Digital Marketing

จะหาตลาดเป้าหมายด้วยตัวเลขสถิติได้อย่างไร

Text : ณัฏฐพัชร กมลพลพัตร Founder & CEO, CEMSHALLS
 


      ความผิดพลาดมหันต์และการทำธุรกิจล้มเหลว สาเหตุหนึ่งมาจากการคิดเข้าข้างตัวเองของผู้ประกอบการ ที่มักใช้การจินตนาการคิดไปเองว่า โปรดักต์ของตัวเองนั้นดีถ้าพัฒนาออกมาแล้วต้องขายได้อย่างแน่นอน เรียกง่ายๆ ว่า คิดเอง เออเอง และเข้าข้างตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่

     ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะพัฒนาโปรดักต์ใดๆ ออกมา สิ่งที่ต้องทำคือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้แน่ชัดว่าจะขายใคร ใครจะใช้บริการ ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่ Startup จะหาตลาดเป้าหมายมารองรับกับสินค้าและบริการของตนเองได้คือ การวิเคราะห์ตลาดจากตัวเลขทางสถิติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเองและนักลงทุน

     เคยสังเกตกันไหมว่า ในทุกๆ เดือน ทุกๆ ไตรมาส หรือทุกๆ ปี จะมีตัวเลขทางสถิติออกมามากมายจากหน่วยงานและภาคองค์กรธุรกิจต่างๆ เช่น ดัชนีผู้บริโภค สถิติผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต สถิติการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ หรือแม้แต่สถิติประชากรที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ ซึ่งรายงานเชิงสถิติทั้งหมดเหล่านี้หากเรามองเผินๆ ก็คงคิดว่าไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับธุรกิจของเราสักเท่าไหร่เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่เน้น Feature เจ๋งๆ ตามวิถีของ Startup แต่หารู้ไม่ว่า หากรู้จักนำข้อมูลเชิงสถิติเหล่านี้มาวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว อาจทำให้เรามองเห็นโอกาสทางการตลาดที่มีอยู่ได้อย่างคาดไม่ถึง จนสามารถกำหนดตลาดเป้าหมายให้กับธุรกิจของเราได้อีกด้วย

     สำหรับกระบวนการนำข้อมูลทางสถิติมาใช้งานนี้ ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า สมมติพบสถิติของมูลค่าการค้าออนไลน์ในประเทศไทย จาก ETDA ที่มีการคาดการณ์ว่า การค้าออนไลน์จะมีมูลค่ามากถึง 2.59 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ.2559 และในตลาดอี-คอมเมิร์ซนั้นยังมีการแยกย่อยเป็นมูลค่าตลาดตามสินค้าหรือบริการในแต่ละหมวดหมู่ เช่น การจองห้องพัก 5.59 แสนล้านบาท การค้าปลีกออนไลน์ 5.36 แสนล้านบาท การผลิต 4.28 แสนล้านบาท กรณีนี้หากเราต้องการที่จะเซกเมนต์ตลาดให้ลึกลงไปเพื่อลดความรุนแรงในการแข่งขันในตลาดอี-คอมเมิร์ซที่แม้มีมูลค่าสูงก็จริง แต่นั่นหมายถึงการแข่งขันที่รุนแรงมากด้วยเช่นกัน ฉะนั้นเราจึงมองลงไปที่ภาพย่อยของตลาดอี-คอมเมิร์ซจากมูลค่ารวม 2.5 ล้านล้านบาทให้เป็นภาพที่เล็กลง สมมติว่าในที่นี้ต้องการทำแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ซึ่งมีลักษณะของการค้าปลีก ฉะนั้นจึงโฟกัสไปที่มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในหมวดหมู่ของการค้าปลีกออนไลน์ที่มีมูลค่า 5.36 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้แล้วจึงนำไปกำหนดตลาดเป้าหมายให้กับธุรกิจของผมได้ว่าเป็น Online Market Place ที่จัดอยู่ในตลาดการค้าปลีกออนไลน์ที่มีมูลค่าตลาด 5.36 แสนล้านบาทที่ธุรกิจจะนำบริการตัวนี้เข้าไปสร้าง Market Share ในมูลค่าตลาดให้เข้ามาเป็นรายได้ของบริษัท

     เมื่อได้ข้อมูลที่สามารถทำให้กำหนดตลาดเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการแล้ว การวางแผนงานในลำดับถัดมา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย จะทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ถูกกลุ่ม
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี