Digital Marketing

​5 พื้นฐานด้านการตลาด ที่ต้อง Get ก่อน Start

Text : เจษฎา ปุรินทวรกุล   




Main Idea

 
  • รู้หรือไม่ว่า กฎพื้นฐานการทำการตลาดออฟไลน์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการตลาดออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียได้
 
  • ดังนั้นแล้ว ประกอบการที่จะใช้กลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ลองทำตามกฎพื้นฐาน 5 ข้อเหล่านี้ดู
 
 
            
     จริงๆ แล้วการตลาด มีกฎพื้นฐานที่สำคัญอยู่ไม่กี่ข้อ ซึ่งกฎพื้นฐานเหล่านั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการตลาดออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้กลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กที่ต้องจ่ายเงินยิงโฆษณาเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงคอนเทนต์จำนวนเยอะๆ ก็ต้องบอกว่าพื้นฐาน 5 ข้อนี้ จะช่วยให้การตลาดประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว เริ่มจาก


     1. การมีข้อเสนอที่ไม่สามารถปฏิเสธได้

         เรามักจะได้ยินกันมาตลอดว่า “Content is King” ซึ่งต้องบอกว่าไม่เสมอไปในทุกกรณี เพราะต่อให้ Content ดีแค่ไหน แต่ถ้าขายไม่ได้ ไม่มีรายรับ ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง ธุรกิจที่วาดฝันเอาไว้ก็จบลงทันที ดังนั้น ในบางจังหวะเราต้องยอมรับว่า “Sale is King”

        การตลาดผ่านโซเชียลมีเดียจึงจำเป็นต้องมีเรื่องการให้ข้อเสนอที่ดี ผสมผสานกับเทคนิคที่จะบอกกลุ่มเป้าหมายว่าทำไมผลิตภัณฑ์ / บริการของเราถึงสำคัญ และน่าซื้อมากที่สุดในเวลานี้ หากเรามีข้อเสนอที่ลูกค้าไม่สามารถปฏิเสธได้ ลูกค้าย่อมไม่หลุดมือเราไปอย่างแน่นอน


     2. สร้างเหตุผลให้ตอบกลับ (หรือซื้อ) ทันที

        รู้หรือไม่ว่าความล้มเหลวของการตลาดออนไลน์ เช่น การโฆษณาผ่าน Facebook แล้วไม่มีกลุ่มเป้าหมายติดต่อกลับมา ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ก่อให้เกิดการรับรู้ใดๆ ไม่ใช่การลงทุนด้านการตลาด แต่เป็นต้นทุนแฝงที่ทำให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้

         บางครั้งกลุ่มเป้าหมายเห็นคอนเทนต์ของเรา แต่ยังไม่ตอบในทันที เกือบตอบ หรือติดต่อมาแล้วแต่ยังไม่ซื้อยังไม่ชำระเงิน จนเวลาผ่านไปก็คิดได้ว่ายังไม่ซื้อดีกว่า ทั้งหมดคือความผิดพลาดทางการตลาด ซึ่งในแง่ของการทำธุรกิจแล้วกรณีเหล่านี้ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นมากจนเกินไป เราจึงต้องพยายามสร้างเหตุผลที่ดี เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายหยุดลังเล และตัดสินใจซื้อในทันที ยกตัวอย่างเช่น กลยุทธ์ One Day Deal ที่ยังคงใช้ได้ผลดีมากๆ ในปัจจุบัน


     3. มีความชัดเจน

         คนส่วนใหญ่จะทำงานได้ดีถ้ามีกรอบการทำงานที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง พนักงานขับรถก็รู้ว่าเมื่อพบไฟแดงต้องหยุด และไปต่อได้เมื่อไฟเขียวขึ้นอีกครั้ง ย้อนกลับมาที่เรื่องของการตลาด ความล้มเหลวกับความผิดหวังของการทำตลาดมาจากความไม่ชัดเจน เช่น ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ใช้ทำอะไร ดีอย่างไร แตกต่างจากแบรนด์อื่นอย่างไร ซึ่งถ้ามีคำถามของความไม่ชัดเจนขึ้น กลุ่มเป้าหมายจะพยายามหาคำตอบกับผู้ซื้อ หรือจากไปโดยไม่ถามอะไรเลย ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ / บริการให้ดี สร้างความชัดเจนในทุกๆ ด้าน เพื่อให้พร้อมกับการตอบคำถามลูกค้า


     4. การติดตามและประเมินผล

        การตลาดออนไลน์จะไม่ต่างจากการเทเงินลงทะเลเลย หากเราไม่สามารถวัดและประเมินความสำเร็จเพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงการตลาดในครั้งต่อๆ ไปได้ ยกตัวอย่างเช่น จำนวนยอด Like ยอด Share จำนวนคอมเมนต์ หรือ Engagement ทั้งหมด หรือจะเป็นการวิเคราะห์สถิติในเชิงลึก เช่น ระยะเวลาการเข้าชมของกลุ่มเป้าหมายแต่ละคนนานกี่นาที เป็นต้น


     5. ต้องเก็บข้อมูลลูกค้า

         ลองนึกภาพตามช้าๆ นะ สมมติว่ากลุ่มเป้าหมายเห็นโฆษณาของเราไม่ว่าจะออนไลน์ออฟไลน์ โทรมาสอบถามข้อมูล มาเยี่ยมชมหน้าร้าน มาสอบถามข้อมูลกับพนักงาน แต่ แต่ แต่ เรากลับไม่รู้ว่าลูกค้าเป็นใคร ไม่มีที่อยู่ ไม่สามารถส่งอีเมลไปมอบสิทธิพิเศษ คูปอง หรือส่วนลดให้ได้เลย คำถามก็คือ เราเสียโอกาสในการติดตามด้านการขายไปมากขนาดไหน

         ถ้าแคมเปญโฆษณาของเรา หรืองบประมาณโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กครั้งนึง อยู่ที่ 10,000 บาท และมีการตอบกลับมาหาเรา 100 ครั้ง นั่นหมายความว่า การ Contact กลับมามีต้นทุนสูงถึงครั้งละ 100 บาท และถ้าหากเราสามารถปิดการขายได้แค่ครึ่งเดียว หรือ 50 ครั้ง โดยที่ไม่สามารถเก็บข้อมูลลูกค้าไว้ Follow Up ต่อได้ในอนาคต นั่นหมายความว่าเรากำลังโยนเงินทิ้งไปทุกครั้งๆ กลับกัน ถ้าเราขายไม่ได้ แต่เราเก็บข้อมูลลูกค้าไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ติดต่อในอนาคต โอกาสขายย่อมสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นการลงทุนด้านการตลาดแบบไม่เสียเปล่า
 
         การตลาดเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ สร้างเป็นประสบการณ์ เพื่อให้เรามีพื้นฐานที่ดี สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต



 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup