Digital Marketing

7 วิธีเริ่มต้นทำ Omni-Channel Marketing ให้เห็นผล







     หากจะเปรียบวิธีการทำการตลาดกับการว่ายน้ำแล้วนั้น การทำมาร์เก็ตติ้งที่นิยมกันมากในสมัยก่อนอย่าง Multichannel Marketing หรือ การทำการตลาดแบบหลายช่องทาง ไม่ว่าจะทำผ่านหน้าร้าน เว็บไซต์หรือโทรศัพท์มือถือ ก็เหมือนกับการแบ่งเลนในสระว่ายน้ำอย่างชัดเจนที่นักว่ายน้ำในแต่ละช่องต่างมีเป้าหมายไปแตะที่ขอบสระเหมือนกัน แม้ว่าทั้งหมดอาจจะได้รับการฝึกหรือทำงานด้วยกันเพื่อความสำเร็จของทีมในภาพรวม แต่พวกเขาก็ยังคงแข่งขันกันเองเพื่อทำอันดับและสถิติส่วนตัวให้ดี ไม่ต่างอะไรกับการทำการตลาดแบบนี้ที่การวางกลยุทธ์จะเน้นไปที่ผลสำเร็จของแต่ละช่องทางที่ใช้ในการทำการตลาดเป็นหลัก

     แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนและลูกค้ากลายมาเป็นหัวใจหลักของการนำเสนอสินค้าและบริการ แน่นอนว่าการจะทำมาร์เก็ตติ้งโดยที่ลูกค้าถูกยึดโยงอยู่ที่ช่องทางใดช่องทางหนึ่งเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด การตลาดแบบ Omni-Channel Marketing หรือ การทำการตลาดที่ผสานทุกช่องทางให้เป็นหนึ่งเดียวโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องของประสบการณ์ลูกค้าเป็นหลักจึงเข้ามาเป็นกลยุทธ์ที่เรียกได้ว่ามาแรงเป็นอย่างมากและหลายธุรกิจก็หันมาใช้แผนนี้ในการทำการตลาด

     ถ้าจะทำให้เห็นภาพมากขึ้น การตลาดแบบ Omni-Channel Marketing ก็คือการที่นักว่ายน้ำ (ช่องทางการตลาดแต่ละช่องทาง) อยู่ในการแข่งขันแบบว่ายผลัดและต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือไปให้ถึงสุดขอบสระนั่นเอง โดยการตลาดแบบนี้นั้นจะใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางของการวางกลยุทธ์ ซึ่งลูกค้าจะสามารถสื่อสารกับทางบริษัทหรือแบรนด์ได้ด้วยตัวเองทั้งผ่านทางเครื่องมือดิจิทัลและแบบออฟไลน์ถือเป็นการสร้างประสบการณ์โดยตรงระหว่างกัน

     และนี่คือ 7 วิธีเริ่มต้นง่ายๆ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะหันมาใช้การตลาดแบบผสานช่องทางแบบนี้ในการเจาะกลุ่มลูกค้า เพิ่มการเข้าถึงและสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
 
     1. ค้นหาช่องทางที่เวิร์ก
         อย่างแรกเลยที่ต้องทำก็คือการค้นหาว่าช่องทางไหนหรือช่องทางใดบ้างที่ลูกค้าใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับทางบริษัทหรือทางแบรนด์ โดยอาจทำการวิเคราะห์จากข้อมูลที่มีหรือทำแบบสำรวจสอบถามไปยังลูกค้าโดยตรงเพื่อให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน
 
     2. Update และ Active
         แน่นอนว่าข้อมูลทุกอย่างที่จะให้กับลูกค้าต้องเป็นปัจจุบัน ที่สำคัญต้อง Active บนทุกช่องทางเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างสูงสุด
 
     3. ลงทุนใน CRM
         วิธีนี้ก็คือการที่บริษัทหรือองค์กรทำการลงทุนในแพลตฟอร์มระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า หรือ Customer Relationship Management (CRM) ที่ใช้ระบบคลาวด์-เบส (Cloud-based) โดยเทคโนโลยีที่ทำงานบนคลาวด์นั้นหมายถึง ต้องสามารถทำการอัพเดตได้ทันทีและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างปลอดภัยทุกเวลาและจากทุกอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้
 
     4. เก็บข้อมูลลูกค้าทั้งหมดลงในแพลตฟอร์ม CRM
         อีกขั้นตอนที่สำคัญหลังจากที่มีข้อมูลลูกค้าอยู่ในมือแล้วก็คือ ต้องทำการเก็บข้อมูลเหล่านั้นทั้งหมดลงในแพลตฟอร์ม CRM และทำการอัพเดตให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
 
     5. ผสานการทำงานทุกช่องทาง
         เพื่อช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุดและสร้างประสบการณ์ได้ดีที่สุด ทางบริษัท องค์กรหรือแบรนด์ต้องอนุญาตให้ผู้บริโภคใช้ช่องทางที่เหมาะกับสถานการณ์เฉพาะของพวกเขามากที่สุด อีกทั้งพนักงานที่ได้รับการอนุมัติแล้วนั้นต้องสามารถดูเส้นทางการติดต่อและใช้บริการของผู้บริโภคทั้งหมดได้ทันทีในแบบเรียลไทม์
 
     6. ใช้การทำงานแบบอัตโนมัติ / Automation
         เพราะความเร็วในการแก้ปัญหาเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ดังนั้นการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยส่งคำตอบหรือความช่วยเหลือได้อย่างทันทีไปยังลูกค้าเป็นอีกเครื่องมือในการยกระดับการให้บริการได้เป็นอย่างดี
 
     7. วิเคราะห์การโต้ตอบ
         สุดท้ายทำการวิเคราะห์การโต้ตอบสื่อสารระหว่างลูกค้าและองค์กรอย่างเป็นระบบและใช้รายงานต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่อให้ทางบริษัทหรือองค์กรสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์และบริการที่เป็นส่วนตัวกับลูกค้าได้มากขึ้นตลอดทั้งความสัมพันธ์   


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup