Digital Marketing

8 เทคนิคออกแบบโลโก้ยังไงให้โดนใจ




 
 
     เพราะโลโก้ไม่ใช่แค่การออกแบบตัวหนังสือหรือรูปภาพ แต่ต้องทำให้คนที่เห็นสามารถเข้าถึงความเป็นตัวตนของแบรนด์ได้ ทุกธุรกิจต่างก็ต้องการโลโก้ที่สวยและน่าจดจำมาเป็นตัวดึงดูดความสนใจของลูกค้ากันทั้งนั้น แล้วจะทำยังไงให้ได้สิ่งที่เรียกว่าเป็นเหมือนหน้าตาของแบรนด์ที่ทั้งดูดีและโดนใจ 
 
     1. หาแรงบันดาลใจ
     อันดับแรกในการคิดโลโก้คือการหาไอเดีย ลองมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่จะนำมาเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวจุดประกายความคิด เช่น เดินป่าสัมผัสธรรมชาติ ดูงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ นั่งสมาธิ ถ่ายภาพ เล่นกีฬา เป็นต้น ซึ่งการได้ลองทำกิจกรรมต่างๆ ที่เต็มไปด้วยพลังและความสนุกจะช่วยให้คุณได้ไอเดียใหม่ๆ มาใช้ในการออกแบบได้
 
     2. เช็กคู่แข่ง
     การเข้าไปดูเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของแบรนด์อื่นๆ นอกจากจะทำให้คุณได้เห็นว่าพวกเขาใช้โลโก้แบบไหนแล้ว ยังช่วยฝึกการคิดวิเคราะห์ได้ เช่นหลังจากดูโลโก้เหล่านั้นแล้วคุณรู้สึกยังไง มันดูดีหรือยัง น่าสนใจไหม มีตรงไหนที่ควรแก้อีกบ้าง คำถามพวกนี้แหละที่จะช่วยให้คุณเอากลับมาพัฒนาแบรนด์หรือกลยุทธ์การตลาดของคุณเองได้ อีกอย่างควรหาว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของแบรนด์คู่แข่งคืออะไรและนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับแบรนด์ของคุณเอง
 
     3. ใช้คำที่มีความหมายโดนๆ
     หัวใจสำคัญของโลโก้คือการสร้างความสัมพันธ์ที่น่าจดจำกับตัวแบรนด์ ดังนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่คุณควรคิดว่าอยากให้บริษัทหรือโปรดักต์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับอะไร ลองลิสต์คำที่อยากจะให้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ดู เช่น ถ้าคุณทำธุรกิจเครื่องประดับอาจใช้คำว่า อัญมณี สวยงาม หรูหรา มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร อ่อนหวานแบบสตรีเพศ งดงาม ดั่งราชินี เป็นต้น และเมื่อคุณได้คำที่ใช่แล้วจะช่วยให้การเลือกฟอนต์ สี หรือเทคนิคการทำภาพของโลโก้นั้นง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
     4. เลือกประเภทโลโก้ให้เหมาะสม
     คำถามง่ายๆอย่าง โลโก้แบบไหนล่ะที่อยากได้ เป็นคำถามยอดฮิตที่ผู้ประกอบการต้องเจอและคำตอบที่ได้ก็มักจะเป็น อยากได้แบบที่มันเจ๋งๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเลย เพราะคุณควรใช้เวลาและหาแบบโลโก้ที่ต้องการที่คุณคิดว่ามันจะเวิร์กกับแบรนด์ของคุณจริงๆ
ประเภทของโลโก้
   
     - รูปภาพ (Pictorial) เป็นการออกแบบโลโก้โดยใช้รูปภาพที่จดจำง่าย เช่น แบบที่คุ้นตากันดีกับรูปเส้นโค้งตวัดหางแหลมหรือที่เรียกกันว่า Swoosh ของไนกี้ หรือการใช้รูปแพนด้าขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature - WWF) ยิ่งถ้าธุรกิจของคุณจะโกอินเตอร์ โลโก้ประเภทนี้ก็จะยิ่งตอบโจทย์เพราะรูปภาพนั้นไม่ต้องการคำแปล นอกจากนี้ยังเหมาะกับแบรนด์ที่ต้องการทำการสื่อสารด้วยข้อความหรืออารมณ์ความรู้สึกที่ชัดเจนไปยังลูกค้าอีกด้วย
     
     - ลายกราฟิกหรือ “โมโนแกรม” (Monogram) อย่างของซีเอ็นเอ็น (CNN) หรือนาซ่า (NASA) การออกแบบโลโก้แบบนี้เหมาะกับแบรนด์ที่มีชื่อยาวหรือมีเจ้าของร่วมกันหลายคน เช่น บริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่ของโลกอย่างฮิวเลตต์-แพคการ์ด (Hewlett-Packard) ที่ใช้โลโก้ชื่อย่อว่า เอชพี (hp) เป็นต้น การใช้โลโก้แบบโมโนแกรมถือเป็นอีกเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการทำแบรนด์ดิ้งและการตลาด

     - ใช้ตัวอักษรเพียงอย่างเดียว (Wordmark) โลโก้ประเภทนี้จะใช้ชื่อของธุรกิจ สินค้าหรือบริการนั้นๆในการออกแบบและจะเลือกใช้ฟอนท์ที่มีสไตล์เข้ากับลักษณะของธุรกิจ เช่นของเลโก้ (Lego) หรือซัมซุง (Samsung) ถือเป็นโลโก้ที่ง่ายต่อการเข้าใจและอย่าลืมว่าชื่อที่ใช้นั้นต้องไม่ยาวเกินไป

     - มาสคอตหรือตัวการ์ตูนสัญลักษณ์ (Mascot) เป็นการออกแบบโดยใช้รูปคนหรือตัวการ์ตูนมาเป็นโลโก้ เช่นของ พริงเกิลส์ (Pringles) และอังเคิลเบน (Uncle Ben’s) โลโก้ประเภทนี้จะช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าเด็กและครอบครัวได้ นอกจากนี้ยังเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการกระตุ้นให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย

     - สัญลักษณ์ (Emblem) เป็นการออกแบบโดยใช้ตราสัญลักษณ์อาจจะเป็นกรอบสี่เหลี่ยม วงกลม โล่หรืออื่นๆที่ประกอบไปด้วยรูปภาพหรือตัวอักษรในกรอบนั้นอีกที เช่นของคอนเวิร์ส (Converse) และบีเอ็มดับบลิว (BMW) ซึ่งการใช้โลโก้แบบสัญลักษณ์จะช่วยสร้างภาพของการเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือได้ สิ่งที่ควรจำสำหรับการทำโลโก้ประเภทนี้คือต้องง่ายต่อการพิมพ์และต้องไม่มีรายละเอียดปลีกย่อยจนเกินไป

     - รวมทุกแบบเข้าด้วยกัน (Combination) เป็นการออกแบบที่รวมกันระหว่างตัวอักษรและรูปภาพในโลโก้เดียวกัน เช่น อเมซอน (Amazon) และดังกิ้นโดนัท (Dunkin’ Donuts) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของโลโก้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 

     5. ติดตามเทรนด์
     เวลาออกแบบโลโก้มีหลายทางที่ช่วยในการเพลย์เซฟอย่างการใช้ตัวหนังสือแบบหนา สีขาว-ดำ หรือการใช้ฟอนต์ Serifs แต่ถ้าหากคุณอยากจะได้โลโก้ที่โดนนั้นต้องกล้าที่จะสร้างความแตกต่าง ดังนั้นต้องติดตามเทรนด์ของการดีไซน์อยู่เสมอ เช่น ใช้สีแห่งปีอย่างสีม่วงอัลตราไวโอเลต หรือจะใช้การไล่เฉดสีและลูกเล่นในการพิมพ์ก็จะช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับโลโก้ของคุณได้
 
     6. อย่าหยุดออกแบบ
     คุณไม่รู้หรอกว่าเมื่อไหร่ที่ไอเดียบรรเจิดจะมา ดังนั้นควรมีอุปกรณ์สำหรับการร่างแบบโลโก้ติดตัวอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นกระดาษหรือสมาร์ทโฟนที่ผู้ใช้สมัยนี้สามารถวาดภาพต่างๆผ่านทางแอปพลิเคชันได้ ทางที่ดีอย่าหยุดร่างแบบโลโก้ที่คุณชอบเสียล่ะเพราะมันอาจจะมีประโยชน์และนำมาใช้ได้ในวันข้างหน้า
 
      7. ใช้ตัวช่วยออนไลน์
     บนอินเทอร์เน็ตมีเครื่องมือออนไลน์มากมายที่ช่วยในการออกแบบโลโก้ได้ ถ้าคุณอยากที่จะทำโลโก้ด้วยตัวเองต้องแน่ใจว่าคุณมีความรู้และความถนัดที่จะใช้เว็บไซต์หรือซอฟต์แวร์นั้นๆ ลองตั้งคำถามดูว่าเว็บไซต์นั้นมีทุกอย่างที่ต้องการไหม ง่ายที่จะใช้หรือเปล่า จำไว้ว่าถ้าคุณยังไม่พอใจ 100 เปอร์เซ็นต์คุณก็สามารถไปลองใช้ของเว็บอื่นๆ ได้ แต่ถ้าคุณไม่รู้จริงๆว่าต้องเข้าเว็บไหนและควรใช้เครื่องมืออะไร ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ LogotypeMaker เพราะเป็นเว็บที่ง่ายแม้กับคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านการออกแบบเลยก็ตาม
 
     8. ทดลองก่อนใช้จริง
     เมื่อคุณได้แบบโลโก้ที่ชอบมาแล้วอย่ารีบร้อนที่จะทำออกมาเร็วจนเกินไป ลองเอามาเทสต์บนหน้าเว็บไซต์หรือทำเป็นโปรไฟล์ดูก่อน หรือบางทีอาจจะทำโพลขึ้นมาให้คนเข้ามาให้ฟีดแบค เช่น ถามว่ามันดูสวยพอหรือยัง อยากแก้ตรงไหนไหม ดูเข้ากันกับเว็บไซต์หรือเปล่า คุณควรใช้โลโก้ที่คุณชอบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามันยังไม่โดนใจพอ คุณก็ยังสามารถเปลี่ยนแบบโลโก้ใหม่ได้ อย่ารีบร้อนในการออกแบบมากนัก จำไว้ว่าโลโก้จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของธุรกิจคุณได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นควรใช้เวลาให้คุ้มค่าและทำออกมาให้ดีที่สุด   
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี