Digital Marketing

แคปชั่นแบบไหนที่ว่าเด็ด ช่วยแม่ค้าออนไลน์ขายของได้

Text : นนท์ธวัช ไชยวัง




Main Idea
 
  • นอกจากภาพตัวสินค้าคุณภาพดี และภาพสวยๆ ที่เราต้องนำเสนอเพื่อขายสินค้าบนโซเชียลมีเดียแล้ว  แคปชั่นต้องดีดึงดูดความสนใจได้ด้วย เช่น ไม่ยาวมาก เข้าใจง่าย บอกเรื่องราวสินค้าเราได้ชัดเจน
 
  • มีเทคนิคดีๆ เหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังว่าเขียนแคปชั่นอย่างไรให้ขายของออนไลน์ปัง-ดึงดูดลูกค้า




     การขายของออนไลน์บางทีก็มีเรื่องละเอียดอ่อนที่ Startup จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อทำให้ขายของได้เร็วขึ้น หรือทำให้สินค้าเราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง นอกจากภาพตัวสินค้า และภาพสวยๆที่เราต้องนำเสนอเพื่อขายสินค้าบนโซเชียลมีเดียแล้ว  แคปชั่นต้องดีดึงดูดความสนใจได้ด้วย โดยจะต้อง ไม่ยาวมาก เข้าใจง่าย บอกเรื่องราวสินค้าเราได้ชัดเจน เพื่อเป็นตัวเร่งการตัดสินใจซื้อแบบไม่ฮาร์ดเซลล์มากจนเกินไป หรือแบบเห็นแล้วรู้สึกรำคาญ ไม่เพียงเท่านี้ตัวย่อต่างๆ บนโลกออนไลน์ หรือที่วงการขายของออนไลน์เขาใช้กัน ก็ควรที่จะศึกษาไว้ จะได้คุยกับลูกค้ารู้เรื่อง วันนี้มีเทคนิคดีๆ เหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังว่าเขียนแคปชั่นอย่างไรให้ขายของออนไลน์ปัง-ดึงดูดลูกค้า หรือตัวย่อแบบนี้ควรเข้าใจแบบนี้จะได้ตรงกัน


     1. ไม่ควรเวิ่นเว้อชักแม่น้ำทั้งห้า-ควรบอกคุณสมบัติสินค้าให้ได้-ใส่อิโมจิกั้นย่อหน้า

         สิ่งแรกที่สำคัญมากๆ ในการเขียนแคปชั่นเพื่อโพสต์ขายของออนไลน์บนเพจ คือการที่ไม่เกริ่นนำแบบเวิ่นเว้อจนเกินไป เขียนแบบยาวๆ แบบชักแม่น้ำทั้งห้ากว่าจะเข้าเรื่องก็ทำให้คนอ่านเวียนหัวไปตามๆ กัน ควรเขียนให้กระชับบอกเล่าเรื่องราว หากข้อความยาวไปก็สามารถแบ่งเป็นย่อหน้า แบบสามถึงสี่บรรทัดก็ย่อหน้าทีหนึ่ง ให้ใส่อิโมจิกั้นแต่ละย่อหน้าจะทำให้อ่านง่าย ดูสะอาดตา


     2. บอกจุดเด่น คุณสมบัติสินค้า –การพาดหัวก่อนเข้าเรื่องดึงความสนใจ

         จากนั้นจะต้องรีบบอกถึงคุณสมบัติ จุดเด่น ความแตกต่าง สินค้า บริการของเราว่าสามารถแก้ไขปัญหาให้คุณลูกค้าได้อย่างไร หรือกล่าวนำมาด้วยปัญหา แล้วตามด้วยว่าหากใช้สินค้าเราจะช่วยได้อะไรได้บ้าง สร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่าสินค้าเราช่วยคุณได้แน่นอน


     3. ตัวย่อทั้งไทย –อังกฤษ ศัพท์เฉพาะที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องรู้

         แน่นอนว่าทุกวงการจะมีการใช้ตัวย่อ ศัพท์เฉพาะต่างๆ ที่จะรู้กันในเฉพาะวงการ ซึ่งในวงการขายของออนไลน์ก็มีสิ่งเหล่านั้นเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น คำว่า CF ย่อมาจาก Confirm ซึ่งการคอนเฟิร์มสินค้าในที่นี้หมายถึง ขอจองไว้ ตกลงซื้อ จากนั้นก็จะไปสู่กระบวนการจัดส่งแล้วชำระเงิน หรือคำว่า CC หมายความว่า Cancel  การขอยกเลิกการจองสินค้า ลูกค้าจะใช้เมื่อต้องการยกเลิกสินค้าที่จองไว้

         ต่อมาคำว่า CF no CC เป็นคำย่อมาจาก Confirm No Cancel  คือ การแจ้งลูกค้าก่อน CF สินค้าแล้วห้ามยกเลิกเด็ดขาด เป็นการสร้างเป็นเงื่อนไขในการขายสินค้า เพื่อช่วยป้องการเสียโอกาสในการขาย คำต่อมา คือคำว่า DM ย่อมาจาก Direct Message  คือ การแจ้งให้ลูกค้าติดต่อเข้ามาทางข้อความส่วนตัวของเรา อีกคำคือ COD ย่อมาจาก Cash on Delivery คือ การจัดส่งเป็นพัสดุแบบเก็บเงินปลายทาง ลูกค้าไม่ต้องโอนเงินค่าสินค้าให้ก่อน เมื่อพัสดุถึงปลายทางแล้วลูกค้าค่อยชำระเงินกับพนักงาน จากนั้นขนส่งจะโอนเงินเข้าบัญชีเราอัตโนมัติ

         ทั้งนี้ยังมีอีกหลายคำ เช่น IB ย่อมาจาก Inbox คือ การส่งข้อความส่วนตัวเข้ามาถามในเพจ หรือในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อเราไม่ต้องการให้ข้อมูลในหน้าเพจของเรา รักษาความเป็นส่วนตัวในการให้ข้อมูลระหว่างลูกค้ากับร้านค้า  ส่วนคำย่อไทยๆ ก็จะได้แก่ ลค. คือ ลูกค้า ซึ่งเราสามารถใช้เพื่อเรียกแทนลูกค้าได้ใช้เพื่อความรวดเร็วในการพิมพ์สนทนา ส่วนคำว่า บช. คือ เลขบัญชี กรณีนี้ลูกค้าจะใช้เมื่อต้องการโอนเงิน หากลูกค้าขอลบช. ต้องรีบพิมพ์เลขบัญชีส่งให้ลูกค้าทันที ต่อด้วยคำว่า พพ. คือ พร้อมเพย์ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะถามว่าโอนแบบ พพ.ได้ไหม ผู้ประกอบการต้องเข้าใจว่า คือ พร้อมเพย์  ในส่วนของการจัดส่งก็จะมีคำว่า รส. และมรส. หมายความว่ารวมส่ง และไม่รวมส่ง จะใช้เมื่อบอกราค้าสินไปว่าอันนี้รวม หรือไม่รวมค่าจัดส่งแล้ว อีกคำหนึ่งคือ คำว่า ลทบ. คือ ลงทะเบียน คือ การส่งพัสดุแบบลงทะเบียนให้ลูกค้า
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup