Digital Marketing

7 เทคนิค ถ่ายรูปอาหารให้ปังสะกดลูกค้าอยู่หมัด

Text : นนท์ธวัช ไชยวัง




Main Idea
 
  • แม้อาหารจะอร่อย แต่ใช่ว่าจะขายได้เสมอไปบนออนไลน์  มีหลายร้านทีเดียวที่ตกม้าตายเพียงเพราะภาพอาหารที่นำเสนอไม่สวย ไม่ดึงดูดให้ชวนรับประทาน
 
  • ดังนั้น SME Startup จึงขอแนะนำเทคนิคดีๆ ให้ถ่ายภาพอาหารออกมาสวยและขายบนออนไลน์ได้
 



     ท่ามกลางอาหารที่มีให้เลือกหลากหลายในช่วงที่ใครๆ ต่างก็หันมาขายอาหารเดลิเวอรี่กันมากมายเช่นนี้ จะทำอย่างไรให้อาหารของเราเตะตาและถูกเลือก?


     อย่างที่เราเห็นกันบางร้านแม้จะทำอาหารอร่อยจริง ใช้วัตถุดิบอย่างดี แต่กลับขายไม่ดี สู้คู่แข่งไม่ได้ก็มี ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ขายไม่ดีคือ ภาพอาหารที่ใช้ไม่สวย ไม่ดึงดูด ไม่ชวนน่ารับประทาน  ดังนั้นเรื่องการถ่ายภาพอาหารจึงมีความสำคัญมาก แต่ในยุคนี้หากลงทุนไปจ้างช่างภาพมืออาชีพมาช่วยถ่ายภาพให้ก็คงเป็นการเพิ่มต้นทุนไปอีก SME Startup เราจึงมีเทคนิคดีๆ 7 ข้อ มาแนะนำถึงการถ่ายภาพอาหารยังให้ขายบนออนไลน์ได้


     1. หากใช้แอปพลิเคชันช่วยในการถ่ายรูปอาหารไม่ควรใช้แอปพลิเคชัน หรือโหมดที่เว่อร์จนเกินไป เช่น สีสันจัดจ้านผิดจากความเป็นจริงมากเกินไป หรือค่อนไปทางสีใดสีหนึ่งจนเกินไปจะทำให้ลูกค้าออนไลน์มองว่ารูปผิดจากความเป็นจริงแน่ๆ สุดท้ายจะไม่ตัดสินใจซื้อสินค้าของเรา ดังนั้นควรเลือกโหมดการถ่ายภาพที่พอดีๆ จะช่วยให้เราขายอาหารบนออนไลน์ได้ง่ายขึ้น
 

     2. แสงต้องพอดี ดูสวยงาม สบายตา หากเป็นการใช้กล้องถ่ายภาพ หรือกล้องมือถือถ่ายแบบโหมดกล้องทั่วไป โดยใช้แสงธรรมชาติจะต้องไม่แสงโอเวอร์หรืออันเดอร์จนเกินไป คำแนะนำหากถ่ายในบ้าน หรือในห้อง ควรใช้ไฟสตูดิโอช่วย ไม่ควรใช้ไฟในห้อง หรือให้หากระดาษขาวมาเปิดเงาแสงสะท้อนด้านข้างจะทำให้ภาพสวยมากๆ ดูน่ารับประทานทำให้คนอยากซื้อ





     3. องค์ประกอบของภาพต้องดี ก่อนจะถ่ายต้องทำการบ้านด้วยการคิดว่าอาหารที่เราจะถ่ายคืออะไร องค์ประกอบภาพควรเป็นแบบไหน จะใช้อะไรมาเป็นพร็อพ เช่น บางภาพอาจมีมือคนโผล่มา มีช้อนมีซ้อมมาช่วยเสริม มีดอกไม้ ใบไม้มาตกแต่ง หากเป็นการถ่ายภาพเค้ก หรือเบเกอรี่ ก็อาจมีแก้วมาตกแต่ง หรือหาผ้ากระสอบมาปูพื้น องค์ประกอบภาพที่วางต้องเน้นให้ภาพดูดีมีมิติ ใส่ไอเดีย ใส่ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่เพื่อสวยงามดึงดูดสายตา


     4. ควรถ่ายด้วย Flat Lay สามารถถ่ายได้ทั้งมือถือ และกล้อง เป็นการถ่ายมาจากมุมบนสูง ซึ่งเป็นมุมยอดนิยมในการถ่ายอาหารขายบนออนไลน์เพราะจะทำให้เห็นองค์ประกอบของภาพครบถ้วน สวยงามดึงดูดความสนใจได้มากกว่าการถ่ายภาพแบบอื่นๆ  หรืออีกแบบหนึ่งคือหามุมในการถ่ายให้ภาพมันมีเรื่องราวที่น่าสนใจ สื่อออกมาเห็นเรื่องราวที่น่าสนใจ หรือถ่ายแบบมุม 30 องศาให้ภาพสวยงามน่าทานให้ลูกค้าเห็นแล้วร้องว้าวไปเลย หรือถ่ายแบบมุม Close-up แบบใกล้ชิด ถ่ายให้เห็นอาหารแบบใกล้ชิดก็น่าสนใจไปอีกแบบหนึ่ง


     5. ไม่ควรถ่ายอาหารที่ทำเสร็จมาใหม่ๆ แล้วนำมาวางเพื่อที่จะถ่ายภาพแล้วนำโพสต์ขายทันทีเพราะไม่สวยงาม การจัดองค์ประกอบต่างๆ ก็ยังไม่พร้อม แถมยังมีควันอาหารขึ้นมาอีกจะทำให้ภาพออกมาไม่สวย นอกจากนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ ทดลองใช้อุปกรณ์ที่จะใช้ถ่ายให้เกิดความชำนาญก่อนจะถ่ายจริงเพราะจะทำให้ภาพของเราออกมามีประสิทธิภาพ ใช้ขาตั้งกล้องช่วยเพื่อไม่ให้สั่นไหว ควรกลั้นหายใจทุกครั้งตอนกดชัตเตอร์





     6. ฉากหลังก็สำคัญ ต้องสะอาดหูสะอาดตา ไม่ขัดกับสีของอาหาร หรือไปด้วยกันไม่ได้ ควรเน้นแบบเรียบง่ายดูดี เช่น พื้นไม้ หรือฉากสำเร็จรูปก็มีขายในออนไลน์ลองเข้าไปเลือกดู และยังมีอีกหนึ่งเคล็ดลับ คือ การถ่ายอาหารสีเข้ม ควรคู่กับพื้นหลังสีเข้ม อาหารสีอ่อนๆ ควรคู่กับ พื้นหลังสีอ่อน


     7. ภาชนะและการจัดจานก็สำคัญไม่น้อย เพราะถ้าภาชนะไม่เข้ากับอาหารที่จะถ่ายก็จะดูขัดกันไปหมด อาหารบางอย่างถ่ายกับภาชนะที่มีลวดลายได้ บางอย่างใช้กับภาชนะเรียบๆ จะดูดี ดูสวย ดูแพงกว่า เรื่องของสีแต่ละสีก็จะก่อให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป ฉะนั้นจะต้องเข้าใจวิธีการใช้สีของรูปอาหารเพื่อสื่อสารถึงเรื่องราวของแต่ละเมนูให้ลูกค้าที่เห็นรูปอาหารรู้สึกอยากกิน และมาที่ร้านทันที และมีข้อแนะนำอีกประการหนึ่งคือรูปอาหารแนวสดใสโปร่งสบายกับแนวเข้มโทนอุ่น สีแนวคอนทราสต์ก็ทำให้อาหารดูน่าทานเหมือนกัน
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup