อให้ร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดที่ทำงานแบบ Open Space ที่ให้นั่งรวมๆ กัน ไม่มีออฟฟิศส่วนตัว มีที่ให้ประชุมกันเยอะๆ เพื่อให้เกิดการประชุมระดมสมองนั้น ไม่ได้ช่วยเพิ่มผลิตภาพแต่อย่างใด หนำซ้ำยังทำให้พวก “คนเก่ง” หรือ “High Performer” รู้สึกแย่ และเกิดความรู้สึกแปลกแยกทางสังคมอีกต่างหาก

    บทความอ้างว่า ด้วยบรรยากาศที่ทำงานแบบเปิดกว้างนั้น กลุ่มคนที่มีความสามารถกลางๆ (ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ขององค์กร) จะสุมหัวกันรังแกและกลั่นแกล้งคนเก่ง ทำให้คนเก่งไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จนรู้สึกแปลกแยก อันนำไปสู่ผลิตภาพที่ลดลงขององค์กร และเป็นต้นเหตุใหญ่ให้คนเก่งอยู่ในองค์กรไม่ได้ 

    ผมมีความรู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อความเห็นของบทความนี้ เนื่องจากไม่ได้มีการอ้างว่าผลการศึกษานั้นมีกลุ่มตัวอย่างในองค์กรแบบใด แต่จากลักษณะที่อธิบายว่า องค์กรใช้นโยบาย Open Space และบรรยายลักษณะคนเก่งว่าเป็นพวกที่ไม่ชอบเข้าสังคม ชอบทำงานคนเดียว เลยตั้งข้อสันนิษฐานเอาเองว่า น่าจะเป็นองค์กรที่เกี่ยวกับ Technology ที่บุคลากรส่วนใหญ่เป็นพวก IT

    บทความตั้งใจให้เห็นภาพว่า องค์กรที่ใช้หลัก “Collaboration” นั้น คนเก่งจะเป็นคนแบกองค์กร โดยที่คนที่เก่งน้อยกว่าลอยตัว ทำงานน้อยกว่า แต่ได้รับผลงานไปด้วยกันจากการร่วมมือกันทำงาน ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นองค์กรสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ อย่างไรบอกไม่ถูก 

    “Collaboration” ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนเท่ากัน ไม่มีหัว ไม่มีผู้นำ
      ทุกองค์กรยังต้องการผู้นำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ควรจะเป็นคนที่เก่งที่สุด แต่อาจไม่ใช่เก่งที่สุดในเรื่องงาน แต่ต้องเก่งที่สุดเรื่องการประสานงาน และสามารถนำพาให้คนเก่งทั้งหลายสามารถทำงานร่วมกันได้ และมีประสิทธิภาพสูงสุด 

     “Collaboration” จึงหมายความถึง การที่แต่ละส่วนในองค์กร ตั้งใจทำงาน ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด และสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ขององค์กร 
     
    ผู้บริหารที่เก่งจะต้องรู้ว่าควรจะใช้คนเก่งที่มีอยู่อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด หากเป็นคนเก่งที่ไม่ชอบสุงสิงกับคน งานที่มอบหมายให้ก็ควรจะเป็นงานที่สามารถทำคนเดียวได้สำเร็จ แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้ไปในแนวทางและทิศทางที่องค์กรวางไว้ ไม่ใช่ต่างคนต่างเดิน
     
    ลองนึกภาพว่าหากปล่อยให้คนเก่งที่ไม่ชอบปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ให้ทำงานโดยอิสระ โดยไม่มีการพูดจากัน ต่างคนต่างเดิน ไม่มีเป้าหมายร่วมกัน สุดท้ายผลผลิตชั้นยอดจากคนเก่งแต่ละคนเมื่อนำมาประกอบร่าง ก็คงไม่ต่างจากหัวมังกุท้ายมังกร ที่ของดีเมื่อมาอยู่รวมกันกลับไร้ซึ่งประโยชน์

    ยิ่งมี “คนเก่ง” เยอะเท่าไร ยิ่งต้องมี “Collaboration” สูงมากขึ้นเป็นทวีคูณ
     คนยิ่งเก่ง ยิ่งมีอัตตา หากไม่อยู่ในกรอบเพื่อส่วนรวมเสียแล้ว จะพากันหลงทางเสียมากกว่า
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี