Digital Marketing

unseasonal marketing ปั้นยอดขายนอกฤดูได้อย่างไร





              

     หนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดที่ผู้ประกอบการรู้จักดีคือ กลยุทธ์การตลาดตามฤดูกาล หรือ Seasonal Marketing โดยแบ่งออกเป็นการทำการตลาดตามช่วงฤดูกาลธรรมชาติ และการทำการตลาดในช่วงเทศกาลต่างๆ แต่เพราะไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการทุกคนจะผลิตสินค้าที่ขายได้ทุกฤดูหรือทุกเทศกาล ดังนั้น นี่จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า จะขายสินค้าในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูหรือเทศกาลที่ต้องใช้สินค้านั้นได้อย่างไร

     วีรพล สวรรค์พิทักษ์ CMO บริษัท ลาเนเจอร์ จำกัด และ Digital Marketing Manager บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า เพียงแค่เลือกใช้กลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสม ผู้ประกอบการก็สามารถขายสินค้าได้ตลอดทั้งปีไม่ว่าจะฤดูไหนหรือเทศกาลใดก็ตาม ซึ่งกลยุทธ์ที่ควรนำมาใช้กับการขายสินค้านอกฤดูคือ กลยุทธ์การตลาดนอกฤดูกาล หรือ Unseasonal Marketing ที่แม้ชื่อจะฟังไม่คุ้นหู แต่มีขั้นตอนการทำแสนง่ายๆ ดังนี้

     1. ไม่มองข้ามบริการลูกค้า
         สิ่งที่จะทำให้สินค้าขายได้ในช่วงที่ลูกค้าไม่ต้องการซื้อ หรือช่วงที่ไม่มีความพิเศษ เช่น ไม่มีโปรโมชัน หรือไม่มีส่วนลด คือ การบริการลูกค้าที่ดี พนักงานขายต้องให้บริการลูกค้าอย่างดีเยี่ยมจนลูกค้าเกิดความประทับใจ ต้องมีทักษะในการพูดโน้มน้าวใจให้ลูกค้าเล็งเห็นว่า พวกเขามีความจำเป็นต้องซื้อสินค้านั้นๆ โดยหนึ่งในเทคนิคการพูดโน้มน้าวใจคือ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าของมันต้องมี! อาจด้วยวิธีขายความกลัวให้ลูกค้า เช่น ถ้าขายเครื่องฟอกอากาศให้พูดถึงอันตรายของฝุ่น และต้องไม่ลืมพูดถึงจุดขายสินค้าอย่างเครื่องฟอกอากาศนี้สามารถขจัดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ ทั้งนี้การให้คำแนะนำหรือความรู้เกี่ยวกับสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ

     NOTE : อย่าละเลยการให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องมีพนักงานตอบคำถามลูกค้าในทุกช่องทางออนไลน์ที่ลูกค้าติดต่อเข้ามา ตอบคำถามรวดเร็ว และคำตอบที่ให้ไปต้องมีความถูกต้อง

     2. ทำให้ความสัมพันธ์ดีๆ เกิด
         การสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดกับลูกค้าตจะนำมาซึ่งความจงรักภักดีต่อแบรนด์ โดยแม้พวกเขาจะยังไม่ซื้อสินค้าในเวลานี้ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้สินค้าจะนึกถึงแบรนด์ขึ้นมาทันที สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำหลังจากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้แล้วคือ เก็บข้อมูลลูกค้า เช่น สินค้าที่ซื้อบ่อย สินค้าที่ชื่นชอบ จากนั้นนำเสนอขายสินค้านั้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม
              
     NOTE : การทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกพึงพอใจมากกว่าที่คาดหวังไว้สามารถทำให้พวกเขาตัดสินใจซื้อสินค้าได้เดี๋ยวนั้นแม้ยังไม่ต้องการใช้ และความพึงพอใจที่เกิดขึ้นนี้สามารถพัฒนาไปเป็นความสัมพันธ์ที่ดีได้ ตัวอย่างวิธีสร้างความพึงพอใจ เช่น ให้สินค้าตัวอย่าง และมอบส่วนลดพิเศษเนื่องในวันเกิด เป็นต้น

     3. สร้างฤดูขึ้นเอง
         
เชื่อว่าผู้ประกอบการอยากให้ตลอดทั้งปีมีเฉพาะฤดูที่เอื้อต่อการขายสินค้า เช่น แบรนด์สินค้าหน้าหนาวก็อยากให้อากาศหนาวตลอดปี สินค้าจะได้ขายดิบขายดี แม้ในความเป็นจริงไม่สามารถกำหนดฤดูกาลธรรมชาติได้เอง แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถสร้างขึ้นได้ เช่น ถ้าอยากขายชุดว่ายน้ำได้ในหน้าหนาว ผู้ประกอบการต้องสร้างหน้าร้อนขึ้นมา และทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า ณ เวลานั้นคือหน้าร้อนด้วยการจัดกิจกรรมพิเศษอย่างการจัดงานเดินแบบชุดว่ายน้ำที่มีกิมมิกแตกต่างจากงานเดินแบบชุดว่ายน้ำในหน้าร้อน เมื่อลูกค้ารู้สึกว้าวกับสิ่งที่ได้เห็น พวกเขาอาจตัดสินใจซื้อสินค้าทันที

     NOTE : การจัดกิจกรรมครบรอบก็เป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างฤดูหรือเทศกาลขึ้นเอง เช่น แบรนด์จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ลูกค้าจะรู้สึกว่าตลอดทั้งปีมีสินค้าขายในราคาพิเศษ มีโปรโมชันและส่วนลดมากมายรอพวกเขาอยู่

     4. สื่อสารตลอด
         แม้จะไม่ใช่ฤดูที่ยอดขายสินค้าพุ่งกระฉูด แต่ผู้ประกอบการก็ห้ามหยุดสื่อสารกับลูกค้า หน้าเว็บไซต์และหน้าเพจต้องมีการเคลื่อนไหวตลอด เพื่อให้แบรนด์อยู่ในสายตาลูกค้าและถูกพูดถึงอยู่เสมอ กระแสสินค้าจะได้ไม่หายไปจากท้องตลาด
 
     BONUT TIPS : 
     เมื่อรู้วิธีสร้างฤดูให้ขายสินค้าได้ทั้งปีแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ต้องทำคือ สต็อกสินค้าให้เพียงพอกับการขาย และต้องเป็นการสต็อกสินค้าที่ไม่ทำให้ร้านเจ๊ง ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่าต้องสต็อกสินค้าชิ้นใดมากชิ้นใดน้อย คือ รายงานการขายย้อนหลัง รวมทั้งรีวิวสินค้าจากลูกค้าที่จะทำให้รู้ว่า สินค้าชิ้นไหนได้รับการตอบรับดี สินค้าชิ้นไหนมีการพูดถึงเยอะ เมื่อรู้ว่าสินค้าใดเป็นที่ต้องการมากให้สต็อกสินค้านั้นมากกว่าสินค้าอื่น และอาจส่งโปรโมชันพิเศษไปยังกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้านั้นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการขายให้มากยิ่งขึ้น อย่าบอกจำนวนสินค้าในสต็อกเกินจริง เพราะลูกค้าจะเสียความรู้สึกได้ถ้าสั่งซื้อแล้วแต่ร้านไม่มีสินค้าส่ง และนี่จะส่งผลให้ลูกค้าหันไปอุดหนุนร้านค้าอื่น

     ส่วนใครที่กำลังเจอกับปัญหาทุนจมเพราะสินค้าค้างสต็อก แนะนำให้จัดโปรโมชันที่กระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็ว เช่น ซื้อ 1 แถม 1 หรือลดพิเศษ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ตลอดทั้งใช้กลยุทธ์ Seasonal Marketing เพื่อระบายสินค้าออก ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารสต็อกสินค้าเป็นเรื่องง่ายขึ้น ผู้ประกอบการอาจใช้ระบบบริหารสต็อกสินค้าร่วมด้วย โดยปัจจุบันมีให้ใช้บริการหลายเจ้า เช่น Sellsuki ZORT และ StoreHub
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup