Digital Marketing

​Startup ต้องรู้จัก! B2B2C โมเดลรายได้ที่มั่นคงของ Startup




Main Idea
 
  • แม้ว่าจุดเด่นของ Startup คือการทำงานที่คล่องตัวรวดเร็ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหามาโดยตลอดของ Startup คือการเข้าถึงตลาดเนื่องจากแหล่งเงินทุนที่จำกัด
 
  • ลองมาดูวิธีการทำธุรกิจแบบใหม่นั่นคือ B2B2C หรือการที่ Startup ต้องทำงานร่วมกับองค์กรที่มีขนาดใหญ่กว่าก่อนจากนั้นจึงสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ เพื่อรายได้ที่มั่นคงของ Startup นั่นเอง
 
 

     เราอาจเคยได้ยินวิธีการแบ่งประเภทของการทำธุรกิจที่เป็นรูปแบบการรับรายได้จากลูกค้าโดยตรงหรือ B2C (Business to Customer) เช่นการวางสินค้าขายปลีกหน้าร้าน หรือการรับรายได้จากนิติบุคลด้วยหรือ B2B (Business to Business) เช่นการรับเหมาจ้างทำงาน แต่สำหรับ Startup แล้วยังมีโมเดลการทำธุรกิจอีกแบบนั่นคือ B2B2C หรือการทำงานร่วมกับ Corporate ชั้นแรกก่อนแล้วจึงรับรายได้จากลูกค้าทั่วไป
 
     จุดเด่นของ Startup ก็คือการทำงานที่คล่องตัวรวดเร็วและชูจุดแข็งของผู้ก่อตั้งในฐานะการเป็นผู้ชำนาญในเทคโนโลยีหรือมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมหนึ่งมายาวนาน 
 
     แต่สิ่งที่เป็นปัญหามาโดยตลอดของ Startup ก็คือการเข้าถึงตลาดเนื่องจากแหล่งเงินทุนที่จำกัดในการใช้เป็นงบด้านการตลาดตลอดจนการเป็นที่ยอมรับของลูกค้าจากการเป็นองค์กรขนาดเล็กตลอดจนปัญหาในทางด้านกฎหมายและการกำกับดูแลจากภาครัฐโดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องอาศัยใบอนุญาตต่างๆ เช่นการเงินการลงทุน ที่บางครั้ง Startup ไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้เนื่องจากใบอนุญาตต่างๆ มีต้นทุนที่สูง
 
     ทำให้เกิดวิธีการทำธุรกิจแบบใหม่นั่นคือ B2B2C หรือการที่ Startup ต้องทำงานร่วมกับองค์กรที่มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่หากตกลงเจรจากันดีๆ  จะสามารถสร้างประโยชน์ให้ทั้ง Corporate และ Startup เอง 
 
Corporate เองไม่จำเป็นต้องลงทุนในการสร้างโปรดักต์ที่ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวสูงด้วยตัวเองปล่อยเป็นหน้าที่ของ Startup ในการพัฒนา ส่วน Startup เองก็ไม่ต้องลงทุนและเสียเวลาไปกับการขอใบอนุญาตต่างๆ โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Corporate เป็นผู้จัดการ

     ตัวอย่างเช่น ธุรกิจประกันภัย หากต้องการที่จะขายโปรดักต์จำเป็นที่จะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หรือธุรกิจแนะนำการลงทุนที่จำเป็นต้องได้ใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต). Startup ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐดังกล่าวสามารถขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับใบอนุญาตแล้วในการเข้าไปพัฒนาโปรดักต์ร่วมกัน เช่นเข้าไปพัฒนาระบบเอไอที่ช่วยในการแนะนำโปรดักต์ประกันภัยและการลงทุนที่เหมาะสมให้กับลูกค้า โดยอาศัยแพลตฟอร์มของ Corporate ในการรับลูกค้าซึ่งมี Startup อยู่เบื้องหลัง

     แม้รูปแบบการทำธุรกิจแบบ B2B2C อาจทำให้ Startup ไม่สามารถรับรู้รายได้ทั้งหมด 100% ด้วยตัวเองเพราะอาจจะต้องแบ่งกำไรหรือยอดขายบางส่วนให้กับ Corporate ที่ทำงานด้วยกัน ตลอดจนอาจไม่มีสิทธิที่จะใช้โลโก้หรือแบรนด์ของตัวเองในการทำตลาดเลยเนื่องจากไม่มีใบอนุญาตทางตรงในการทำธุรกิจดังกล่าว
 
     แต่หากพิจารณาในมุมที่ว่าหากไม่มี Corporate มาช่วยสนับสนุน สินค้าและบริการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลานานหรือไม่มีโอกาสที่จะออกสู่ตลาดเลยก็เป็นได้ และยังเป็นรายได้ที่มีความมั่นคงจากการพึ่งพาอาศัยฐานลูกค้าตลอดจนความมั่นคงทางธุรกิจของ Corporate 
 
     ในยุคที่ Startup หน้าใหม่มีโอกาสที่จะแจ้งเกิดได้น้อยลงและ Corporate ต่างๆ มีนโยบายเปิดกว้างในการทำงานกับ Startup มากขึ้น โมเดลธุรกิจแบบ B2B2C จึงเป็นทางเลือกที่ดีของ Startup ในการมุ่งเน้นทำสิ่งที่ตนเองถนัดเท่านั้นเพื่อสนับสนุนธุรกิจให้กับ Corporate 
 
     ถือเป็นดีลที่วินวินด้วยกันทั้งคู่อย่างแท้จริง
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup