Digital Marketing

เมื่อลูกค้าคือศูนย์กลาง จะทำตลาดด้วยแนวคิด 4Cs ได้อย่างไร

Text : ณัฏฐพัชร กมลพลพัตร Founder & CEO CEMSHALL
 
 

 

Main Idea
 
  • จากหลักการตลาดที่ธุรกิจนิยมอย่าง หลักการ 4Ps ซึ่งประกอบไปด้วย Product, Price, Place, Promotion แต่เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดหลักการใหม่ นั่นคือแนวคิด 4Cs
 
  • แนวคิด 4Cs ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยึดผู้บริโภคไว้ตรงกลาง จะแตกต่างหรือเหมือนกับ 4Ps อย่างไร มีคำตอบ
 


     
     ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแนวคิดทางการตลาดที่ทรงอิทธิพลที่สุดแนวคิดหนึ่งและถือเป็นหลักการตลาดที่ภาคธุรกิจนิยมใช้กันมากคือ หลักการ 4Ps ซึ่งประกอบไปด้วย Product, Price, Place, Promotion แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับข้อมูลข่าวสารในปริมาณมากขึ้น รวดเร็วขึ้นในยุคดิจิทัล ทำให้ผู้บริโภคมีการตัดสินใจที่รอบคอบและมีการเปรียบเทียบข้อมูลอย่างละเอียดก่อนทำการตัดสินใจ ด้วยเหตุนี้แนวคิด 4Ps จึงเริ่มมีข้อจำกัด


     แต่มีอีกแนวคิดหนึ่งที่เป็นแนวคิดที่สามารถนำมาประกอบควบคู่กันไปได้ นั่นคือแนวคิด 4Cs ซึ่งเป็นการยึด “ผู้บริโภค” ไว้ตรงกลางแล้วหาส่วนประกอบอื่นๆ มาประกอบเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบ 4Ps กับ 4Cs ได้จากองค์ประกอบเหล่านี้





     1. ผู้บริโภค หรือลูกค้า (Consumer)

         
เป็นการวางผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางและพยายามค้นหาความต้องการของผู้บริโภคว่าต้องการอะไร? รูปร่างแบบไหน? ลักษณะอย่างไร? ใช้งานอย่างไร? มีคุณค่าอย่างไร? ก่อนทำการผลิตซึ่งแตกต่างจาก P แรกของแนวคิด 4Ps นั่นคือ Product ที่เน้นการให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งเอกลักษณ์และความแตกต่างของสินค้าเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าเป็นหลัก





     2. ต้นทุน (Cost)  

         เป็นการยึดหลักการของความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายให้กับสินค้าของเราโดยคำนวณจากต้นทุนต่างๆ ของสินค้าคุณประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนที่ผู้บริโภคต้องจ่าย C ตัวนี้ทำให้เราต้องมั่นใจในสินค้าและบริการของเราก่อนว่าราคาที่ตั้งคุ้มแล้วที่ผู้บริโภคต้องจ่ายแตกต่างจาก Price ซึ่งตัว Price จะเป็นการกำหนดราคาขายสินค้าและบริการให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย





     3. ความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าและบริการ (Convenience)  

         ความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าและบริการเป็นการหาช่องทางที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าและบริการของเราได้ง่ายและสะดวกที่สุดโดยเอาความสะดวกของผู้บริโภคในการใช้งานและเข้าถึงได้ ซึ่งในปัจจุบันความสะดวกหมายถึง การซื้อของออนไลน์และสามารถชำระเงินได้ทันที ซึ่งแตกต่างจาก Place เนื่องจาก Place จะเป็นการหาสถานที่จัดจำหน่ายให้กับสินค้าและบริการของเราที่เป็นช่องทางที่เรามองว่าน่าจะทำให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าและบริการของเราได้มากขึ้น





     4. การติดต่อสื่อสาร (Communication)

         
การติดต่อสื่อสารและการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค เป็นการหาวิธีที่จะติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภคและสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้หรือพัฒนาสินค้าและบริการของเรา ซึ่งถือเป็นการสร้าง Loyalty ให้กับเราได้อีกทางหนึ่ง แตกต่างจาก Promotion ตรงที่ตัว Promotion นี้จะเน้นการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย การลด แลก แจก แถม ที่สร้างความต้องการให้กับสินค้าและบริการให้มากขึ้นเป็นช่วงๆ
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup