Digital Marketing

​เปิด 6 บทเรียนความล้มเหลวของ Startup


 
     หลังจากเก็บเงิน ระดมทุน หรือกู้เงินมาจนสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ ก็ต้องบอกว่า “ยินดีด้วย” กับเส้นทางของผู้ประกอบการ แต่การเดินทางไม่ได้จบเพียงแค่นี้ เพราะนี่เป็นเพียงแค่บทนำหรือการเริ่มต้นธุรกิจเท่านั้น เนื่องจากระหว่างทางยังมีอุปสรรค ปัญหา และความท้าทายรอเราอยู่อีกมาก  ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ทำให้แต่ละก้าวในการทำธุรกิจของเราต้องเต็มไปด้วยความรอบคอบ เพราะหากไม่ระมัดระวังให้ดีก็มีโอกาสล้มเหลวลงได้ ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เรามักล้มเหลวในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ก็คือ

     1. ขาดการวางแผน

     ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าขนาดเล็ก ผู้ประกอบการคนเดียว ห้างหุ้นส่วน ไปจนธุรกิจขนาดใหญ่ หากขาดการวางแผนที่ดี ย่อมส่งปัญหาในการดำเนินธุรกิจได้ เพราะถ้าเรายังไม่รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ผลิตภัณฑ์หรือบริการดีกับกลุ่มเป้าหมายอย่างไร ค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่ที่เท่าไหร่ (เพื่อให้รู้ว่าต้องสร้างรายได้และกำไรกี่บาทจึงจะอยู่รอดได้) รวมถึงแผนระยะสั้นและระยะยาว หากเรายังมีเครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นในใจ พยายามไขปัญหาเหล่านี้ให้ออกก่อนเริ่มต้นธุรกิจ และวางแผนอย่างเป็นระบบให้ได้   

     2. ขาดการลงทุนในเทคโนโลยี

     แม้ว่าการลงทุนในเทคโนโลยีจะเป็นเรื่องที่ดูแล้วเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจ แต่ถ้าในระยะยาวธุรกิจของเราไม่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง ก็มีโอกาสล้าหลังและเดินตามคู่แข่งได้ยาก

     เทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง เพียงแค่ช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการงานได้ง่ายขึ้นก็พอแล้ว เช่น แอพลิเคชันบริหารจัดการบัญชี หรือเว็บไซต์ที่รับสมัครสมาชิกเพื่อรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและเงินได้ เพราะทำให้เราไม่ต้องลงพื้นที่แจกใบปลิวหรือแบบสอบถาม ขณะเดียวกันหากคุณพบเทคโนโลยีราคาแพงที่ไม่สามารถจ่ายเงินซื้อได้ ลองหาตัวเลือกอื่นที่เป็นแบบที่ไม่ต้องเสียเงินมาทดลองใช้ดู

     3. วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายผิด

     นี่คือความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุด เพราะเมื่อเราเลือกกลุ่มเป้าหมายผิดแล้ว การตลาดย่อมพลาดตามไปด้วย เนื่องจากเราจะโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถเลือกเนื้อหาและโปรโมชั่นให้เหมาะสมกับผู้ซื้อได้ เช่น สินค้าเด็กที่มีราคาสูง แต่กำหนดกลุ่มผู้ซื้อเป็นเด็กซึ่งไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้ที่จ่ายเงินได้คือผู้ใหญ่และผู้ปกครองของเด็ก เป็นต้น

     4. ใช้จ่ายเกินตัว

     หากเราไม่สามารถกำหนดงบประมาณและค่าใช้จ่ายได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำ ปัญหาการใช้จ่ายเงินเกินตัว หรือนำเงินในการทำธุรกิจไปซื้อของใช้ให้กับตัวเองย่อมตามมาด้วย ที่สำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าใน 3-6 เดือนข้างหน้า เรามีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในการทำธุรกิจ ควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายและตรวจสอบอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง
 
      5. ขาดการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์

     ยุคสมัยนี้ การตลาดและช่องทางการจำหน่ายบนโลกออนไลน์ เปรียบเสมือนขุมทรัพย์และความสำเร็จของ SME เลยทีเดียว ดังนั้น ใครไม่เรียนรู้และพยายามก้าวให้ทันโลก ย่อมประสบปัญหาเรื่องรายได้ลดลงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากเว็บไซต์มีตัวอักษรหรือข้อความมากเกินไปจนรก หรือใช้ Facebook และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ไม่ถูกวิธี ติดแท็กมั่ว โพสวันละ 10ครั้ง โฆษณาขายของอย่างเดียว ก็จะเป็นการสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้งานและกลุ่มเป้าหมายบนโลกออนไลน์ได้ง่ายๆ ดังนั้น พยายามเรียนรู้กลยุทธ์การตลาดออนไลน์ที่เหมาะสมเอาไว้ด้วย

     6. ทำธุรกิจเพียงลำพัง

     อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นพฤติกรรมเชิงลบของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็คือ การพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเองเพียงลำพัง หรือต่อให้จ้างพนักงาน ก็ต้องคุมทุกอย่างเป็นเงาตามตัว เพราะไม่ไว้ใจหรือคิดว่าธุรกิจของตนเอง ย่อมไม่มีใครรักและทำได้ดีกว่าตัวเอง ซึ่งถ้าเรามีพฤติกรรมติดตัวแบบนี้อยู่ ต้องบอกว่าเราจะเหนื่อยและหมดแรงกับการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก ลองเปิดใจและปล่อยให้คนที่มีความสามารถมาช่วยเหลือเรา น่าจะดีกว่า ไม่เชื่อลองมองไปรอบๆ ตัวแล้วเราจะพบว่า ไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่บริษัทไหน สำเร็จได้ด้วยการทำงานเพียงลำพัง  




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี