Digital Marketing

9 ทิปส์ดีๆ ดัน Startup โตทะลุเป้า





 
 
     เคยไหมที่มีไอเดียธุรกิจอยู่ในหัวเต็มไปหมดแต่ไม่รู้ว่าจะเลือกอันไหนดี อันนั้นก็ดูท่าจะเวิร์ก อันนี้ก็น่าจะใช่ ถ้ายังสับสนอยู่อย่างนี้ ลองมาหาคำตอบกับ 9 แนวคิดที่จะทำให้รู้ว่าควรไปต่อหรือวางมือจากไอเดียนั้นดี
 
     1. สนุกกับงานทุกวัน
         ในการทำธุรกิจหลายคนคงหยิบยกเอาเรื่องของ Passion ในสิ่งที่ตัวเองรักมาเป็นจุดเริ่มต้น แต่อาจคิดไม่ถึงว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นในการเป็นผู้ประกอบการคือต้องมี Passion ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตและก้าวหน้าได้ ซึ่งจะไปให้ถึงจุดนั้นเรื่องของความสนุกที่มีต่องานแต่ละงานที่ต้องทำในแต่ละวันถือเป็นปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มลงมือทำธุรกิจใดๆ ลองนึกภาพของงานประจำวันที่ต้องทำดู หากพบว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ชอบก็แสดงว่าไอเดียธุรกิจนั้นอาจไม่ใช่สำหรับคุณ 
 
     2. โปรดักต์เหมาะสมกับคนทำ
         นอกจากจะต้องพัฒนาโปรดักต์ให้สามารถตอบโจทย์ตลาดได้แล้ว ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินทุนของตัวเองหรือเงินลงทุนจากคนใกล้ชิดต้องทำโปรดักต์ที่มีความเหมาะสมและเข้ากันกับตัวเองด้วย โดยควรคำนึงถึงเรื่องของทักษะ ความรู้ความสามารถที่มีและต้องรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจได้อย่างสูงสุดอีกด้วย
 
     3. โมเดลธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนได้
         ความทะเยอทะยานและมีเป้าหมายที่จะทำธุรกิจให้ขยายตัวและประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่ Startup ต้องมี โดยเฉพาะการวางโมเดลธุรกิจที่ต้องสามารถปรับเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ และหนึ่งในแนวความคิดสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ จะบริหารจัดการเรื่องของกำไรที่ได้อย่างไรเพื่อทำให้ธุรกิจมีการเติบโต จะทำการคิดค่าบริการหรือสินค้ากับลูกค้าอย่างไร ซึ่งการจะทำให้ธุรกิจมีความแข่งแกร่งได้นั้นต้องอาศัยการประเมินการและปรับรูปแบบธุรกิจให้มีความเหมาะสม ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและรับมือกับเทรนด์ในอนาคตได้
 
     4. ได้กำไรแม้ไม่ต้องลงมือเอง
         หลายต่อหลายคนติดกับดักของการคิดว่าต้องลงมือทำเองทุกอย่างธุรกิจถึงจะดี ซึ่งความคิดแบบนี้จะทำให้เกิดการยึดติดกับการทำหน้าที่ต่างๆ ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นและทำให้มองไม่เห็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ รู้หรือไม่ว่า การจ้างพนักงานหรือระบบให้เข้ามาทำงานแทนโดยที่ยังสามารถทำกำไรต่อไปได้คือการทำธุรกิจที่แท้จริง
 
     5. เน้นการสร้างคุณค่า
         เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของเงินๆ ทองๆ แต่รวมถึงการสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้กับตัวกิจการไม่ว่าจะเป็นการออกแบบดีไซน์โปรดักต์ด้วยตัวเองซึ่งจะช่วยสร้างเอกลักษณ์และความยั่งยืนต่างจากการทำหรือขายของลอกเลียนแบบของคนอื่นที่อาจได้ผลดีในระยะสั้นๆ เท่านั้น หรือในส่วนของการจ้างงานที่ควรเลือกคนเก่งและมีประสิทธิภาพมาเป็นแรงขับเคลื่อนให้บริษัทถือเป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่างจากการจ้างงานคนธรรมดาที่อาจช่วยประหยัดเงินได้ในระยะแรกเท่านั้น ดังนั้นในทุกขั้นตอนของการทำงานควรมีการคำนึงถึงการสร้างสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและแตกต่างให้กับธุรกิจ
 
     6. เจาะกลุ่มตลาดใหญ่
         การเจาะไปที่ตลาดใหญ่และมีศักยภาพถือเป็นบันไดที่จะพาไปสู่เป้าหมายระยะยาวอย่างการเป็นผู้เล่นในวงการที่สามารถสร้างอิมแพคให้กับคนหมู่มากได้ แม้การเริ่มต้นอาจจะมาจากการตีตลาดเล็กแต่เจ้าของกิจการควรมีการรักษาผลกำไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับตัวไปสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น โดยในขั้นตอนของการวางไอเดียควรพิจารณาว่าธุรกิจที่จะทำนั้นมุ่งเจาะเพียงตลาดขนาดเล็กหรือสามารถขยับขยายไปตีตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้
 
     7. มองความต้องการของลูกค้าให้ทะลุ
         ในการทำธุรกิจแค่จุดขายที่เป็นเอกลักษณ์และความแตกต่างนั้นไม่เพียงพอ เพราะหัวใจหลักที่แท้จริงคือการนำเสนอโปรดักต์ที่สามารถแก้ไขปัญหาหรือ Pain Point และตอบสนองความสุขของลูกค้าได้นั่นเอง ดังนั้นต้องมองให้ออกว่าสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจริงๆ คืออะไร แนวคิดที่มีนั้นเป็นคำตอบที่สามารถเข้าถึงปัญหาหรือให้ความสุขกับลูกค้าได้จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่ไอเดียดีๆ เท่านั้นแต่ไม่สามารถตอบโจทย์ได้
 
     8. ตามหาลูกค้าตัวจริง
         อย่างที่บอกว่าการมีแค่ไอเดียที่ดีไม่ใช่สมการที่สมบูรณ์ เพราะสิ่งที่ธุรกิจต้องการคือการหาลูกค้าตัวจริง ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลและสร้างการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เช่น การสร้างคอนเทนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบนออนไลน์หรือออฟไลน์ ซึ่งคำถามที่ต้องเช็กคือ คุณจะทำอย่างไรเพื่อที่จะหาลูกค้าให้กับธุรกิจ และอะไรที่จะทำให้คุณและบริษัทนั้นแตกต่างจากผู้เล่นอื่นๆ ในตลาด
 
     9. พร้อมออกสู่ตลาดในเวลาอันสั้น
         หนึ่งในคุณสมบัติของไอเดียธุรกิจที่ดีคือ สามารถทำการเปิดตัวได้อย่างรวดเร็ว ควรหลีกเลี่ยงการทำโปรดักต์ที่มีรูปแบบหรือความซับซ้อนมากเกินไป หากต้องใช้เวลาเป็นปีเพื่อที่จะปล่อยโปรดักต์สู่ตลาดจะทำให้สูญเสียข้อมูลลูกค้าจริงไป ดังนั้นเมื่อรู้แล้วว่าลูกค้าที่ยอมจ่ายให้มีจำนวนเท่าไร ควรทำการวางสินค้าโดยเร็วที่สุด เช่น ภายใน 7 วัน หรือ 2 เดือน แต่ไม่ควรกินระยะเวลานานเป็นปีๆ      
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup