Digital Marketing

อยากทำธุรกิจให้รอด ต้องลองส่องการทำธุรกิจสไตล์ญี่ปุ่น

Text : อริยะ จิรวรา
 

 

Main Idea
 
  • เพราะมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวอยู่หลายครั้ง โดยพาะประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้ อริยะ จิรวรา Co-founder ร้าน S.O.S มองเห็นมุมมองการทำธุรกิจที่น่าสนใจ
 
  • เขาจึงมาบอกเล่า แนวคิดการทำธุรกิจของญี่ปุ่นที่พบเจอ ก่อนที่จะย้อนกลับมาดูของไทย เพราะหากเปลี่ยนวิธีคิดนิดเดียวเชื่อว่าจะทำให้ SME ของไทยจะเติบโตไปได้อีกไกลมากๆ  
 
 

     สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจให้สำเร็จคือ แนวคิดในการทำธุรกิจ และวิธีการหนึ่งที่ผมชอบใช้ในการเปิดมุมมอง พัฒนาแนวคิดของตัวเองก็คือ การท่องเที่ยว ที่เราจะต้องเปิดตาให้กว้าง มองดูวิถีชีวิต ทัศนคติ และการทำงานของเขาเหล่านั้นว่าเป็นอย่างไร ก็ช่วยให้เราเปิดโลกทัศน์และมุมมองในการทำธุรกิจได้


     ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีโอกาสไปบ่อยครั้ง ด้วยเพราะคน วัฒนธรรม ธรรมชาติ ฯลฯ ที่ทำให้หลงใหลในประเทศนี้ เลยอยากจะแชร์สิ่งที่ได้เห็นในการทำธุรกิจของคนญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างกับการทำธุรกิจของคนไทยจากการสังเกต และมุมมองของตัวผมเอง


     ที่ประเทศญี่ปุ่นหากมีร้านราเมนดังขึ้นมาสักร้านหนึ่งจนคนต้องต่อแถวเพื่อรอรับประทานกัน นั่นแปลว่าบริเวณนั้นเกิด Demand การรับประทานอาหารที่มากกว่า Supply สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาคือ อีกไม่นานบริเวณนั้นจะมีร้านอาหารชนิดอื่น เช่น Tonkatsu, Udon, Izakaya, Yakitori, Tepanyaki และอื่นๆ อีกมากมายตามมา จนกลายเป็นแหล่งอาหารที่ใครๆ ก็ต้องมาแวะชิม แต่ถ้าเป็นบ้านเราหากมีร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชื่อดังขึ้นมาร้านหนึ่ง ภายใน 3 เดือน บริเวณนั้นจะกลายเป็นถนนแห่งก๋วยเตี๋ยวเรือไปในทันที  


     ประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้ไอเดีย OTOP โดยทุกเมืองจะมีของขึ้นชื่อ เช่นที่ Hokkaido จะโด่งดังเรื่องมันฝรั่ง นม หรือที่ Nagano จะขึ้นชื่อในเรื่องแอปเปิล ส่วนที่ Shizuoka ก็ต้องเป็นชาเขียว เป็นต้น แต่ละจังหวัดจะมีร้านที่ขายของแปรรูปจาก Raw Material เหล่านี้มากมาย โดยมีรัฐบาลช่วยโปรโมต ซึ่งเวลาไปเดินร้านของฝากในแต่ละที่ อย่างเช่น ที่ Hokkaido จะต้องตาลายไปกับขนมมันฝรั่งหลายสิบชนิด หรือหากไปที่ Nagano ก็จะมีผลิตภัณฑ์จากแอปเปิลหลากหลายชนิด ยิ่งไปกว่านั้น ขนมต่างๆ ของแต่ละจังหวัดก็ยังมีความแตกต่างกันไปในแต่ละร้าน แม้บางครั้งจะคล้ายกันแต่ก็จะมีจุดขายบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น บนถนนที่เดินเข้าวัดแห่งหนึ่งใน Nagano แม้จะมีร้านขายไอศกรีม Softserve เกือบ 10 ร้าน แต่ทุกร้านจะขายไม่เหมือนกัน บางร้านขายรสช็อกโกแลตผสมพริกท้องถิ่น บางร้านก็ทำรสผลไม้แปลกๆ บางร้านก็ทำรสนมธรรมดาแต่ใส่น้ำผึ้ง จะไม่มีซ้ำกันเลยแม้แต่ร้านเดียว





     แต่พอมองย้อนกลับมาดู OTOP เมืองไทย ทุกจังหวัดก็มี OTOP ของตัวเอง แต่ทุกร้านทุกจังหวัด ขายสินค้าเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นปลาหมึกแปรรูป ทุเรียนกวน ทุเรียนกรอบ จนหาความแตกต่างแทบไม่เจอ และกลายเป็นว่าหาซื้อที่ไหนก็ได้ง่ายๆ ขณะที่ญี่ปุ่นสินค้า OTOP เด่นๆ จะไม่ส่งมาขายในโตเกียว เพราะต้องการใช้สินค้าเหล่านั้นเป็นตัวดึงการท่องเที่ยวให้กับจังหวัด เพราะเมื่อมีคนมาเที่ยวที่จังหวัด จะเกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นด้วย ทั้งที่พัก ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ขนส่ง ฯลฯ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นมองไปไกล ไม่ได้มองแค่วันนี้จะขายของได้เท่าไหร่ แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนไม่เพียงตัวเอง แต่เป็นในระดับสังคมด้วย


     เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปช่วยทำการตลาดให้กับ SME หลายคน สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ SME ยังคิดอะไรแบบเดิมๆ อยู่ เห็นคนอื่นทำสิ่งนี้แล้วดีก็อยากทำบ้าง มองแค่การทำกำไรวันนี้โดยลืมมองระยะยาว ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดนิดเดียวเชื่อว่า SME ของไทยจะเติบโตไปได้อีกไกลมากๆ เพราะถ้าเราทำเหมือนคนอื่น เราจะไม่มีทางประสบความสำเร็จกว่าคนอื่นได้เลย
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup